“Workation” เที่ยวไปทำงานไป กลยุทธ์ใหม่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นหวังช่วยกระตุ้นภาคท่องเที่ยว

(Photo : Shutterstock)
รัฐบาลญี่ปุ่นมีโจทย์ใหญ่ไม่แพ้ไทยในการกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว แต่เมื่อคนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมรักงานสูง ทำให้รัฐพยายามกระตุ้นเทรนด์ “Workation” ให้พนักงานทำงานไปด้วยระหว่างท่องเที่ยว เพื่อยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว พนักงานยังได้ทำงานอยู่ ขณะที่โรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวมีรายได้พยุงตัว

ก่อนหน้านี้รัฐบาลญี่ปุ่นมีแพ็กเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวในชื่อ “Go To Travel” ให้เงินอุดหนุนประชาชนสำหรับออกทริปท่องเที่ยวสูงสุด 20,000 เยนต่อคนต่อคืน โดยรัฐประกาศว่าผ่าน 3 สัปดาห์แรกที่ออกแพ็กเกจ มีประชาชน 4.2 ล้านคนแล้วที่ใช้แพ็กเกจนี้ ทั้งนี้ ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมเป็นช่วงพีคของคนญี่ปุ่นในการไปเที่ยวอยู่แล้วเพราะเป็นเทศกาลวันหยุดฤดูร้อน

แพ็กเกจ Go To Travel คาดว่าจะยิงยาวให้ใช้ไปถึงฤดูใบไม้ผลิปี 2564 เลยทีเดียว แต่ใช่ว่าทุกคนจะลางานไปเที่ยวได้บ่อยๆ ทั้งยังมีเรื่องวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นที่มักจะลางานน้อย ทำให้รัฐพยายามขอความร่วมมือบริษัทเอกชนให้พนักงานได้ “Workation” แทน

วิถีการ “Workation” ก็คือการนำงานไปทำระหว่างท่องเที่ยว อาจจะแบ่งเวลาทำงานสัก 4 ชั่วโมงต่อวัน เวลาที่เหลือออกไปท่องเที่ยวใช้จ่ายในพื้นที่ ทำให้พนักงานได้พักผ่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็รู้สึกผิดน้อยลงที่ออกมาอยู่นอกออฟฟิศ เพราะยังรับผิดชอบงานของตัวเองอยู่

บ่อน้ำพุร้อนในฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น รีสอร์ตสไตล์ออนเซ็นแบบนี้กำลังเป็นเป้าหมายช่วยอุดหนุนด้านเทคโนโลยีของรัฐ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบ Workation (Photo : Pixabay)

กลุ่มเป้าหมายหลักกลุ่มหนึ่งที่รัฐมุ่งเน้นคือ “รีสอร์ตบ่อน้ำพุร้อน” หรือ “ออนเซ็น” นั่นเอง โดยรัฐมีแพ็กเกจช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มออนเซ็นให้นำไปติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ จากปกติโรงแรมประเภทนี้มักจะรักษาความเก่าแก่โบราณไว้ ทำให้ไม่มีเทคโนโลยีรองรับมากนัก แนวความคิดการเปลี่ยนออนเซ็นให้ทันสมัยขึ้นเพื่อให้เมืองออนเซ็นเป็นออฟฟิศย่อยแก่พนักงานตลอดปีนี้ ช่วยรักษาเศรษฐกิจเมืองท่องเที่ยวไม่ให้ย่ำแย่ลง

 

เอกชนต้องร่วมมืออนุญาตให้พนักงานไปเที่ยว

องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ที่ยังไม่มีแผน Workation ให้พนักงาน เริ่มมีการติดต่อกับบริษัทเอเย่นต์ท่องเที่ยวรายใหญ่ เช่น JTB Corp ให้เข้ามาจัดโครงการนี้ให้กับพนักงาน โดยทาง JTB Corp ได้จัดแผนกเฉพาะสำหรับดูแลโครงการ Workation มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม

“เราจัดตั้งแผนกบริการโซลูชันทรัพยากรบุคคลขึ้นมา เพื่อทำงานร่วมกับบริษัทต่างๆ ในการจัดแผน Workation ให้พนักงานของพวกเขา ส่วนใหญ่แล้วจะเลือกโรงแรมสไตล์รีสอร์ตทั่วประเทศเป็นแหล่งทำงาน” คาโอริ โมริ โฆษกของบริษัท JTB Corp กล่าว

