ซีอีโอ “อนันดาฯ” : อย่าหวังรอให้ “วัคซีน” COVID-19 แก้ปัญหาทุกอย่าง หนุนรัฐเปิดประเทศ

“ชานนท์” ซีอีโอ “อนันดาฯ” หนึ่งในบริษัทอสังหาฯ เบอร์ต้นของไทย สะท้อนมุมมองประเด็นวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ที่กำลังเป็นความหวังของมนุษยชาติ อาจไม่ใช่ “กระสุนเงิน” ที่รักษาให้วิกฤตจบลงได้ทันที เพราะมีแนวโน้มไม่สามารถป้องกันได้สมบูรณ์ 100% สนับสนุนรัฐบาลเร่งเปิดประเทศเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ ธุรกิจ-คนไทยปรับตัวเพื่ออยู่กับโรคให้ได้ในระยะยาว

ช่วงที่ผ่านมา ข่าวสำคัญอย่างหนึ่งที่ทั่วโลกจับตาและรอคอยคือการพัฒนา “วัคซีน” ป้องกันโรค COVID-19 เพราะเป็นความหวังเดียวที่จะหยุดยั้งวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ได้ และจะทำให้โลกกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม “ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ในงานแถลงข่าวอีเวนต์สัมมนา SingularityU Thailand ว่า โรคระบาด COVID-19 คือโจทย์สำคัญที่สุดต่อธุรกิจยุคนี้ก็จริง แต่วัคซีนอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ไม่ใช่ “กระสุนเงิน” ที่รักษาทุกอย่างให้กลับไปเป็นเหมือนเดิม

เพราะอ้างอิงจากการประเมินของ ดร.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐฯ พบว่าขณะนี้ประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถป้องกันได้เพียง 50% เท่านั้น ยังไม่มีประสิทธิภาพค่อนข้างสมบูรณ์เหมือนวัคซีนโรคอื่นๆ ที่เราคุ้นเคยกัน และยังต้องทดสอบเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนในคนแต่ละช่วงวัย รวมถึงต้องใช้เวลาผลิตและทยอยฉีดให้กับคนทั้งโลก

ดังนั้น ความหวังของคนไทยที่มองว่ากลางปีหน้าทุกอย่างอาจจะเริ่มคลี่คลาย เพราะวัคซีนวิจัยสำเร็จและผลิตได้ อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิด และใช้เวลานานกว่านั้น จากประสิทธิภาพของวัคซีนที่ต้องใช้เวลาพัฒนาให้ป้องกันได้ 100% หรือใกล้เคียง และมีขั้นตอนอีกมากกว่าที่จะปูพรมฉีดให้คนส่วนใหญ่เรียบร้อย

เมื่อเป็นเช่นนั้น การอดทนรอให้ถึงกลางปีหน้าแล้วจึงเปิดประเทศอาจจะเป็นความคิดที่ผิด ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็น 15% ของจีดีพีประเทศไม่สามารถรอได้อีกแล้ว จึงสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่กำลังจะเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามา

“การเปิดประเทศต้องเริ่มแล้ว อย่างน้อยขอให้มีเมืองโปรโตไทป์ทดลองดูก่อน เพราะเศรษฐกิจกำลังจะไม่ไหวแล้ว” ชานนท์กล่าว

ส่วนในมุมของนักธุรกิจ ก็ต้องเปลี่ยนความคิดจากการพยุงตัวและรอวัคซีน เป็นการตั้งสมมติฐานว่าโลกจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนาน และบางอย่างอาจจะเปลี่ยนไปถาวร หากเป็นเช่นนั้นธุรกิจจะปรับแผนไปอย่างไร

บริษัทอนันดาฯ เองก็กำลังหารือแผนอนาคต แต่ที่เห็นได้ชัดว่าเกิดขึ้นแน่นอนในระยะสั้นคือธุรกิจคอนโดมิเนียมจะซึมเซาแบบนี้ไปอย่างน้อยอีก 1 ปี และการเป็น VC ให้เงินลงทุนสตาร์ทอัพในฐานะ Tech Company ก็ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงมากขึ้น ดูรายได้-กำไรก่อนลงทุน ไม่ได้พิจารณาเฉพาะโอกาสเติบโตของสตาร์ทอัพ

สิ่งที่จะเปลี่ยนไปถาวรจาก COVID-19 เข้ามามีผลกระทบ ยกตัวอย่างจาก “ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB10X) ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมสนับสนุนงาน SingularityU Thailand เล่าถึงการจัดการบุคลากรของธนาคารฯ กว่า 50% ของพนักงานยังไม่ได้กลับมาทำงานในออฟฟิศตามปกติ ยังมีการสลับเข้าออฟฟิศอยู่

“ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB10X)

ธนาคารฯ พบว่าประสิทธิภาพการทำงานไม่ได้ตกลงแม้จะไม่อยู่ออฟฟิศ แต่ ดร.อารักษ์กล่าวว่า จากการติดตามลักษณะการทำงานของคนไทยอาจจะไม่สามารถทำงานอยู่ที่บ้านตลอดเวลาได้ เพราะลักษณะการอยู่อาศัยไม่เหมาะกับการทำงาน และมนุษย์ยังเป็นสัตว์สังคมที่ต้องการพูดคุยสังสรรค์

ดังนั้น กำลังมองภาพจุดลงตัวที่เหมาะ ทำให้พนักงานไม่ต้องเดินทางไกลมาออฟฟิศ แต่ก็ยังได้ใช้ชีวิตคนทำงาน นั่นคือการตั้ง “ออฟฟิศย่อย” โดยปรับสาขาธนาคารมาตั้งเป็นออฟฟิศเล็กๆ ให้พนักงานแบงก์ทุกคนเข้าไปใช้ได้

ดร.อารักษ์กล่าวว่า การนำสาขามาปรับอาจจะเป็นทางออกที่ดี เพราะทุกวันนี้การทำธุรกรรมของธนาคารเกิดขึ้นในสาขาออฟไลน์เพียง 2-3% เท่านั้น เนื่องจากธุรกรรมย้ายไปทำบนออนไลน์อย่างรวดเร็ว โดยธุรกรรมออนไลน์เติบโต 10 เท่าในรอบ 3 ปี เป็นภาพที่ชัดเจนว่าสาขาจะลดลงหรือปรับไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น

เคสของไทยพาณิชย์เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เห็นสิ่งที่ COVID-19 ได้สร้างวิถีชีวิตใหม่ที่จะเปลี่ยนไปถาวร วกกลับมาเป็นโจทย์ให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเช่น อนันดาฯ เองต้องคิดแล้วว่าจะลงทุนอสังหาฯ แบบไหนให้สอดคล้องกับวิธีทำงานแบบใหม่

พร้อมเชิญชวนธุรกิจเอกชน ภาครัฐ นักเรียนนักศึกษา หรือผู้ที่สนใจ ร่วมฟังสัมมนา SingularityU Virtual Summit Thailand 2020 จัดขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 63 โดยเชิญผู้นำทางนวัตกรรมจากซิลิคอนแวลเลย์มาบรรยาย เพื่อจุดประกายไอเดียจากแหล่งนวัตกรรมว่ากำลังรับมือกับวิกฤตครั้งนี้อย่างไร