สำรวจการจับจ่ายชาวจีนช่วง ‘Golden Week’ ยังคง ‘เติบโต’ แม้ ‘คนจน’ จะเพิ่มขึ้น

(Photo by Getty Images)

ผ่านไปแล้วสำหรับช่วง ‘Golden Week’ หรือวันหยุดยาวของของจีน วันที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-8 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยหยุดยาว 7 วัน ก็เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักหลังจากเจอ COVID-19 ไป ซึ่งปกติแล้วช่วงหยุดยาวดังกล่าวชาวจีนส่วนใหญ่จะออกเดินทางไปต่างประเทศ แต่ปีนี้ไม่สามารถทำได้ จึงได้เห็นภาพการท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลภายในประเทศแทน

กระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุว่า ยอดขายโดยเฉลี่ยต่อวันสำหรับการค้าปลีก, อาหารและเครื่องดื่ม สูงกว่าวันหยุด Golden Week ของปีที่แล้ว 4.9% โดยมียอดขายรวมที่ 1.6 ล้านล้านหยวน (7.4 ล้านล้านบาท) ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวระบุว่า การเข้าชมของนักท่องเที่ยวในประเทศมีทั้งหมด 637 ล้านคนและการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวอยู่ที่ 466.56 พันล้านหยวน ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วที่มีผู้เข้าชม 782 ล้านคน และมีการใช้จ่าย 649.71 พันล้านหยวน

ขณะที่ยอดขายสินค้าปลอดภาษีในเกาะเขตร้อนของมณฑลไห่หนานเพิ่มขึ้นเกือบ 150% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าทั้งสิ้น 1.04 พันล้านหยวน (4.6 แสนล้านบาท) และมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% นอกจากนี้ นักช้อปชาวจีนยังซื้อสินค้าจากต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยยอดขายรวมบน Tmall Global ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหลักของอาลีบาบาในการซื้อสิ้นคาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 79% ในช่วง 7 วันแรกของเดือนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้าหลายชนิดเพิ่มขึ้น เช่น ราคาที่พักในโรงแรม, เครื่องใช้ในครัวเครื่องดนตรี และอุปกรณ์เสริมในรถยนต์ โดย Trip.com และ Ctrip ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมบริการเกี่ยวกับการเดินทางระบุว่า เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมามูลค่าสินค้ารวม (GMV) ของการจองโรงแรมเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า โดยโรงแรมระดับ 4 ดาวและ 5 ดาวคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของการจอง ขณะที่ผู้คนจำนวนมากขึ้นเลือกวันหยุดพักผ่อนที่ยาวนานขึ้นจำนวนแขกของโรงแรมที่เข้าพัก 7 วันติดต่อกันในช่วง Golden Week เพิ่มขึ้น 70% เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมจะดีดตัวขึ้น แต่ในส่วนของชาวเน็ตจีนที่มีรายได้ 2,000 หยวน (9,200 บาท) เพิ่มขึ้นเป็น 43.2% จากเดือนมีนาคมที่มี 39% ขณะที่ผู้มีรายได้ 1,000 หยวนหรือน้อยกว่าคิดเป็น 21% (4,600 บาท) สูงขึ้นกว่าเดือนมีนาคมเล็กน้อย ส่วนผู้ใช้ในกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า 8,000 หยวนขึ้นไป (36,000 บาท) ลดลงจาก 13.3% ในเดือนมีนาคมเป็น 11.5% ในเดือนมิถุนายน

“ข้อมูลแสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้บริโภคในประเทศเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกยังคงมีเงินสดไว้ใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนใหญ่มาจากชนชั้นกลางของจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจาก COVID-19 น้อยกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อย และตอนนี้กำลังจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยจำนวนมาก” Jianguang Shen หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ JD Digits กล่าว

Source