‘Unilever’ ทุ่ม 1.2 พันล้าน หวังเลิกใช้ ‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’ ในการผลิตสินค้าภายในปี 2573

Photo : Shutterstock

ยูนิลีเวอร์ (Unilever) บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่มียอดขายสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก ทุ่มเงิน 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและซักอบรีด เช่น โอโม, ซันไลต์ โดยจะเปลี่ยนไปใช้คาร์บอนหมุนเวียนหรือรีไซเคิลเท่านั้น ซึ่งหมายถึงการใช้ปิโตรเคมีที่มาจากพืชและสาหร่ายทะเล ตลอดจนวัสดุที่รีไซเคิลจากขยะพลาสติกภายในปี 2573

“ในฐานะอุตสาหกรรม เราต้องเลิกพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ของเรา เราต้องหยุดสูบคาร์บอนจากใต้พื้นดินเมื่อมีคาร์บอนบนดินที่เพียงพอ ถ้าเราสามารถเรียนรู้ที่จะใช้มันในระดับที่เหมาะสม” Peter ter Kulve ประธานแผนกดูแลบ้านของกลุ่มบริษัท กล่าว

เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมาย Unilever กำลังทำงานร่วมกับบริษัทในอินเดียที่ทำเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ คาร์บอน (CO2) สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตโซเดียมคาร์บอเนตหรือโซดาแอช ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในน้ำยาซักผ้า จากเดิมที่ผลิตด้วยพลังงานจากฟอสซิล นอกจากนี้ยังร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในสโลวาเกีย เพื่อพัฒนาส่วนผสมที่สามารถหมุนเวียนและย่อยสลายได้ในทางชีวภาพเพื่อใช้ในน้ำยาล้างจาน ส่วนผสมนี้ถูกนำไปใช้ในน้ำยาล้างจานซันไลต์ที่จำหน่ายในชิลีและเวียดนามแล้ว

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของ Unilever มีผู้ใช้กว่า 2.5 พันล้านคนในแต่ละวัน จาก 190 ประเทศทั่วโลก โดยบริษัทให้คำมั่นเมื่อต้นปีนี้ว่าจะลดการปล่อยมลพิษจากผลิตภัณฑ์ให้เป็น 0 ภายในปี 2582 นอกจากนี้ยังระบุว่า จะทำให้ผลิตภัณฑ์กว่า 70,000 ชนิดย่อยสลายได้ด้วยตัวเองและใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกให้น้อยลงในอีก 10 ปีข้างหน้า

Unilever ได้รับการยอมรับจาก CDP ซึ่งดำเนินการระบบการเปิดเผยคาร์บอนทั่วโลกในฐานะผู้นำองค์กรด้านความโปร่งใสและประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในบริษัทไม่กี่แห่งที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุดขององค์กรการกุศลในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศป่าไม้และความมั่นคงทางน้ำ

Source