‘ช้อปปี้’ และ ‘วีซ่า’ ประกาศแผนความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระยะเวลา 5 ปี พร้อมเดินหน้าปลดล็อคศักยภาพเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

‘ช้อปปี้’ ผู้นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน และ ‘วีซ่า’ ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลกประกาศแผนความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระยะเวลา 5 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความอุ่นใจให้กับผู้ใช้งานช้อปปี้ในการจับจ่ายและชำระเงินผ่านระบบของวีซ่า อีกทั้งยังมาพร้อมกับสิทธิประโยชน์และโปรโมชั่นอีกมากมาย ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของช้อปปี้ ที่มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของภาคประชาชนและภาคธุรกิจด้วยเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ภายใต้ข้อตกลงในระดับภูมิภาคระหว่างสองพันธมิตร ‘ช้อปปี้’ และ ‘วีซ่า’ มีพันธกิจร่วมกันดังนี้

  • สนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ปรับตัวเข้าสู่การทำธุรกิจบนโลกดิจิทัลได้อย่างยั่งยืนบนแพลตฟอร์มช้อปปี้ พร้อมใช้ระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลของวีซ่าควบคู่กัน
  • จัดโปรแกรมส่งเสริมการขายและแคมเปญการตลาด ที่จะช่วยเพิ่มการรับรู้ (Awareness) ยอดขาย (Sales) และยอดผู้เข้าชมร้านค้า (Traffic) ให้แก่ร้านค้าในช่องทางออนไลน์
  • เปิดตัวบัตรเครดิตร่วมภายใต้การผนึกกำลังกับธนาคารชั้นนำในประเทศ
  • มอบทางเลือกในการชำระเงินวีซ่า ที่รวดเร็ว ง่าย และปลอดภัย ให้แก่ผู้ใช้งานช้อปปี้ทุกคน
  • สร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งสุดเอ็กซ์คลูซีฟให้กับผู้ใช้งานช้อปปี้ ด้วยสิทธิประโยชน์จากวีซ่า

ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้ช้อปปี้มอบประสบการณ์การใช้งานที่คุ้มค่า สะดวกสบาย และปลอดภัยให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผ่านระบบการชำระเงินของวีซ่า ซึ่งจะช่วยให้การทำธุรกรรมต่างๆ เป็นไปได้อย่างสะดวกสบายนำไปสู่การเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจของผู้ประกอบการในขณะเดียวกัน วีซ่าจะใช้โอกาสจากความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อขยายจำนวนผู้ใช้งานไปยังกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มนักช้อปออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นผ่านฐานผู้ใช้งานที่มีอย่างมหาศาลบนแพลตฟอร์มช้อปปี้

เทอเรนซ์ แพง ประธานฝ่ายปฎิบัติการ ช้อปปี้กล่าวว่า “ที่ช้อปปี้ เรามุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างระบบนิเวศน์อีคอมเมิร์ซของเราให้มีความพร้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน โดยเราได้ทำงานร่วมกับวีซ่า อย่างใกล้ชิด เพื่อนำระบบเครือข่ายที่กว้างขวางและปลอดภัยมาช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวเข้าสู่การทำธุรกิจบนโลกดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ประกอบการที่อยู่นอกเมืองและพื้นที่ห่างไกล ในขณะที่กลุ่มผู้ซื้อเองยังจะได้รับประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ดียิ่งขึ้น สะดวกสบายยิ่งขึ้น ผ่านสิทธิพิเศษต่างๆ ที่จะช่วยจูงใจในการจับจ่ายและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในองค์รวม ซึ่งช้อปปี้จะยังคงเดินหน้าสานต่อพันธกิจในฐานะแพลตฟอร์มที่มีต้นกำเนิดในภูมิภาคนี้เพื่อผู้คนในภูมิภาคนี้ และปลดล็อคศักยภาพของโลกดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีต่อไป”

