กสอ.จับมือสถาบันฯสิ่งทอชูฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เตรียมความพร้อมดันผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย (Thailand Textiles Tag) ออกสู่ตลาด สร้างความเชื่อมั่นและปลอดภัยต่อผู้บริโภคในยุค New Normal เร่งฟื้นฟูสิ่งทอไทย หลังโควิด-19 คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท

นางเดือนเพ็ญ อาจยุทธิ์ นักวิชาการอุตสาหกรรมชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เปิดเผยว่ากองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม (Thailand Textiles Tag) ประจำปีงบประมาณ 2563โดยมี สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นที่ปรึกษา เพื่อจัดทำฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย หรือ Thailand Textiles Tagโดยเป็นเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand) และพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ สิ่งทอไทย ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อาทิ ผู้ผลิต เส้นด้าย ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป เคหะสิ่งทอและสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีสิ่งทอเป็นองค์ประกอบให้มีคุณภาพโดยผ่านการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล เพื่อสนับสนุนการบริโภคสินค้าสิ่งทอ สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคในประเทศและส่งเสริมการตลาดต่างประเทศ

สำหรับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ถือว่าเป็นวิกฤติที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้เกิดระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ในอุตสาหกรรมสิ่งทอชะงัก ในขณะที่ความต้องการผลิตภัณฑ์สิ่งทอในกลุ่มดูแล ปกป้อง และรักษาสุขภาพ อาทิ สิ่งทอทางการแพทย์ หรือ สิ่งทอที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เช่น หน้ากากผ้า ในประเทศขาดตลาดรวมทั้งผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ผู้ประกอบการสิ่งทอไทยจึงต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้ได้ศักยภาพเพื่อตอบโจทย์การซื้อขายวัตถุดิบในประเทศลดการนำเข้าพร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค โดยมีฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย เป็นเครื่องหมายรับรองศักยภาพ และเป็นตัวช่วยผลักดันสร้างมูลค่าเพิ่มหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว

นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอกล่าวว่า ตราสัญลักษณ์ Thailand Textiles Tag มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพของเนื้อผ้า ความคงทนของสี และความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ใช้และกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ถือเป็นจุดเด่นของการรับรองเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag  ซึ่งในการพิจารณาแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ยึดตามหลักสากล ได้แก่

เส้นด้ายที่ผลิตในประเทศไทย (Yarn Forward) หมายถึง กรณี ผู้ประกอบการซื้อเส้นใยแล้วนำมาผ่านกระบวนการปั่นเป็นเส้นด้ายในประเทศไทย

ผ้าผืนที่ผลิตในประเทศไทย (Fabric Forward) หมายถึง กรณี ผู้ประกอบการซื้อเส้นด้ายแล้วนำมาผ่านกระบวนการทอ หรือ ถัก เป็นผ้าผืนในประเทศไทยรวมถึงผ่านกระบวนการฟอก ย้อม พิมพ์ และตกแต่งสำเร็จในประเทศไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมดังกล่าวตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการ ไม่น้อยกว่า 50 ราย เพื่อขอรับฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย หรือ Thailand Textiles Tag และภายหลังจากที่ผลิตภัณฑ์ได้รับฉลากฯ จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่าย รณรงค์สร้างการรับรู้และเข้าใจ กระตุ้นให้คนไทยหันมาใช้สินค้าไทยตามนโยบายของภาครัฐ รวมทั้งการเตรียมวางแนวทางพัฒนาระบบ (Platform) และจัดทำ QR Codeที่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มา โรงงานผู้ผลิต เพื่อป้องกันการปลอมแปลงฉลากในอนาคต โดยฉลาก Thailand Textiles Tag ถือเป็นฉลากที่ตอบโจทย์และสร้างความเชื่อมั่นทั้งในมิติของภาคประชาชน คือ New Normal lifestyle ที่ต้องการใช้สินค้าคุณภาพมากขึ้นหลังโควิด และ New S-curve มิติของภาคอุตสาหกรรม เชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานในประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าและการส่งออก โดยคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท