SAPPE เร่งเครื่องรุกตลาดเต็มสูบ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อเนื่องรับกำลังซื้อเริ่มฟื้นตัว มั่นใจผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก

บมจ. เซ็ปเป้ หรือ SAPPE คาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/63 เติบโตได้ดี หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยคลี่คลาย มั่นใจผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก มองกำลังซื้อในประเทศฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่ม Functional Drinks ที่มีอัตราเติบโต หลักรับเทรนด์รักสุขภาพของผู้บริโภค ด้านตลาดส่งออกฟื้น หนุนขยายเครื่องดื่มน้ำผสมวิตามิน B’lue ไปยังกัมพูชา สปป.ลาว และเกาหลีใต้มากขึ้น พร้อมเดินหน้าออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 4-5 รายการ จากที่เปิดตัวไปแล้วกว่า 10 รายการ 

นางสาวปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2563 คาดว่าจะเติบโตได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย ประกอบกับภาครัฐผ่อนคลายล็อคดาวน์ ส่งผลให้ภาพรวมกำลังซื้อในประเทศเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่ม Functional Drinks ที่เติบโตในอัตราเลข หลัก (Double-digit Growth) เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคตระหนักถึงสุขภาพและการดูแลร่างกาย จึงคัดสรรอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเพิ่มขึ้น

สำหรับภาพรวมตลาดต่างประเทศ เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นโดยเฉพาะตลาดในอเมริกาและยุโรป หลายประเทศเริ่มทยอยเปิดประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้ยังขยายการส่งออกเครื่องดื่มน้ำวิตามิน B’lue ไปยังตลาดใหม่ๆ มากขึ้น อาทิ กัมพูชา ลาว และเกาหลีใต้ หลังจากได้รับการตอบรับที่ดีในไทย ประกอบกับมีพอร์ตสินค้าที่หลากหลายครอบคลุมทุกความต้องการของผู้บริโภคและมีการจัดจำหน่ายกว่า 90 ประเทศทั่วโลก ทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงได้ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ 55% และในประเทศ 45%  

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ เดินหน้าออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่องกว่า 10 รายการและในช่วงที่เหลือของปีนี้ SAPPE จะทยอยออกผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อเนื่องอีก 4-5 รายการ  ซึ่งที่ผ่านมาได้เน้นรูปแบบ Go Mass คือการออกสินค้าในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ขนาดเล็กลง เช่น กุมิกุมิ เยลลี่ พร้อมกระจายสินค้าผ่านช่องทางเทรดดิชั่นนอลเทรดหรือร้านค้าแบบดั้งเดิม เช่น ร้านโชห่วย แผงลอย หรือร้านค้าต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไปกว่า 70,000 จุดจำหน่ายทั่วประเทศ ในปัจจุบันบริษัทฯ มีอัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization Rate) เพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 53% 

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลปรับลดภาษีสรรพสามิต (Excise Tax) เหลือ 3% จากเดิม 10% ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา จะส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งแนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง และการบริหารจัดการควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ จะสามารถผลักดันให้ผลประกอบการในปี 2563 อยู่ในระดับเดียวกับปีก่อนที่มีรายได้ 3,386.86 ล้านบาท