นีล มัม หัวหน้าฝ่าย Merchant Sales & Acquiring ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก วีซ่า กล่าวว่า “การที่ธุรกิจขนาดเล็กเดินหน้าปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลนั้นเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสการค้าและการขยายตัวทางธุรกิจ ในปัจจุบันวีซ่ามุ่งเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการทุกขนาดไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ และที่ใดในโลก ให้เข้าถึงลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านการให้บริการระบบชำระเงินแบบดิจิทัลที่ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการหันมาพึ่งระบบการชำระเงินแบบไร้การสัมผัส รวมไปถึงจับจ่ายใช้สอยบนช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความร่วมมือกับช้อปปี้ในครั้งนี้นับเป็นย่างก้าวที่สำคัญของวีซ่าที่ตอกย้ำให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันแรงกล้าที่มีต่อผู้ประกอบการขนาดเล็ก เพื่อให้ธุรกิจสามารถฟื้นฟูและเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

ในอีกหลายเดือนต่อจากนี้ ช้อปปี้และวีซ่าจะเปิดตัวบัตรเครดิตร่วมกับธนาคารชั้นนำในแต่ละประเทศ โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ช้อปปี้ (ประเทศไทย) และ วีซ่า ได้จับมือกับธนาคารกสิกรไทย เปิดตัวบัตรเครดิต ‘กสิกรไทย-ช้อปปี้ วีซ่า แพลทินัม การ์ด เชื่อมมิติทุกการช้อป’โดยบัตรเครดิตนี้ชูจุดเด่นในเรื่องของสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมและการใช้งานที่สะดวกสบายเพื่อเตรียมความพร้อมเหล่านักช้อปเข้าสู่มหกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์ในช่วงปลายปี โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยให้วีซ่าสามารถเข้าถึงและขยายฐานผู้ใช้ในประเทศไทยได้มากขึ้น

ความร่วมมือในครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้ ช้อปปี้สามารถเข้าถึง CyberSource บริการชำระเงินแบบครบวงจรในเครือของวีซ่า ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของขั้นตอนการประมวลผลธุรกรรมและตรวจจับการฉ้อโกง เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับนักช้อปว่าจะได้รับประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์ที่ไร้รอยต่อและสะดวกสบายสูงสุด

ภายในพ.ศ. 2573 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะก้าวสู่การเป็นภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ด้วยอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจดิจิทัล และมีการคาดการณ์ว่าภายในพ.ศ. 2568 เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแตะ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอีคอมเมิร์ซจะเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดและเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก นอกจากนี้ตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังได้ถูกคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่ามากถึง 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน พ.ศ. 2568 ซึ่งเติบโตขึ้นจาก พ.ศ. 2561 ที่มีมูลค่า 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[1]

ด้วยจำนวนของประชาชนรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจในเทคโนโลยีที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกันการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง และการเปลี่ยนสู่การบริการรูปแบบออนไลน์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในพ.ศ. 2558 มีจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าออนไลน์อยู่เพียง 49 ล้านคน ซึ่งจำนวนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเป็น 150 ล้านคนในพ.ศ. 2562 โดยที่มากกว่า 70% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ในภูมิภาค เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีบัญชีธนาคารหรือไม่สามารถเข้าถึงการบริการทางธนาคารได้[2]ดังนั้นการนำระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลมาใช้งานจึงช่วยผลักดันให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในเศรษฐกิจยุคดิจิทัลมากยิ่งขึ้น

ในฐานะผู้นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน ช้อปปี้ จะยังคงใช้ความชำนาญและความเป็นเลิศเพื่อส่งเสริมให้นักช้อป ผู้ประกอบการ และแบรนด์พันธมิตร สามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งในไตรมาสที่ 1 ของปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ช้อปปี้ได้รับความนิยมและเติบโตขึ้นอย่างมาก อ้างอิงสถิติจาก App Annie ที่ชี้ว่าช้อปปี้ครองความแอปพลิเคชันอันดับหนึ่งในหมวดหมู่ช้อปปิ้ง ด้วยยอดผู้ดาวน์โหลดและยอดผู้ใช้งานรายเดือน (Monthly Active Users) รวมไปถึงระยะเวลาที่ผู้ใช้งานใช้แอปลิเคชั่นบนแอนดรอยด์ที่มากที่สุด

[1]อ้างอิงจาก บทความ “Internet economy.” https://www.blog.google/documents/47/SEA_Internet_Economy_Report_2019.pdf. ข้อมูล ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2563

[2]อ้างอิงจากบทความ “Fulfilling Southeast Asia’s Digital Financial Services Promise ….” ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2019, https://www.bain.com/insights/fulfilling-southeast-asias-digital-financial-services-promise/. ข้อมูล ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2563