NRF : เราขอเป็น Foxconn แห่งตลาด Plant-based Food กางแผนขยายโรงงานทั่วโลก

เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ หรือ NRF เตรียมเปิด IPO เร็วๆ นี้ จากพื้นฐานเดิมเป็นผู้ผลิตเครื่องปรุงรสและอาหาร-เครื่องดื่มสำเร็จรูปเพื่อส่งออก อนาคตจะรุกหนักตลาดเนื้อทำจากพืช (Plant-based Food) หวังเป็นเครือข่ายโรงงานผู้ผลิตเบื้องหลังแบรนด์ระดับโลกเหมือน Foxconn ที่เป็นผู้ผลิตให้กับ Apple เชื่อตลาดนี้มีโอกาสโตสูงมากหลังราคาลดลงมาใกล้เคียงเนื้อสัตว์ปกติ และผู้บริโภครุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

เนื้อทำจากพืช (Plant-based Food) เป็นกระแสวัตถุดิบอาหารที่มาแรงมากช่วง 2-3 ปีนี้ แม้แต่ในประเทศไทยเองก็เริ่มมีเชนร้านอาหารนำเนื้อทำจากพืชมาปรุงเป็นเมนูหลัก เช่น Sizzler ในเครือไมเนอร์ หรือร้านฌานาในเครือฟู้ดแพสชัน รวมถึงมีนำเข้าจากต่างประเทศมาวางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งด้วย

“แดน ปฐมวาณิชย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF กล่าวว่า ตลาดเนื้อทำจากพืชปัจจุบันมีมูลค่ารวมทั่วโลก 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นไปเป็น 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 5 ปี เนื่องจากผู้บริโภคเห็นข้อดีของวัตถุดิบอาหารรูปแบบนี้มากขึ้น

ข้อดีของ Plant-based Food คือ หนึ่ง ดีต่อสุขภาพ มากกว่าการรับประทานเนื้อแดงจากสัตว์ สอง ช่วยในแง่สิ่งแวดล้อม เพราะการปศุสัตว์มีส่วนปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมถึง 40% และ สาม ในบางประเทศถือว่าเนื้อชนิดนี้ที่สามารถเพาะเลี้ยงในแล็บได้คือความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

ตัวอย่างอาหารเนื้อทำจากพืชในเครือข่ายพันธมิตร NRF

ในขณะที่ราคาของเนื้อทำจากพืชลดลงทุกปีจากการผลิตที่มากขึ้น แดนกล่าวว่า ปัจจุบันราคาจำหน่ายของเนื้อหมูทำจากพืชแบรนด์ Phuture ซึ่งเป็นพันธมิตรของบริษัท อยู่ที่ 280-300 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เนื้อหมูเกรดพรีเมียมที่จำหน่ายในไทยอยู่ที่ 200-300 บาทต่อกิโลกรัม และแนวโน้มราคาที่น่าจะลดลงต่อเนื่อง ลงไปใกล้เคียงกับเนื้อหมูเกรดพรีเมียม น่าจะทำให้เข้าถึงผู้บริโภคระดับแมสได้ดีขึ้นอีกในอนาคต

สำหรับบริษัท NRF ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2534 เริ่มต้นจากการผลิตซอสปรุงรส อาหารปรุงสำเร็จรูป เครื่องดื่ม เพื่อส่งออกต่างประเทศ ทั้งรูปแบบ OEM และผลิตภายใต้แบรนด์ของตนเอง เช่น Sabzu, พ่อขวัญ, Thai Delight ปัจจุบันมีจำหน่ายใน 25 ประเทศทั่วโลก เมื่อเห็นเทรนด์ที่มาแรง บริษัทจึงเริ่มหันมาลงทุนในเนื้อทำจากพืชตั้งแต่ 2-3 ปีก่อน และจะขยายอย่างต่อเนื่องเพื่อชิงความเป็นผู้นำในตลาดใหม่ โดยจะมีการระดมทุนผ่านการเปิดขายหุ้น IPO ตอบสนองจุดประสงค์นี้ด้วย

 

จับช่องว่างตลาดที่ยังขาดคนผลิต

แดนกล่าวต่อว่า ช่องว่างของตลาด Plant-based Food ปัจจุบันคือ “โรงงานผลิต” ยังไม่มีผู้เล่นในตลาดที่สามารถผลิตเพื่อส่งออกทั่วโลกในราคามาตรฐาน พร้อมกับเป็นโรงงานผลิตเนื้อทำจากพืช 100% ไม่มีไลน์ผลิตปะปนกับเนื้อสัตว์ปกติ

