สำรวจพฤติกรรมเจนใหม่ ‘เช่าคอนโด’ ขอ 1 ห้องนอน ใกล้ที่ทำงาน ไม่เกิน 7,000

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า พฤติกรรมการออมเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต (precautionary saving) ที่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนหลังการระบาดของ COVID-19 สะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่เน้นเก็บออมในช่วงเวลาวิกฤตเนื่องจากยังกังวลต่อความไม่แน่นอน และเมื่อรวมกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องตามสภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ผู้บริโภคจึงหันมา เช่า แทน

ยอดขายอสังหาฯ หด 50%

แม้ว่าดัชนีราคาคอนโดมิเนียมลดลง 9% เมื่อเทียบกับปีก่อน เพราะผู้ประกอบการยังคงเร่งระบายสต๊อกสินค้า แต่จากผลสำรวจผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ พบว่า ยอดขายของผู้ประกอบการอสังหาฯ ส่วนใหญ่ลดลงกว่า 50% แถมยังมีผลกระทบต่อลูกค้าที่จองซื้อไปแล้วทั้งในเรื่องการถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อจากธนาคาร วงเงินที่ได้รับอนุมัติไม่เพียงพอ การขาดส่งเงินดาวน์ หรือลูกค้าขอชะลอการรับโอนกรรมสิทธิ์ออกไปเนื่องจากเห็นความไม่แน่นอนเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต

“เมื่อแผนการเงินของผู้บริโภคเปลี่ยน ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อการลงทุน หรือชะลอการขอสินเชื่อเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ก้อนใหญ่ออกไปก่อน ส่วนสถาบันการเงินเองก็มีมาตรการในการพิจารณาสินเชื่อที่รัดกุมขึ้นเพื่อป้องกันหนี้เสีย ดังนั้น การขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวจนกว่าจะมีวัคซีน” กมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าว

ไม่มีต่างชาติ แต่ยังมี คนรุ่นใหม่

แม้ชาวต่างชาติไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้เหมือนเดิมแล้ว หลายบริษัทยังจำเป็นต้องปรับลดงบประมาณการเช่าที่อยู่อาศัยสำหรับพนักงานต่างชาติลง แต่โอกาสในการปล่อยเช่านั้นจึงอยู่ที่วัยทำงานและนักศึกษามหาวิทยาลัย เนื่องจากวัยทำงานอาจยังไม่ต้องการใช้เงินก้อนใหญ่และการกู้ก็ค่อนข้างลำบาก ดังนั้นจึงต้องการหาที่อยู่อาศัยโดยไม่สร้างภาระผูกพันระยะยาว และมองว่าการเช่าพักมีความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะสามารถเก็บเงินสดไว้กับตัวเพื่อใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นด้านอื่นได้ นี่จึงเป็นโอกาสของตลาดอสังหาฯ สำหรับให้เช่า

ขนาด 1 ห้องนอน เป็นที่ต้องการที่สุด

จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดอสังหาฯ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study ฉบับล่าสุดพบว่า ปัจจุบันผู้บริโภคชาวไทยที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยเพื่อเช่า สนใจเลือกเช่าห้องที่มีขนาดกะทัดรัดเพื่อสร้างพื้นที่ส่วนตัว โดยอพาร์ตเมนต์/คอนโดฯ ขนาด 1 ห้องนอนเป็นที่นิยมมากที่สุด 40% ขณะที่ปัจจัยที่มีอิทธิพลในการนำมาพิจารณาเมื่อต้องเลือกเช่าอสังหาฯ อันดับแรก คือ โครงการที่มีทำเลใกล้กับที่ทำงาน 73% ตามมาด้วยความปลอดภัย 55% และความครบครันที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของทำเล 52% 

“คอนโดฯ ในทำเลต่าง ๆ ก็ยังมีโอกาสในการหาผู้เช่าใหม่ได้ ไม่จำกัดเฉพาะโครงการในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ เท่านั้น การทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคและศึกษาทิศทางตลาดอย่างต่อเนื่องก็ถือเป็นอีกเรื่องที่นักลงทุน/ผู้ให้เช่าอสังหาฯ ไม่ควรละเลยเช่นกัน”

สรรหาจุดเด่น สร้างจุดขายให้โดนใจผู้เช่า

นอกจากเรื่องทำเล ความปลอดภัย และบริการจากส่วนกลางแล้ว เจ้าของห้องอาจสร้างจุดขายที่แตกต่างได้ด้วยการลงทุนตกแต่งและปรับปรุงห้องโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้อยู่อาศัยผนวกเข้ากับเทรนด์ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ เช่น ติดตั้ง Digital Door Lock ที่เชื่อมต่อการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อเสริมความมั่นใจด้านความปลอดภัย เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีช่วยประหยัดพลังงาน หรือเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์แบบ Multi-Function เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและประหยัดพื้นที่ในการใช้งาน

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญในการตั้งราคา คือ อย่าลืมพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ส่งผลต่อกำลังซื้อ และการแข่งขันในตลาด ดังนั้น อาจปรับลดค่าเช่าหรือต่อรองเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและสภาพเศรษฐกิจ อาทิ ควรเลือกทำสัญญากับผู้เช่าในระยะสั้น ๆ เช่น ราคาโปรโมชันในช่วง 3 เดือนแรก เพื่อไม่ให้เป็นการปิดโอกาสสร้างกำไรในอนาคตหากตลาดอสังหาฯ เริ่มดีขึ้น ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจฯ ได้ระบุว่าพอใจที่จะจ่ายค่าเช่าประมาณ 6,645 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ การเช่าถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการเงินหมุนเวียน เพราะถ้าปล่อยห้องทิ้งไว้ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่ผู้ให้เช่าต้องรับผิดชอบเองอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นค่าส่วนกลาง ค่าบำรุงรักษา หรือค่าทำความสะอาดเพื่อป้องกันการเสื่อมโทรมของห้อง