กำไร “แบงก์ไทย” ลดฮวบ คาดไตรมาส 3 หดตัวลึก -66.5% หาย 6 หมื่นล้าน สิ้นปี “ทรุดกว่า”

ธนาคารพาณิชย์ในไทย เจอพิษ COVID-19 ไตรมาส 3 ปีนี้ คาดกำไรสุทธิหดตัวลึก -66.5% หรือลดฮวบลงกว่า 6 หมื่นล้านบาท มองไตรมาสสุดท้าย “ทรุดหนักกว่า” จากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว คุณภาพหนี้แย่ลง หาทางรับมือหลังหมดมาตรการ “พักหนี้”

จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ยังคงกดดันความสามารถในการ “ทำกำไร” ของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/2563 โดยรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียม มีแนวโน้มลดลงตามการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในหลายๆ ภาคส่วน นอกจากนี้ รายได้ดอกเบี้ยของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ยังได้รับผลกระทบมากขึ้น จากทิศทางขาลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ด้วย

กำไร “เเบงก์ไทย” ลดฮวบ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ ถึงผลประกอบการระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ในไตรมาส 3 /2563 โดยคาดว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ จะยังเผชิญแรงกดดันต่อเนื่อง แม้ระดับกำไรสุทธิอาจจะขยับขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563

โดยคาดว่า กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทย ในไตรมาส 3/2563 จะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.08 หมื่นล้านบาท หรือ -66.5% YoY เมื่อเทียบกับที่มีกำไรสุทธิสูงถึง 9.16 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3/2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง มีกำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัทประกันซึ่งธนาคารถือหุ้นอยู่

อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิที่ระดับดังกล่าวขยับขึ้นเล็กน้อยประมาณ 3.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ ในไตรมาส 3/2563 ของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งอาจชะลอลงบางส่วน หลังจากที่มี
นโยบายการตั้งสำรองฯ เชิงรุกในระดับที่สูงมากในไตรมาส 2/2563 ที่ผ่านมา

ขณะที่ “รายได้จากธุรกิจหลัก” ยังคงไม่ฟื้นตัวขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ที่โดนกระทบหนักจากวิกฤต COVID-19

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 4/2563 คาดว่า การประคองทิศทางรายได้และกำไรสุทธิ จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น เนื่องจากต้องรับมือกับการจัดการปัญหาหนี้เสีย การดูแลปรับโครงสร้างลูกหนี้ ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ และอื่นๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นไปพร้อมกัน

Photo : Shutterstock

สินเชื่อ ชะลอตัว – NIM ปรับลด – คุณภาพหนี้แย่ลง

KBANK มองว่า “สินเชื่อ” ของธนาคารพาณิชย์ไทย อาจเติบโตในอัตราที่ชะลอลงมาที่ 4.5-4.8% YoY ในไตรมาส 3/2563 จาก 5.1% YoY ในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากยังต้องประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าที่มาขอสินเชื่อใหม่อย่างระมัดระวัง ประกอบกับมีการทยอยชำระคืนสินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่บางราย

ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนว่าหลังจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินทยอยครบกำหนดลง มีลูกหนี้ธุรกิจและรายย่อยบางส่วนเริ่มกลับมาชำระคืนหนี้ในช่วงไตรมาส 3/2563 นี้ด้วยเช่นกัน

โดย NIM ไตรมาส 3/2563 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.65-2.70% จาก 2.73% ในไตรมาส 2/2563 เป็นผลต่อเนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงก่อนหน้านี้ ประกอบกับสินเชื่อปล่อยใหม่ส่วนใหญ่ รวมถึงสินเชื่อรีไฟแนนซ์ในระยะนี้ เป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำลง นอกจากนี้ เพดานใหม่สำหรับดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ก็เริ่มมีผลบังคับแล้ว ตั้งแต่เดือนส.ค. 2563 ที่ผ่านมา

