“คนจน” ในเอเชียกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในรอบ 20 ปี หลัง COVID-19 ทำลายเศรษฐกิจ

(photo : pixabay)
ธนาคารโลก (World Bank) เปิดข้อมูลจำนวนประชากรใต้เส้นความยากจนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอาจกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในรอบ 20 ปี หลังจาก COVID-19 ทำลายเศรษฐกิจจน “คนจน” เพิ่มขึ้นเป็น 38 ล้านคน ในภูมิภาคนี้มีเพียง “ประเทศจีน” ที่ยังรอด ส่วนประเทศไทย คนจนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในไตรมาส 2 ก่อนจะดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงไตรมาส 3

ธนาคารโลก ประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปีนี้จะเติบโตเพียง 0.9% หลังเผชิญโรคระบาด COVID-19 แต่ถ้าหากเจาะไปรายประเทศแล้วจะพบว่า ประเทศจีนคือประเทศเดียวที่เศรษฐกิจยังเติบโตได้ 2.0% เนื่องจากรัฐบาลอัดฉีดเงินเข้าระบบ การส่งออกยังแข็งแรง และมีอัตราผู้ติดเชื้อต่ำมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ส่วนประเทศที่เหลือของภูมิภาคคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวเฉลี่ย -3.5%

ผลทางเศรษฐกิจทำให้ปีนี้คาดว่าจะมี “คนจน” ราว 38 ล้านคนในเอเชียแปซิฟิก โดยขีดเส้นแบ่งความยากจนหมายถึงผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 5.5 เหรียญสหรัฐต่อวัน (ประมาณ 174 บาทต่อวัน) ตามอัตราความเสมอภาคของอำนาจซื้อในปี 2011 โดยรายงานนี้รวบรวมข้อมูลจาก 23 ประเทศในภูมิภาค ได้แก่ กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย เมียนมา ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ ไทย ติมอร์เลสเต เวียดนาม และอีก 11 ประเทศเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก

ในจำนวน 38 ล้านคนนี้ มี 33 ล้านคนที่ยังอยู่ภายใต้ความยากจนต่อไป และ 5 ล้านคนที่เคยข้ามเส้นความยากจนไปแล้ว แต่ต้องกลับไปสู่ความยากจนอีกครั้งเนื่องจากวิกฤตโรคระบาด

อย่างไรก็ตาม เฉพาะประเทศจีนที่เศรษฐกิจยังเติบโตได้ ทำให้การคาดการณ์จำนวนคนจนลดลงจากปีก่อน 8.1-9.6 ล้านคน เหลือคนจนในประเทศจีนอยู่ประมาณ 25 ล้านคน

ขณะที่ “ประเทศไทย” จำนวนคนจนปรับเพิ่มจาก 4.7 ล้านคนเมื่อช่วงไตรมาส 1/63 กระโดดเป็นเท่าตัวเป็น 9.7 ล้านคนเมื่อช่วงไตรมาส 2/63 และปรับลดเหลือ 7.8 ล้านคนในไตรมาส 3/63 หลังจากรัฐบาลเร่งอัดฉีดเงินช่วยเหลือเข้าสู่ระบบ

 

ถ้าไม่กู้เศรษฐกิจ คนจนจะเจ็บที่สุด

รายงานของธนาคารโลกยังระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาของภูมิภาคนี้ต้องเจอผลกระทบแบบ “คูณสาม” ตั้งแต่การเกิดโรคระบาด นโยบายจำกัดการระบาด และภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ดังนั้น จึงออกคำแนะนำว่าควรปฏิรูปนโยบายประเทศเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนจนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

ภาพจากสนามบินดอนเมืองเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 63 : การท่องเที่ยวที่ซบเซาเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตกต่ำ (photo : shutterstock)

“ขณะที่ผลการทำลายสุขภาพของ COVID-19 มีการรับรู้ร่วมกันในสังคม แต่สิ่งที่สังคมตระหนักถึงน้อยกว่าคือผลที่เกิดกับเศรษฐกิจในวันนี้ และการเติบโตในวันพรุ่งนี้จะขึ้นอยู่กับไวรัสน้อยกว่านโยบายภาคปฏิบัติของรัฐบาล” Aaditya Mattoo หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ธนาคารโลกกล่าว

“หากไม่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะลดน้อยลงปีละ 1% ต่อเนื่องไปตลอด 10 ปีข้างหน้า และผลกระทบจะเกิดหนักที่สุดในกลุ่มคนจน” Mattoo กล่าวเสริม

เขากล่าวด้วยว่า หลายประเทศของภูมิภาคนี้ประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา และรัฐบาลมีการให้เงินช่วยเหลือทั้งภาคครัวเรือนและบริษัทเอกชน แต่พวกเขาจะฟื้นตัวเติบโตได้อย่างยากลำบาก

รายงานแนะนำว่าประเทศเอเชียแปซิฟิกควรมีระบบตรวจโรค ติดตามโรค และสถานที่กักตัวไว้พร้อมเผื่อเกิดการระบาดซ้ำอีกครั้ง มีการเปิดโรงเรียนที่มีมาตรการความปลอดภัย และสร้างระบบแจกจ่ายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพเตรียมไว้

ในด้านเศรษฐกิจ แนะนำให้รัฐบาลขยายฐานภาษีเพื่อป้องกันการกู้ยืมเงินเกินตัว และติดอาวุธคนทำงานให้ใช้เทคโนโลยีเมื่อมีโรคระบาดเป็นตัวเร่ง ส่วนการสนับสนุนบริษัทเอกชนเป็นเรื่องจำเป็นเช่นกันเพื่อป้องกันการล้มละลายและการปลดคนงาน แต่บริษัทที่ได้รับการสนับสนุนต้องมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในอนาคตด้วย

Source