สมาคมน้ำเมาจี้รัฐเร่งแก้ไขประกาศห้ามขายสุราออนไลน์-มาตรา 32 ก่อนรายย่อยตายหมู่

TABBA เป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่เปิดหน้าต้าน “ประกาศห้ามขายสุราออนไลน์” และ “มาตรา 32” ในกฎหมายคุมโฆษณาเหล้าซึ่งถูกนำไปตีความครอบจักรวาล มีรายย่อยถูกดำเนินคดีนับพันราย โดยเรียกร้องให้รัฐยกเลิกหรือแก้ไขประกาศห้ามขายสุราออนไลน์โดยด่วน เพราะเป็นการ “ตัดสายออกซิเจน” เฮือกสุดท้ายของรายย่อยในวิกฤต COVID-19 พร้อมเป็นแนวร่วมผลักดันการแก้ไขมาตรา 32 กฎหมายคุมการขายและโฆษณาเหล้า มองแนวโน้มเชิงบวก น่าจะแก้ไขได้จริง

สถานการณ์ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของรายย่อย พ.ศ.นี้กำลังถูกตีขนาบด้วยกฎหมายสองข้อจาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

ข้อแรกคือประกาศล่าสุด โดยอาศัยความตามมาตรา 30 (6) ของกฎหมายดังกล่าว ออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563” หรือเรียกสั้นๆ ว่าประกาศห้ามขายสุราออนไลน์ ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้จริงวันที่ 7 ธันวาคมนี้

ส่วนอีกข้อคือปัญหาเรื้อรังที่มีมานานของ “มาตรา 32” ในพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีข้อความที่ถูกเจ้าหน้าที่นำไปบังคับปฏิบัติแบบ “ครอบจักรวาล” จนไม่รู้ว่าเกณฑ์การตัดสินอยู่ที่ตรงไหน

ว่ากันด้วยเรื่องประกาศห้ามขายสุราออนไลน์ก่อน “ธนากร คุปตจิตต์” นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) วิเคราะห์วิจารณ์กฎหมายฉบับนี้ว่าทางสมาคม “ไม่เห็นด้วย” เนื่องจากหลักการและเหตุผลการออกกฎหมายอ้างว่า ห้ามมิให้ขายสุราออนไลน์ “เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย” แต่ที่จริงแล้วกระบวนการขายออนไลน์สามารถทำระบบป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงได้อยู่แล้ว

“กฎหมายข้อนี้เปรียบเหมือนจะห้ามไม่ให้รถบางประเภทมาวิ่งบนถนน แต่กลับออกกฎไม่ให้ใช้ถนนทั้งเส้นไปเลย” ธนากรกล่าวเปรียบเทียบให้เห็นภาพ

“ธนากร คุปตจิตต์” นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA)

การป้องกันดังกล่าวสามารถทำได้ง่ายๆ คือ ใช้ระบบ payment gateway เป็นตัวคัดกรอง เช่น ทางร้านสามารถทำระบบรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตเท่านั้น ก็จะคัดกรองเยาวชนต่ำกว่า 18 ปีออกจากกลุ่มผู้ซื้อได้ และเป็นกระบวนการที่ร้านขายออนไลน์ทำอยู่แล้ว หรือจะให้ทำระบบลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชนก่อนซื้อ ร้านค้าแอลกอฮอล์ออนไลน์ก็มีความพร้อมที่จะพัฒนาระบบ นอกจากนี้ กรณีการส่งสินค้าให้อยู่ในช่วงเวลาอนุญาตจำหน่ายก็สามารถไปวางระบบกับบริษัทขนส่งได้เช่นกัน

ดังนั้น จึงมองว่าประกาศกฎหมายฉบับนี้ออกมาแบบหว่านแหจำกัดช่องทางการขายออนไลน์ทั้งหมดโดยไม่จำเป็น และขอให้รัฐยกเลิกหรือแก้ไขให้เหมาะสม

 

กฎหมายตัดออกซิเจนผู้ค้ารายย่อย

ธนากรยังกล่าวด้วยว่า การออกประกาศฉบับนี้ในช่วงนี้จะกระทบผู้ค้ารายย่อยอย่างรุนแรง ปัจจุบันช่องทางขายออนไลน์คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของทั้งตลาดก็จริง แต่คนส่วนใหญ่ที่พึ่งพิงช่องทางนี้คือรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ หรือร้านอาหารที่หันมาขายผ่านออนไลน์ชดเชยการขายหน้าร้านที่ซบเซาจาก COVID-19 เทียบกับผู้ผลิตรายใหญ่ แม้ไม่มีช่องทางออนไลน์ก็ยัง ‘อยู่ได้’ เพราะมีช่องทางขายผ่านร้านค้าต่างๆ ทั่วไป