“ตอนนี้การผลิตยังต้องใช้ไลน์ในโรงงานที่ทำเนื้อสัตว์ปกติด้วย” แดนกล่าว “และถ้ามีโรงงานแค่จุดเดียวในประเทศเดียว เมื่อส่งออกจะเจอกำแพงภาษีทำให้ราคาแพง ดังนั้นเราต้องการจะวางเครือข่ายโรงงาน Plant-based Food ไปทั่วโลก โดยเป็นโรงงานที่ผลิตเฉพาะเนื้อทำจากพืชเท่านั้น”

ทีมงาน NRF : (จากซ้าย) “ธีระพงษ์ ลอรัชวี” กรรมการและกรรมการผู้จัดการ, “แดน ปฐมวาณิชย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ “เพ็ญอุไร ไชยชัชวาล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายบัญชีและการเงิน

“ธีระพงษ์ ลอรัชวี” กรรมการและกรรมการผู้จัดการ NRF เสริมว่า เหตุที่ต้องมีไลน์ผลิตที่ไม่ปะปน เพราะอนาคตผู้บริโภคจะใส่ใจประเด็นนี้มากขึ้น คือโรงงานต้องการันตีได้ว่าไม่มีการปนเปื้อนเนื้อสัตว์ปกติแน่นอน แม้ว่ายังไม่มีหน่วยงานใดออกกฎกำกับควบคุม แต่บริษัทมองยาวล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

ปัจจุบันบริษัทมีการร่วมลงทุนลักษณะจอยต์เวนเจอร์กับ The Brecks Company Limited ตั้งบริษัทใหม่ในชื่อ
Plant and Bean เปิดโรงงานรับจ้างผลิตเนื้อจากพืชที่ประเทศอังกฤษ ถือเป็น “เฟสแรก” ของการเปิดเครือข่ายโรงงานในเครือ NRF โรงงานนี้มีกำลังผลิต 3,000 ตัน และจะขยายเป็น 36,000 ตันภายในปี 2564

เพื่อแก้โจทย์เรื่องกำแพงภาษี บริษัทตั้งใจจะขยายโรงงานไปทั่วโลกใน 5 ประเทศ โดยธีระพงษ์กล่าวว่า เฟสสองคือการตั้งโรงงานที่สหรัฐอเมริกาภายในปี 2564 และต่อด้วยเฟสสาม จะตั้งโรงงานที่ประเทศไทยช่วงปลายปี 2564 ส่วนอนาคตต่อจากนั้นมองว่าจะปักหมุดโรงงานที่ประเทศจีนและละตินอเมริกา แต่ขณะนี้ยังไม่มีแผนที่แน่ชัดว่าจะเป็นเมื่อไหร่

วิธีลงทุนโรงงานของ NRF ในแต่ละจุดจะดูตามความเหมาะสมของการลงทุน อย่างที่อังกฤษเป็นการ JV 51:49 ขณะที่ประเทศไทย บริษัทจะเป็นเจ้าของทั้งหมดโดยจัดซื้อที่ดินรอไว้แล้ว

“เราต้องการเป็น Foxconn แห่งโลก Plant-based Food” แดนกล่าว “ยกตัวอย่างบริษัท Apple ไม่ได้มีโรงงานเอง แต่เป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยี ออกแบบ สร้างแบรนด์ ทำการตลาด แต่ต้องมี Foxconn เป็นคนผลิตให้ เราจะมองแบบ Foxconn คือเป็นผู้ผลิตให้กับทุกคนตั้งแต่สตาร์ทอัพรายเล็กไปจนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่”

 

ลงทุนในสตาร์ทอัพ ทางลัด R&D

อย่างไรก็ตาม NRF ไม่ได้ลงทุนโรงงานแล้วรอรับจ้างผลิตอย่างเดียว เพราะบริษัทมีการลงทุนในสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับเนื้อทำจากพืชด้วย โดยร่วมทุนใน Big Idea Venture และกองทุนนิวโปรตีน กองทุนเหล่านี้เป็นกองทุน VC แบบ Accelerator ให้เงินทุนสร้างการเติบโตกับสตาร์ทอัพด้านเนื้อทำจากพืช เป้าหมายกองทุนต้องการสนับสนุนสตาร์ทอัพให้ได้ 100 รายภายใน 3 ปี ปัจจุบันลงทุนไปแล้ว 27 ราย

แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลา โดยตัวลูกชิ้นผลิตจากพืช

นอกจากนี้บริษัทยังไปลงทุนกับ Phuture Food Limited เป็นสตาร์ทอัพเอเชียที่ผลิตหมูสับเทียมผลิตจาากโปรตีนถั่วเหลือง รวมแล้วเม็ดเงินลงทุนทั้งที่ลงในสตาร์ทอัพและโรงงาน NRF ลงทุนไปแล้ว 250 ล้านบาท และจากการระดมทุนจะนำมาลงทุนเพิ่มอีก 400 ล้านบาท

