เหลืออด! ‘จีน’ ผุดโครงการ ‘Global Data Security’ เย้ยสหรัฐฯ

(Photo by Lintao Zhang/Getty Images)

ตั้งแต่ที่ ‘หัวเว่ย’ ได้ถูกสหรัฐฯ ติดแบล็กลิสต์ และมาในปีนี้ก็มีอีกหลายบริษัท Tech Company ของจีนที่ทยอยโดนตาม ๆ กันมา อย่าง ‘TikTok’ ที่ถูกบีบให้ขายกิจการในสหรัฐฯ หรืออย่าง ‘WeChat’ แอปยอดนิยมของจีนก็โดนด้วย ล่าสุด ‘SMIC’ บริษัทผลิตชิปรายใหญ่สุดของจีนก็อาจจะถูกขึ้นแบล็กลิสต์อีกราย โดยสาเหตุที่แต่ละบริษัทถูกแบนก็คือ ‘ภัยคุกคามต่อความมั่นคง’ เนื่องจากกลัวว่าบริษัทจีนจะต้องเปิดเผยข้อมูลลูกค้าหากรัฐบาลจีนร้องขอ

จากแรงกดดันดังกล่าว ส่งผลให้ ‘จีน’ เตรียมเปิดตัวโครงการริเริ่มด้านความปลอดภัยของข้อมูลระดับโลก หรือ ‘Global Data Security’ โดยสรุปหลักการที่ควรปฏิบัติในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ข้อมูลส่วนบุคคลไปจนถึงการจารกรรม สำหรับความคิดริเริ่มดังกล่าวได้ถูกประกาศเกิดขึ้นประมาณหนึ่งเดือนหลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ Mike Pompeo ประกาศโครงการ Clean Network ในการแบนบริษัทเทคโนโลยีจีนออกจากสหรัฐฯ โดยจะไม่ทำธุรกิจกับบริษัทโทรคมนาคม, แอปพลิเคชัน, ผู้ให้บริการระบบคลาวด์ และสายเคเบิลใต้ทะเลของจีน

ดังนั้น โครงการดังกล่าวของจีนที่ออกมาก็เพื่อ ตอบโต้ที่สหรัฐฯ ยังคงกดดัน บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของจีน และโน้มน้าวให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแบนบริษัทเหล่านี้

ความคิดริเริ่มของจีนมีประเด็นสำคัญ 8 ประการ อาทิ ไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศอื่น ๆ เสียหรือขโมยข้อมูล โดยต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการไม่ติดตั้งแบ็กดอร์ในผลิตภัณฑ์ของตนและรับข้อมูลผู้ใช้อย่างผิดกฎหมาย

“ประเทศหนึ่งยังคงตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้อื่นอย่างไร้เหตุผลด้วยนามของ Clean Network และใช้การรักษาความปลอดภัยเป็นข้ออ้างในการล่อลวงองค์กรของประเทศอื่น ๆ ที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน การกลั่นแกล้งอย่างโจ่งแจ้งเช่นนี้ต้องได้รับการต่อต้านและปฏิเสธ” หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าว

หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ภาพจาก : MICHAEL SOHN/PRESS POOL

หวังกล่าวต่ออีกว่า โครงการริเริ่มนี้จะเป็นการยุติกิจกรรมการ “ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล” และต่อต้านการใช้เทคโนโลยีเพื่อดำเนินการเฝ้าระวังกับรัฐอื่น ๆ นอกจากนี้บริษัทต่าง ๆ ควรเคารพกฎหมายของประเทศเจ้าภาพและหยุดบังคับให้บริษัทในประเทศจัดเก็บข้อมูลที่เกิดในต่างประเทศในประเทศตัวเอง ผู้ใดก็ตามที่ลงนามในคำมั่นสัญญา ควรเคารพต่ออำนาจอธิปไตยเขตอำนาจศาลและการกำกับดูแลข้อมูลของรัฐอื่น ๆ และหลีกเลี่ยงการขอให้บริษัทหรือบุคคลที่อยู่ในประเทศอื่นให้ข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต

Source

Source