“ช่วงปิดล็อกดาวน์ ร้านคราฟต์เบียร์หรือร้านอาหารที่มีเบียร์ในสต็อกก็ต้องหาทางระบายของออก เขาก็ใช้วิธีขายออนไลน์ต่อชีวิตตนเองไปก่อน” ธนากรกล่าว

“ถ้าหากไม่มีการยกเลิกหรือแก้ประกาศนี้ ยอดขายของรายย่อยจะแทบลดเหลือศูนย์ เพราะถึงจะอนุญาตเปิดสถานประกอบการได้แล้วแต่ลูกค้าก็ไม่มากเท่าเดิม ยิ่งเป็นร้านในย่านนักท่องเที่ยวต่างชาติยิ่งกระทบหนัก บางร้านยังไม่กลับมาเปิดด้วยซ้ำเพราะไม่คุ้ม ถ้าหากไม่ให้ขายออนไลน์ก็เหมือนตัดท่อออกซิเจนเขาไปเลย”

 

มาตรา 32 กฎหมายที่เอาผิดแม้แต่ “เมนูร้านลาบ”

ส่วนกฎหมายอีกข้อหนึ่งที่เป็นปัญหามานานคือ มาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยมีข้อความตามกฎหมายดังต่อไปนี้

“มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม

การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุกัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น

ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิด
นอกราชอาณาจักร”

ข้อความที่เป็นปัญหาคือประโยคที่ว่า “ชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่นำไปใช้ตีความตามดุลยพินิจ รวมถึงมีบทลงโทษที่รุนแรง โดยเป็นคดีอาญามีโทษปรับตั้งแต่ 50,000-500,000 บาท และยังให้สินบนนำจับแก่ผู้แจ้งเบาะแสและเจ้าหน้าที่รวมกันสูงถึงร้อยละ 80 ของค่าปรับที่ชำระ ทำให้มีประชาชนและเจ้าหน้าที่แจ้งเบาะแสจนเกิดการดำเนินคดีนับพันรายทั่วประเทศ ยกตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้น 3 คดี ดังนี้

“ร้าน Kacha Kacha” – นายวิเชียร อินทร์ไกรดี เจ้าของร้าน ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 32 ลงโทษปรับรวมทั้งสิ้นกว่า 500,000 บาท เนื่องจากมีภาพแก้วเบียร์ประกอบอยู่ในเมนูร้าน ทั้งที่แก้วเบียร์นั้นไม่มีตราสินค้าปราฏร่วมอยู่ด้วย

“กลุ่มผู้ผลิตไวน์ OTOP” – นางโยษิตา บุญเรือง ถูกตัดสินโทษว่ากระทำผิดตามมาตรา 32 ปรับทั้งสิ้น 50,000 บาท (หลังจากได้รับลดหย่อน) รอลงอาญา 2 ปี โดยเหตุการณ์ชี้เบาะแสเกิดจากมีเจ้าหน้าที่ล่อซื้อไวน์ของร้าน และถามหาใบปลิวผลิตภัณฑ์ เมื่อพนักงานร้านนำส่งให้ เจ้าหน้าที่จึงนำไปเป็นหลักฐานดำเนินคดี เนื่องจากในใบปลิวมีรูปผลิตภัณฑ์และบรรยายส่วนประกอบของสินค้า

“ร้านลาบลุงยาว” – นายคำนาย มาดำ เจ้าของร้าน ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 32 มีบทลงโทษปรับ 50,000 บาท เนื่องจากมีการติดโปสเตอร์สัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน และมีราคาติดประกอบ

จะเห็นได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายข้อนี้ไม่มีความชัดเจน และตีความกว้างจนเป็นอุปสรรคกับธุรกิจการค้า เพราะการขายสินค้าหากไม่มีการแสดงราคา ไม่มีการแจกแจงส่วนประกอบ ย่อมเป็นไปไม่ได้ในการขาย เพราะผู้บริโภคไม่ได้รับข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ

 

