ผลวิจัยล่าสุดของ ‘เซลล์ฟอร์ซ’ เผย ‘ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน’ ยังคงเป็นหัวใจหลักสำหรับการพัฒนากลยุทธ์ทางการขาย

เซลล์ฟอร์ซ (NYSE: CRM) ผู้นำด้านการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ระดับโลก เผยรายงานผลสำรวจ State of Sales ฉบับที่ 4  ที่ให้ข้อสรุปถึงการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การขายภายใต้สถานการณ์การระบาดระดับโลกที่เกิดขึ้น โดยพบว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านการขายในประเทศไทย มีการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า และเพื่อตอบโจทย์ความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที

ในปัจจุบัน ถึงแม้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการขายยังคงต้องมุ่งหน้ากระตุ้นยอดขายให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ยังต้องมีการปรับตัวเข้าหาการใช้กลยุทธ์ทางการขายรูปแบบใหม่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในเชิงดิจิทัลมากยิ่งขึ้น โดยจากรายงานของเซลล์ฟอร์ซ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยกว่า 80% ระบุว่า การวัดค่าความสำเร็จในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามแนวโน้มหรือเทรนด์ของเศรษฐกิจโลก และยังคาดการณ์ว่าบทบาทของพวกเขาจะเปลี่ยนไปอย่างถาวรเช่นเดียวกัน

สำหรับรายงาน State of Sales ฉบับที่ 4 นี้ เซลล์ฟอร์ซได้ รวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการขายเกือบ 6,000 คน ทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมทั้งหมด 5 ทวีป เพื่อสำรวจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตการณ์การระบาดของโรคโควิด-19

มร. สุจิธ อับบลาฮัม, รองประธานอาวุโส ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคอาเซียน, เซลส์ฟอร์ซ กล่าวว่า“จากวิกฤตการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการขายในประเทศไทยต้องกลับมาคิดทบทวนถึงวิธีการดำเนินงานรูปแบบใหม่อีกครั้ง เพื่อสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับเทรนด์ของธุรกิจในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ ไปจนถึงกลยุทธ์ที่ใช้ปฏิบัติ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในช่วงวิกฤตดังกล่าว ทั้งนี้ ด้วยข้อมูลเชิงลึกจากรายงาน State of Sales ฉบับที่ 4 ในปีนี้ของเซลล์ฟอร์ซ จะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการขายและผู้นำทางธุรกิจต่าง ๆ สามารถก้าวข้ามผ่านความท้าทายในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจนี้ไปได้อย่างรวดเร็วและมั่นคง”

เทรนด์สำคัญในรายงาน State of Sales เป็นการรวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการขายที่ประกอบไปด้วย ผู้ดำเนินการขาย ตัวแทนฝ่ายขาย และหัวหน้าฝ่ายขาย โดยผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด มีทั้งนักการขายจากบริษัท B2B และ B2B2C ทั่วทั้งอเมริกาเหนือ เอเชียแปซิฟิก ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมไปถึงผู้ตอบแบบสอบถามจากประเทศไทยทั้งหมด 200 คน ซึ่งได้ผลจากการสำรวจ ดังนี้

  • ตัวแทนฝ่ายขายเริ่มปรับเปลี่ยนกลยุทธ์สำหรับแนวการขายรูปแบบใหม่: ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของการทำธุรกิจ กลยุทธ์ทางการขายได้ถูกพัฒนาให้สอดคล้องไปกับตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคมาโดยตลอด และสืบเนื่องจากผลกระทบอย่างรุนแรงและรวดเร็วจากเหตุการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้นักการขายทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ที่กว่า 96% ระบุว่า พวกเขาต้องรีบปรับตัวและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขายเพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยนอกจากนี้ ยังพบอีกว่า กว่า 80% ของนักการขายไทย คาดว่าบทบาทของพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร เนื่องมาจากแนวโน้มทางเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน
  • ตำแหน่งผู้ดำเนินการขายจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น: ฝ่ายปฏิบัติการ ถือเป็นหัวใจหลักของงานฝ่ายขายมาโดยตลอด ซึ่งในปัจจุบัน หน้าที่ดังกล่าวเริ่มมีบทบาทและมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยพบว่า พนักงานขายจากประเทศไทยกว่า 98% มีความเห็นตรงกันว่า ฝ่ายขายมีกลยุทธ์ในการดำเนินงานมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประสิทธิภาพในด้านการดำเนินงาน การตัดสินใจ และการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ในหลาย ๆ บริษัท เริ่มหันมาใช้ประโยชน์จากความสามารถและทักษะของพนักงานฝ่ายขายมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการสนับสนุนกลยุทธ์ทางการขายเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยกำหนดกลยุทธ์ได้อีกด้วย
  • ผู้นำมุ่งหน้าปรับตัวเพื่อการฟื้นตัวและเติบโตอย่างต่อเนื่องขององค์กร : การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ผู้นำทางฝ่ายขายต้องหันกลับมาคำนึงถึงเทคโนโลยีและความต้องการของพนักงานเป็นหลัก เพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจาก 97% ของพนักงานขายในประเทศไทย ระบุว่า พวกเขามีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การทำงานเชิงดิจิทัลอย่างรวดเร็วตั้งแต่ในช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ในขณะการจัดทำงบประมาณช่วงต้นปี นักการขายบางส่วนสามารถคาดการณ์ได้ถึงวิกฤตทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันผู้นำหลายคนต่างยอมรับว่ายังไม่พร้อมรับมือสำหรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ นอกจากนี้ 93% ของนักการขายในประเทศไทย ยังระบุว่า องค์กรของพวกเขาสามารถปรับปรุงทักษะการทำงานของพนักงานในองค์กรให้สอดรับกับสถานการณ์นี้ได้ ซึ่งสอดคล้องไปกับอีก 91% ที่มีความเห็นตรงกันเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในองค์กรเพื่อต่อยอดความสามารถทางธุรกิจ