Oracle ปาดหน้า Microsoft ปิดดีล “เป็นพาร์ตเนอร์” TikTok สหรัฐฯ จีนส่อกันท่าไม่ให้ขาย

Photo : Shutterstock
TikTok และ Oracle จะร่วมเป็น “พาร์ตเนอร์” ทางธุรกิจกันในสหรัฐฯ ดีลที่เกิดขึ้นหลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ขีดเส้นตายให้ ByteDance ขายกิจการ TikTok สหรัฐฯ โดยดีลครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะแบบแซงโค้งเหนือคู่แข่ง Microsoft ที่ออกตัวแรง หมายมั่นจะปิดการซื้อขายให้สำเร็จมาหลายสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ดีลยังมีสิทธิล่มเพราะรัฐบาลจีนออกท่ากีดกันไม่ให้การขายเกิดขึ้น

สำนักข่าว CNN รายงานข้อมูลอ้างอิงแหล่งข่าวใกล้ชิดกับดีลซื้อขายกิจการว่า Oracle คือบริษัทผู้กำชัยชนะในสงครามแย่งชิงแอปพลิเคชันวิดีโอสั้นยอดฮิต TikTok ในสหรัฐฯ ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าลักษณะดีลจะเป็นอย่างไร แต่แหล่งข่าวระบุว่าดีลจะไม่ใช่การขายหุ้นออกโดยสมบูรณ์

ข่าวนี้แพร่สะพัดไม่นานหลังจากบริษัท Microsoft ประกาศเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมาว่า ByteDance จะ “ไม่ขาย” TikTok ในสหรัฐฯ ให้กับบริษัท แม้ว่า Microsoft มีความพยายามที่จะเข้าซื้อกิจการมานานหลายสัปดาห์ และเป็นบริษัทเดียวที่ออกแถลงอย่างเป็นทางการว่าบริษัทมีความสนใจเข้าซื้อจริง พร้อมจับมือ Walmart ยักษ์ธุรกิจค้าปลีก ที่จะเข้ามามีเอี่ยวในดีลนี้ด้วย แต่สุดท้ายดีลก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ต่างมองว่า Microsoft ซึ่งเป็นตัวเก็งในดีลซื้อกิจการ กำลังมีโอกาสครั้งสำคัญในการ “ทำรัฐประหาร” ในโลกโซเชียลมีเดีย ผ่านการยึดแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่โตเร็วที่สุดอย่าง TikTok

 

เป้าหมายคือการเก็บข้อมูลคนอเมริกันต้องโปร่งใส

เนื่องจากการบีบให้ ByteDance ขาย TikTok มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว ป้องกันข้อมูลชาวอเมริกันรั่วไหลไปถึงรัฐบาลจีน ทำให้การขายกิจการครั้งนี้ถูกจับตามองว่าจะมีลักษณะอย่างไร และจะสอดคล้องกับคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือไม่

ก่อนหน้าเหตุการณ์นี้ มีดีลที่สามารถเทียบเคียงได้เกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งคือ เมื่อปี 2013 บริษัท SoftBank จากญี่ปุ่นจะเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 78% ในบริษัท Sprint บริษัทด้านโทรคมนาคมของสหรัฐฯ ทั้งสองบริษัทต้องทำสัญญาที่มีเงื่อนไขหลายอย่างเกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคงของชาติ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ และกระทรวงยุติธรรม ต้องมีอำนาจในการตรวจสอบและสั่งยกเลิกการเลือกใช้อุปกรณ์บางประเภทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้

เจมส์ ลูอิส รองประธานอาวุโส Center for Strategic and International Studies และเคยเป็น
ที่ปรึกษาให้กับดีลระหว่าง SoftBank กับ Sprint ให้ความเห็นว่า ดีลครั้งนี้อาจจะบรรจุข้อกำหนดเข้าไปด้วยว่าจะจำกัดไม่ให้ ByteDance เข้าถึงข้อมูลใดบ้าง หรืออาจจะมีการกำหนดหน่วยงานหรือบุคคลชาวอเมริกันให้ร่วมอยู่ในบอร์ดบริหารบริษัท

 

ดีลยิ่งซับซ้อน เมื่อจีนส่อแววกันท่าไม่ให้ขาย TikTok

แม้จะได้พาร์ตเนอร์ในสหรัฐฯ แน่นอนมากขึ้นแล้ว แต่ดีลนี้ก็ยังคงซับซ้อนอยู่ เพราะวันนี้ CGTN สื่อมวลชนที่กำกับโดยรัฐบาลจีนเพิ่งจะรายงานอ้างอิงแหล่งข่าววงในว่า บริษัท ByteDance จะไม่ขายกิจการ TikTok ในสหรัฐฯ ให้กับ Microsoft หรือ Oracle หรือบริษัทใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่ต้องการให้ source code ของแอปฯ แก่ผู้ซื้อสัญชาติอเมริกัน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังเพิ่มรายการเทคโนโลยีที่ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลก่อนจะขายออกให้ต่างชาติได้อีก 23 รายการ แม้ว่าจะไม่ได้เอ่ยชื่อ TikTok ตรงๆ แต่ ByteDance ออกมาตอบรับทันทีว่าบริษัทจะปฏิบัติตามเกณฑ์ใหม่ของรัฐบาลจีนก่อนตัดสินใจขายกิจการ TikTok ที่สหรัฐฯ เนื่องจากแอปฯ นี้มีเทคโนโลยีที่ถูกระบุในลิสต์ที่ต้องได้รับอนุญาตดังกล่าว เช่น เทคโนโลยีรู้จำเสียงพูดและข้อความ (Speech and Text Recognition)

เส้นตายของการแบน TikTok กำลังงวดใกล้เข้ามา โดยกำหนดการคือวันที่ 20 กันยายนนี้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ จะต้องออกรายละเอียดว่าธุรกิจใดที่เกี่ยวข้องกับ TikTok ที่จะถูกแบนตามคำสั่งฝ่ายบริหารที่ออกมาตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2020 ซึ่งจนถึงบัดนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจะแบนกันอย่างไร ส่วนการขายกิจการ มีเส้นตายให้ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้

Source