“โอกินาว่ากำลังเป็นที่นิยม แต่โรงแรมในเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน” โมริกล่าว “นั่นหมายรวมถึงเมืองที่ปกติไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยววันหยุดที่นิยมนัก เช่น วาคายาม่า หรือ คางาวะ”

โอกินาว่า แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวญี่ปุ่น (Photo : Pixabay)

แผนที่บริษัทมักจะให้กับพนักงานคือ ขยายวันหยุดสุดสัปดาห์ออกไปให้อีก 5-6 วัน ทำให้พนักงานสามารถไปเที่ยวยาวทั้งสัปดาห์ได้ แต่ต้องนำงานไปทำด้วยระหว่างทาง

นอกจากนี้ JTB ยังร่วมมือกับบริษัท NEC Corporation บริษัทด้านเทคโนโลยี เพื่อจัดแพ็กเกจระบบทำงานทางไกลในห้องโรงแรม เปลี่ยนโรงแรมให้กลายเป็นออฟฟิศย่อยของพนักงาน โดยมีโรงแรมเข้าร่วมติดตั้งระบบนี้แล้ว 30 แห่งในกรุงโตเกียว และคาดว่าจะขยายไปยังเมืองโอซาก้าและนาโงย่าภายในต้นปีหน้า เป้าหมายเพื่อให้ธุรกิจโรงแรมลองหารายได้ช่องทางอื่นอย่างการทำงานทางไกล แทนที่นักท่องเที่ยวพักผ่อนที่ยังซบเซาอยู่

 

คนญี่ปุ่นรักงานที่สุดในโลก

“ไอเดียการทำงานทางไกลนั้นมีผู้สนใจจำนวนมาก แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินได้ว่าจะกลายเป็นเทรนด์แพร่หลายแค่ไหนในญี่ปุ่น” โมริกล่าว “ฉันคิดว่าต้องใช้เวลาเพื่อเปลี่ยนวิธีคิดของทั้งพนักงานและบริษัท แนวโน้มน่าจะเป็นที่นิยมในหมู่พนักงาน แต่สำหรับบริษัทจะต้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์ภายใน และอาจจะยากสักหน่อยสำหรับบางบริษัท เพราะบริษัทที่บริหารงานแบบดั้งเดิมยังคงมีกฎลงเวลาเข้าออกงานอยู่ ดังนั้น เรื่องนี้จะเป็นการปฏิวัติสำหรับพวกเขาเลยทีเดียว”

(Photo : Shutterstock)

ทั้งนี้ การจัดแผน Workation อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พนักงานญี่ปุ่นได้ใช้วันหยุดมากขึ้น จากเดิมที่พวกเขาเป็นพนักงานดีเด่นอันดับ 1 ของโลกเพราะใช้วันลาน้อยที่สุด

จากการเก็บข้อมูลของ Expedia ท่ามกลางประเทศที่ทำการสำรวจ 30 ประเทศเมื่อปี 2560 พบว่า พนักงานชาวญี่ปุ่นจะใช้วันลาพักร้อนเฉลี่ย 50% ของที่ตนเองได้รับ ถือเป็นสัดส่วนต่ำที่สุดจากทุกประเทศ เมื่อเทียบกับชาวฮ่องกงและเยอรมนีซึ่งใช้วันลาพักร้อน 100% ชาวอังกฤษใช้วันลาพักร้อน 96% ตามด้วยชาวสิงคโปร์ใช้วันลาพักร้อน 93% ส่วนชาวไทยจะใช้วันลาพักร้อน 80% ของที่ได้รับ

ในแง่จิตใจ คนญี่ปุ่นยังคิดกังวลเรื่องงานหนักที่สุดด้วย โดยพนักงานญี่ปุ่น 60% กล่าวว่าตนเอง “รู้สึกผิด” เมื่อใช้วันลาพักร้อน และ 20% ในจำนวนนี้กล่าวว่าตนเองมักจะเข้าไปเช็กอีเมลงานของตัวเองระหว่างพักผ่อน เทียบกับคนประเทศอื่นอย่างชาวฮ่องกง มีเพียง 31% ที่รู้สึกผิดในการลางาน และสำหรับชาวอิตาลีมีเพียง 19% เท่านั้น

ความรู้สึกผิดของพนักงานญี่ปุ่นเกิดจากพวกเขารู้ว่า พนักงานคนอื่นในบริษัทจะต้องทำงานแทนให้ในช่วงนั้น และกังวลว่าตนเองจะดูไม่ทุ่มเทให้กับบริษัท ดังนั้น การจัดโปรแกรม Workation อาจจะเป็นทางออกที่ดีในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจท่องเที่ยวของญี่ปุ่นก็ได้

Source