GIT และ มศว ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ พร้อมเตรียมจัดประชุม Entrepreneurial Conference on Innovation for Smart Jewelry

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandums of Understanding) ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เพื่อช่วยยกระดับและพัฒนาบุคลากรในด้านระบบการศึกษา การเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ พร้อมเป็นแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่คณาจารย์ บุคลากร และนิสิต-นักศึกษาเพื่อสามารถนำไปปฏิบัติงานได้จริง รวมถึงสร้างความเข้มแข็งในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้เป็นระบบสากล โดยเตรียมจัดกิจกรรมแรกหลังร่วมลงนามอย่างเป็นทางการ คือ การจัดประชุมวิชาการ Entrepreneurial Conference on Innovation for Smart Jewelry หรือ ECI for Smart Jewelry ระหว่างวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2563

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เผยว่า “สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับตลาดจิวเวลรี่ไทย โดยทาง GIT ในฐานะตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐได้ให้การสนับสนุนหลักในด้านงบประมาณเพื่อการดำเนินโครงการ พร้อมทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อขยายต่อผลงานวิจัยในระดับสถาบันการศึกษาไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในระดับประเทศและนานาชาติโดยวางรูปแบบการทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน เพื่อช่วยกระตุ้นตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ส่งเสริมการขาย การจ้างงาน และอื่นๆ เนื่องจากเรามองว่าอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยถือเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี”

“นอกจากนี้ยังเป็นการร่วมมือกันพัฒนาบุคลากรในด้านระบบการศึกษาการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการของไทยให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ได้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอัญมณีและเครื่องประดับที่ช่วยในการพัฒนาและต่อยอดแนวความคิดสู่การปฏิบัติจริงอีกด้วย”

โดยมีขอบเขตของความร่วมมือ ดังนี้

  1. การแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อให้มีการพัฒนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของฐานความรู้ระหว่าง สวอ.กับ มศว
  2. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับระบบมาตรฐานของกระบวนการทำงานเพื่อการพัฒนายกระดับสู่องค์กรสากลซึ่งกิจกรรมแรกที่จะเกิดขึ้นเป็นการจัดประชุมทางวิชาการECI for Smart Jewelry
  3. การฝึกประสบการณ์เพื่อพัฒนาประสบการณ์ทางวิชาการและทักษะการทำงานให้แก่นิสิต นักศึกษา ในกิจกรรม อาทิ ฝึกงาน สหกิจศึกษา เป็นต้น
  4. การร่วมมือทำงานวิจัยและการใช้ทรัพยากรในการวิจัยร่วมกัน เพื่อสร้างโจทย์นวัตกรรม และการนำงานนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ระหว่าง สวอ.กับ มศว และความร่วมมืออื่นๆในอนาคต เพื่อส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของสองสถาบัน และส่งเสริมความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมอัญมณี

รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกล่าวถึงความพร้อมของการจัดประชุมเชิงวิชาการฯ ในครั้งนี้ว่า “ในฐานะที่ มศว เป็นผู้นำในการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรอัญมณีและเครื่องประดับที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง เราพร้อมประกาศจุดยืนในเรื่องงานวิจัยเกี่ยวกับสมาร์ทจิวเวลรี่โดยได้เตรียมความพร้อมในการกำหนดทิศทางและแนวคิดหลักของการจัดการประชุมเชิงวิชาการEntrepreneurial Conference on Innovation for Smart Jewelry หรือ ECI for Smart Jewelry ครั้งนี้ รวมถึงระดมผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิวเวลรี่จากหลากหลายวงการมาร่วมแสดงความคิดเห็นในด้านต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมอัญมณีไทยเกิดการตื่นตัว ปรับตัว ก้าวตาม และนำเทรนด์สู่โลกอนาคตอย่างยั่งยืน และสอดรับกับกระแสความต้องการของผู้บริโภค”

ปัจจุบันตลาดอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทยที่มีรากฐานจากธุรกิจแบบ OEM ต่างได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จึงมีการปรับเปลี่ยนทิศทางและรูปแบบธุรกิจเพื่อให้เอื้อต่อสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ผ่านการทำสินค้าที่มีลักษณะการใช้งานแบบFunctional Jewelry ที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในยุคนิวนอร์มอลเพื่อสนองต่อผู้บริโภค มากไปกว่าการสวมใส่เพื่อความสวยงามหรือแสดงสถานะของผู้สวมใส่เพียงอย่างเดียว

สำหรับการจัดการประชุมเชิงวิชาการ Entrepreneurial Conference on Innovation for Smart Jewelry หรือ ECI for Smart Jewelryเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจอัญมณีและกลุ่มธุรกิจอิเลคทรอนิกส์ร่วมด้วยสวอ.มศว และภาคเอกชน เพื่อช่วยในการพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพ ผ่านการเชื่อมต่อระหว่างอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน การคิดค้นวิจัยนวัตกรรมแนวทางใหม่ซึ่งจะเกิดเป็นแนวคิดและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มมูลค่าได้เป็นอย่างมากสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดในยุคดิจิตัล 4.0 และส่งผลทางมูลค่าเศรษฐกิจให้กับประเทศในระยะยาว ผ่านกิจกรรมการเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญชื่อดังด้านต่าง ๆ จากหลากหลายประเทศที่จะมาร่วมระดมความคิด ต่อยอดความรู้เพื่อสร้างการรับรู้แขนงใหม่ในวงการอัญมณีไทยให้มีรูปแบบต่างจากเดิม พร้อมมีผลการวิจัยใหม่ๆของสมาร์ทจิวเวลรี่มาจัดแสดงให้ได้ชมอย่างใกล้ชิด โดยมีกำหนดจัดงานในระหว่างวันที่ 3-4พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 นี้

สำหรับผู้ประกอบการด้านอัญมณีและเครื่องประดับ หรือผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมเชิงวิชาการฯนี้ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ทางอีเมล contact.kithai@gmail.comหรือลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้ทาง https://docs.google.com/forms/d/11Aqe0AY7t9mxWVToX9tUK44JPlUWeSaH2KMWnGP0IJg/edit