“นักวิทยาศาสตร์จีน” เปิดผลวิจัย AI อาจตรวจจับโรคหัวใจได้จาก “รูปเซลฟี”

(Photo by Alessandro Di Ciommo/NurPhoto via Getty Images)
ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนจีนร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถตรวจจับโรคหลอดเลือดหัวใจผ่านภาพใบหน้า

หลายปีมานี้ จีนได้ขับเคลื่อนการใช้ AI ในการปฏิบัติงานทางคลินิกประจำวัน เช่น การตีความภาพทางการแพทย์ การวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการติดตามสัญญาณชีพ

โดยการศึกษาล่าสุด นักวิจัยชาวจีนได้สำรวจความเป็นไปได้และความสะดวกในการใช้ AI เพื่อคัดกรองโรคหลอดเลือดหัวใจตีบผ่านภาพใบหน้า

ลักษณะต่างๆ ของช่วงใบหน้าถูกพบว่าเป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจมานานแล้ว เช่น ศีรษะล้านแบบผู้ชาย รอยย่นที่ติ่งหู ซานธีลาสม่า (Xanthelasmata – ไขมันสะสมเป็นก้อนนูนสีเหลืองที่เปลือกตา) และผิวหนังที่เหี่ยวย่น เหล่านี้เป็นลักษณะที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด

คณะนักวิจัยจากศูนย์โรคหัวใจ และหลอดเลือดแห่งชาติของจีน และมหาวิทยาลัยชิงหวาได้ลงทะเบียนผู้ป่วยชาวจีน 5,796 คนเป็นครั้งแรก ผู้เข้าร่วมได้รับการทดสอบการถ่ายภาพหัวใจ การถ่ายภาพใบหน้าและการตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับสถานะทางสังคม-เศรษฐกิจ วิถีชีวิต และประวัติทางการแพทย์

จากนั้นก็ได้มีการพัฒนาและฝึกฝนอัลกอริทึมของ AI ตามข้อมูลที่ได้จากผู้ป่วย และนำอัลกอริทึมดังกล่าวไปทดสอบกับภาพใบหน้าของผู้ป่วยรายอื่น 1,013 รายในโรงพยาบาลจีน 9 แห่ง

(Photo by Omar Vega/Getty Images)

ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารยูโรเปียน ฮาร์ต เจอร์นัล ระบุว่า อัลกอริทึมดังกล่าวมีความไวถึง 80% และความจำเพาะ 54% ซึ่งทำงานได้ดีกว่าแบบจำลองทำนายโรคหลอดเลือดหัวใจแบบดั้งเดิม

ความไวในที่นี้หมายถึงความสามารถของอัลกอริทึมในการระบุตัวผู้ป่วยโรคดังกล่าวว่าให้เป็นบวก ส่วนความจำเพาะคือความสามารถของการทดสอบในการระบุตัวผู้ป่วยที่ไม่มีโรคให้เป็นลบ

คณะนักวิจัยกล่าวว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้อัลกอริทึมนี้ได้จริง เนื่องจากยังมีความกังวลเรื่องความจำเพาะที่มีระดับต่ำในปัจจุบัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ผิดพลาดและสร้างความฉงนแก่ทั้งผู้ป่วยและแพทย์

โดยรวมแล้วผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าอัลกอริทึมการเรียนรู้เชิงลึกที่ใช้ภาพใบหน้าเป็นพื้นฐาน สามารถช่วยระบุตัวผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่ามันจะสามารถใช้ในการตรวจคัดกรองโรคก่อนการทดสอบจริงในชุมชนต่างๆ ได้

ในบทบรรณาธิการที่ตีพิมพ์ในวารสารฉบับเดียวกันนี้ คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดระบุว่า “การใช้เซลฟี่เป็นวิธีคัดกรองที่ทั้งง่ายและมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยให้สามารถคัดกรองประชากรทั่วไปในเบื้องต้น ก่อนเข้าสู่การประเมินทางคลินิกที่มีความครอบคลุมมากขึ้น” และ “วิธีวินิจฉัยที่แปลกใหม่และนอกกรอบอันเปี่ยมไปด้วยศักยภาพนั้นรอเราอยู่เบื้องหน้า”

Source