การลงทุนกับสตาร์ทอัพนั้น ธีระพงษ์กล่าวว่าบริษัทไม่ได้มองตนเองในฐานะนักลงทุนที่ต้องการทำกำไรซื้อมาขายไป แต่ต้องการ “ทางลัด” ในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ได้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเร็วกว่าวิจัยขึ้นมาเองทั้งหมด และสตาร์ทอัพเหล่านั้นมีโอกาสมาเป็นลูกค้าจ้างบริษัทผลิตต่อไปด้วย

 

Plant-based Food เป็นดาวดวงใหม่ของบริษัท

“เพ็ญอุไร ไชยชัชวาล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายบัญชีและการเงิน NRF กล่าวว่า รายได้บริษัทเมื่อปี 2562 ทำรายได้ที่ 1,111 ล้านบาท ขณะที่ครึ่งปีแรก 2563 มีรายได้แล้ว 603.7 ล้านบาท กำไรสุทธิ 41.1 ล้านบาท

โดยคาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้ สัดส่วนรายได้จะมาจากกลุ่ม Ethnic Food คือกลุ่มอาหารดั้งเดิม เช่น เครื่องปรุงรส อาหารสำเร็จรูปประมาณ 89% มาจากกลุ่มเนื้อทำจากพืช 7% และผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่เฉพาะด้าน เช่น เจลแอลกอฮอล์ 4%

บริษัทวางเป้าปี 2567 สัดส่วนเหล่านี้จะเปลี่ยนไป โดยคาดการณ์รายได้ไปแตะที่ 3,000 ล้านบาท มีกลุ่ม Ethnic Food และผลิตภัณฑ์เฉพาะด้านสัดส่วน 60-70% ส่วนกลุ่มเนื้อทำจากพืชจะมีสัดส่วนขึ้นมาเป็น 30-40% กลายเป็นสินค้าหลักอย่างหนึ่งของบริษัท

การคาดการณ์สัดส่วนรายได้ของ NRF ในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

ตลาดกำลังเป็นที่จับตามอง

ธีระพงษ์กล่าวว่า บริษัทมีจุดแข็งเรื่องการเป็น ‘First Mover’ เริ่มลงทุนก่อนตั้งแต่ 2-3 ปีก่อน ทำให้มีคอนเนกชันกับกลุ่มนักวิจัยและพัฒนาก่อนรายอื่น รวมถึงพื้นฐานการส่งออกสินค้าอาหารทำให้รู้จักผู้จัดจำหน่ายในหลายประเทศ

แต่ก็ไม่ใช่ NRF รายเดียวที่กำลังเล็งตลาดนี้ เพราะบริษัทยักษ์ด้านอาหารของไทยอย่าง “เครือซีพี” และ “ไทยยูเนี่ยน” ก็กำลังมองความเป็นไปได้ในตลาด Plant-base Food เช่นกัน

จากรายงานประจำปี 2562 ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF บริษัทแจ้งผู้ถือหุ้นถึงการพัฒนานวัตกรรมในรอบปี โดยมีการวิจัยและพัฒนากลุ่มเนื้อทำจากพืชเป็นหนึ่งในนั้น บริษัทกล่าวว่าได้เลือกวิจัยแหล่งโปรตีนทดแทนอย่าง ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา ข้าวสาลี ฯลฯ เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้า

CPF ยังทดลองตลาดนำผลิตภัณฑ์เนื้อทำจากพืชแบรนด์ Veg It Up! วางขายในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ขณะที่สตาร์ทอัพ More Meat ผู้วิจัยเนื้อทำจากพืชของไทยยังแจ้งว่าบริษัทได้ร่วมโครงการ True Incube ซึ่งทำให้บริษัทมีคอนเนกชันกับเครือซีพีด้วย

ขณะที่ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ก็ประกาศตั้งกองทุน Venture Fund เริ่มต้นเม็ดเงินลงทุน 30 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพ 3 ด้านคือ โปรตีนทางเลือก อาหารฟังก์ชัน และเทคโนโลยีห่วงโซ่คุณค่า สำหรับโปรตีนทางเลือก ไทยยูเนี่ยนประกาศว่ามีการลงทุนกับบริษัท ฟลายอิ้ง สปาร์ค สตาร์ทอัพวิจัยการทำโปรตีนจากตัวอ่อนแมลงไปเรียบร้อยแล้ว

แม้ทั้งสองยักษ์ใหญ่จะยังไม่มีการลงทุนสร้างโรงงานผลิต แต่ก็ต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวให้ดี เพราะตลาดที่กำลังหอมหวานอาจจะมีคู่แข่งเข้ามาได้ทุกเมื่อ