ด้าน “คุณภาพสินเชื่อ” ในพอร์ตถดถอยลง ตามสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจ คาดว่า สัดส่วน NPLs ของระบบธนาคารไทยในไตรมาส 3/2563 จะขยับขึ้นไปที่กรอบประมาณ 3.25-3.35% จากระดับ 3.21% ในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของมาตรการพักชำระหนี้ของภาคธุรกิจ ประกอบกับคาดว่า ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะเร่งจัดการปัญหาหนี้เสียในเชิงรุกมากขึ้น ทั้งด้วยวิธีการตัดขายหนี้ด้อยคุณภาพ และเร่งปรับโครงสร้างหนี้

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การตั้งสำรองฯ จะยังอยู่ในระดับสูงในไตรมาส 3/2563 แม้จะมีการตั้งสำรองฯ ก้อนใหญ่ไปแล้วในไตรมาส 2/2563 ดังนั้นสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit Cost) อาจชะลอลงเล็กน้อยมาอยู่ในกรอบประมาณ 1.80-1.95% ในไตรมาส 3/2563 เทียบกับ 2.15% ในไตรมาส 2/2563

“ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ คงเตรียมความพร้อมในส่วนนี้ไว้เพื่อรองรับปัญหาคุณภาพหนี้ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทยอยสิ้นสุดลงหลังในเดือนตุลาคมนี้” 

โจทย์ยาก เมื่อ SMEs หมดมาตรการ “พักหนี้”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เมื่อจบไตรมาส 3/2563 สินเชื่อที่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์จะมีสัดส่วนประมาณ 28.5% ต่อสินเชื่อรวม ลดลงเล็กน้อยจากสัดส่วนประมาณ 31.0% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากลูกหนี้บางส่วนกลับมาชำระคืนหนี้ได้ตามปกติหลังมาตรการช่วยเหลือรอบแรกทยอยสิ้นสุดลง

“การประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้บุคคลและลูกหนี้ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs หลังจากมาตรการพักหนี้สิ้นสุดลง ยังคงเป็นโจทย์ยากและมีความท้าทายสำหรับธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังมีสถานะทางการเงินที่เปราะบาง ขณะที่สัญญาณอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่ลากยาวต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ได้อีกในอนาคต” 

ดังนั้น แม้มาตรการพักชำระหนี้ธุรกิจเป็นการทั่วไปจะทยอยสิ้นสุดลง แต่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะยังคงให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้ทั้งลูกหนี้ธุรกิจและลูกหนี้รายย่อยในรูปแบบอื่นต่อไป ควบคู่ไปกับการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ตามแนวทางของธนาคาร หรือผ่านโครงการ DR BIZ มาตรการรวมหนี้ ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 ซึ่งยังสามารถเข้าโครงการได้จนถึงสิ้นปี 2563

โดยหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาความสอดคล้องกันระหว่างกระแสรายได้-ภาระหนี้ ซึ่งแยกตามลักษณะของลูกหนี้แต่ละกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและมีจังหวะและโอกาสในการฟื้นธุรกิจแตกต่างกัน

Photo : Shutterstock

ไตรมาสสุดท้าย “ทรุดหนักกว่า” 

การประคองความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ยังคงมีความท้าทายไม่น้อยไปกว่าหลายๆ ไตรมาสที่ผ่านมา เพราะแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทยอยกลับมาหลังการคลายล็อกดาวน์ แต่ก็เป็นการฟื้นตัวที่เปราะบางมากเพราะแรงขับเคลื่อนพื้นฐานของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและท่องเที่ยว ยังไม่สามารถฟื้นกลไกการทำงานกลับมาได้อย่างเต็มที่

“ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะยังเป็นช่วงที่ธนาคารมีค่าใช้จ่ายรวมสูงกว่าไตรมาสอื่นๆ เพราะมีทั้งค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ที่น่าจะยังอยู่ในระดับสูง ค่าแคมเปญการตลาด ค่าอุปกรณ์และสถานที่ และรายจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งท้ายที่สุด คาดว่าจะมีผลกดดันให้กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยติดลบ YoY ต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 โดยระดับกำไรสุทธิมีแนวโน้มลดต่ำลงกว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 3/2563 ซึ่งคาดไว้ที่ประมาณ 3.08 หมื่นล้านบาท”