สงครามยังไม่จบ! ยุโรปบางส่วน “ล็อกดาวน์” อีกรอบ หลังอัตราติดเชื้อไวรัสโคโรนาสูงขึ้น

บรรยากาศสะพานชาร์ลส สาธารณรัฐเช็ก เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2020 ขณะนี้เช็กกลายเป็นประเทศแถบยุโรปเบอร์ต้นๆ ที่ผู้ติดเชื้อ COVID-19 กลับมาพุ่งขึ้นสูงอีกครั้ง (Photo : Shutterstock)
บางประเทศในยุโรปเริ่มออกมาตรการกึ่ง “ล็อกดาวน์” อีกรอบ หลังจากการระบาดรอบสองเริ่มเกิดขึ้นทั่วทวีปในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา และเริ่มเพิ่มอัตราติดเชื้อไวรัสโคโรนาสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยและผู้มีความเสี่ยงสูง ทำให้อัตราเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นในระดับน่าวิตก

ประเทศในทวีปยุโรปทั้งหมดยกเว้นไซปรัส ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ มีอัตราติดเชื้อไวรัสโคโรนาสูงขึ้นในระดับที่ ECDC (ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคยุโรป) ต้องแจ้งเตือนภัย โดยระดับที่จะถือว่ามีความเสี่ยงสูงคือ เมื่อมีการรายงานเคสติดเชื้อในอัตรามากกว่า 20 รายต่อประชากร 1 แสนคน เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน

ECDC แจ้งเตือนในรายงานเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2020 ว่า ทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อใน 27 ประเทศของยุโรปกำลังพุ่งสูงขึ้น ในหลายประเทศยังพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อวันมากกว่ายิ่งกว่าช่วงฤดูใบไม้ผลิที่เพิ่งเกิดการระบาดของ COVID-19 ได้แก่ ฝรั่งเศส สเปน สาธารณรัฐเช็ก และอังกฤษ (ทั้งนี้ มีปัจจัยที่พึงตระหนักด้วยว่า เครื่องมือและระบบการตรวจผู้ติดเชื้อดีขึ้นกว่าในช่วงเริ่มต้นการระบาด)

ในทุกประเทศของยุโรป ประเทศที่กำลังเผชิญสถานการณ์เลวร้ายที่สุดคือ สาธารณรัฐเช็ก ภายในสัปดาห์เดียวเช็กรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 22,179 ราย และมีผู้เสียชีวิต 158 ราย จากจำนวนประชากรของประเทศ 10.5 ล้านคน ทำให้เช็กต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรอบสองไปตั้งแต่วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2020 โดยคาดว่าจะคงคำสั่งนี้ไว้อย่างน้อย 30 วัน ทำให้ชาวเช็กต้องกลับมาเว้นระยะห่างทางสังคมอีกครั้ง มีการปิดโรงเรียนในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อสูง ห้ามให้มีผู้ชมในสนามแข่งกีฬา และจำกัดจำนวนคนในงานแต่งงาน

ประเทศเช็กเพิ่งจะจัดงานเลี้ยงอำลา COVID-19 บนสะพานชาร์ลส สัญลักษณ์ของประเทศ ไปเมื่อช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้เอง โดยขณะนั้นเช็กยังถือว่ามีอัตราการติดเชื้อต่ำ แต่ขณะนี้แม้แต่ อังเดรจ บาบิช นายกรัฐมนตรีเช็กยังเอ่ยปากว่า เขาตัดสินใจผิดที่ยกเลิกมาตรการป้องกันไวรัสโคโรนาเร็วเกินไป

บรรยากาศการแจกหน้ากากอนามัยที่ป้ายรถเมล์ในเมืองบาเลนเซีย ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 63 หลังจากรัฐบาลสเปนประกาศผ่อนคลายการล็อกดาวน์ ให้กิจการบางประเภทกลับมาทำการได้ เช่น ไซต์ก่อสร้าง โรงงานผลิต (photo: Rober Solsona/Europa Press via Getty Images)

อีกประเทศที่มีการใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์อีกรอบคือ สเปน โดยเน้นหนักในมาดริด เมืองหลวงของประเทศ มีการจำกัดให้ประชาชนเดินทางเข้าออกมาดริดได้เฉพาะที่จำเป็น หลังจากสเปนมีผู้ติดเชื้อเพิ่มเกือบ 10,000 เคสต่อวัน

ด้านปารีส เมืองหลวงประเทศ ฝรั่งเศส ประกาศเข้าสู่ “การเตือนภัยขั้นสูงสุด” ในวันเดียวกับประเทศเช็ก เนื่องจากเตียงฉุกเฉินในโรงพยาบาลมีการเข้าใช้เป็นสัดส่วนถึง 30% แล้ว ระดับการเตือนภัยขั้นสูงสุดนี้นำมาซึ่งคำสั่งปิดร้านคาเฟ่และบาร์ในปารีสอีกครั้ง หลังจากนั้นเพียงวันเดียว อัตราใช้เตียงฉุกเฉินในโรงพยาบาลก็เพิ่มระดับเป็น 40%

บรัสเซลส์ เมืองหลวงของ เบลเยียม ซึ่งเป็นเมืองอันดับ 2 รองจากมาดริดที่มีอัตราส่วนผู้ติดเชื้อต่อประชากรสูงที่สุดในยุโรป เริ่มประกาศในวันที่ 7 ตุลาคม 2020 ว่าจะมีการปิดบาร์และคาเฟ่เป็นเวลา 1 เดือน

ล่าสุด สก็อตแลนด์ มีคำสั่งวันที่ 9 ตุลาคม 2020 ปิดผับในย่านกลางเมืองทั้งหมด และประกาศเคอร์ฟิวหลังเวลา 18.00 น.ในพื้นที่อื่นๆ โดยคำสั่งนี้จะดำเนินการนาน 16 วันจนถึงวันที่ 25 ตุลาคมนี้ นอกจากนี้ ยังสั่งยกเลิกการสอบระดับชาติของนักเรียนมัธยมไปก่อน

“ศัตรูของเรายังไม่พ่ายแพ้” คือคำกล่าวของ จูเซปเป้ กองเต้ นายกรัฐมนตรีอิตาลี เมื่อสุดสัปดาห์ก่อน เขาร้องขอให้ชาวอิตาเลียนระมัดระวังตัว เพื่อที่อิตาลีจะไม่ต้องกลับไปใช้วิธีการสกัดการระบาดที่เข้มข้นอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้ อิตาลีเคยเป็นศูนย์กลางการระบาดของ COVID-19 ในยุโรป และเป็นประเทศแรกของโลกที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศเมื่อเดือนมีนาคม 2020

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่ถ้ามองในแง่ดีคือยุโรปมีระบบรับมือที่ดีขึ้น และสถานการณ์ไม่เลวร้ายเท่ากับช่วงฤดูใบไม้ผลิที่การระบาดเกิดขึ้นใหม่ๆ แต่ก็ต้องมีมาตรการเหล่านี้เพื่อสกัดไม่ให้ COVID-19 ระบาดไปสู่ประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงวัย ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถรับผู้ป่วยได้ไหว

Source : Forbes, BBC, Aljazeera