กดดันรัฐแก้ไขให้เร็ว

กฎหมายทั้งสองข้อ มีการผลักดันแก้กฎหมายต่างกันตามระดับชั้นของกฎหมาย โดยธนากรกล่าวว่า สำหรับประกาศห้ามขายสุราออนไลน์ กฎหมายฉบับนี้จะยกเลิกหรือแก้ไขได้เร็วกว่า เพราะอำนาจขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณายกเลิกหรือแก้ไขได้ทันที ไม่จำเป็นต้องผ่านรัฐสภา

กรณีที่มีกลุ่มผู้ผลิตคราฟต์เบียร์อาจจะยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราวจากกฎหมายฉบับนี้ หากมีการยื่นฟ้องร้องจริง TABBA พร้อมเป็นผู้สนับสนุนเข้าช่วยชี้แจงต่อศาล (ไม่สามารถร่วมฟ้องร้องได้เพราะฐานะสมาคมไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง)

ส่วนการแก้ไขมาตรา 32 จะยุ่งยากและใช้เวลามากกว่า เนื่องจากเป็นการแก้ข้อกฎหมายในพระราชบัญญัติซึ่งต้องผ่านกระบวนการรัฐสภา ขณะนี้มีองค์กรเคลื่อนไหวแยกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรกคือ TABBA เองร่วมกับแนวร่วม 16 องค์กรยื่นเรื่องต่อ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 อาศัย พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 รวมถึง มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นข้อสนับสนุนในการขอแก้ไขมาตรา 32 ของกฎหมายโฆษณาเหล้า

มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุไว้ว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคการดำรงชีวิตหรือประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีการับเรื่องและตั้งคณะอนุกรรมการมาพิจารณา อยู่ระหว่างรวบรวมความเห็นของหลายๆ ฝ่ายมาประกอบ

บรรยากาศการล่ารายชื่อเสนอแก้กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ ณ หอศิลป์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 63

ส่วนที่สองที่เคลื่อนไหวอยู่คือ สมาพันธ์ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ เพจสุราไทย เสนอขอแก้ไขหลายมาตราใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 หนึ่งในนั้นคือมาตรา 32 ซึ่งจะขอแก้ไขเป็นข้อความดังนี้แทน

“มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินความจริง

การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น

ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร”

เห็นได้ว่ามีส่วนที่เปลี่ยนแปลงคือการเพิ่มข้อความว่า “อวดอ้างสรรพคุณเกินความจริง และตัดข้อความเรื่องการชักจูงใจโดยตรงและโดยอ้อมออก ส่วนอื่นๆ ที่เหลือยังคงเดิม ทำให้กฎหมายจะปลดล็อกในส่วนที่กำกวมและครอบจักรวาลเกินไปออก

หลังเริ่มประชาสัมพันธ์เกือบ 2 เดือน ขณะนี้การล่ารายชื่อประชาชนเพื่อยื่นเรื่องขอแก้ไขกฎหมายดำเนินไปถึง 6,830 รายชื่อแล้ว จากเป้าหมายทั้งหมด 10,000 รายชื่อ

กฎหมายที่เป็นอุปสรรคกับรายย่อยวงการแอลกอฮอล์ไทยนั้น ธนากรมองว่ามีแนวโน้มในเชิงบวกเพราะมีข้อกฎหมายที่ใหญ่กว่าอย่างรัฐธรรมนูญมาเป็นเครื่องมือช่วยในทางนิติศาสตร์ และเห็นว่าภาครัฐมีท่าทีรับฟังนำไปพิจารณา น่าจะมีโอกาสประมาณ 80% ที่จะเกิดการแก้กฎหมายสมประสงค์ …เพียงแต่กรอบระยะเวลาควรจะเร่งให้เร็วที่สุดในสภาวะเศรษฐกิจติดลบเช่นนี้

 

หมายเหตุ : เกี่ยวกับ สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย(Thai Alcoholic Beverage Business Association: TABBA) ก่อตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.. 2552โดยผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์7บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่(ประเทศไทย)จำกัด,ริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด,บริษัท บาคาร์ดี(ประเทศไทย)จำกัด,บริษัท บราวน์ ฟอร์แมน(ประเทศไทย)จำกัด,บริษัท เพอร์นอต ริคาร์ดประเทศไทย (จำกัด),บริษัทสยามไวเนอรี่ทรดดิ้ง พลัสจำกัดและ บริษัทอินดิเพนเดนท์ ไวน์ แอนด์ สปิริต (ประเทศไทย) จำกัด