จับกระเเส “ด้อมศิลปิน” เเฟนคลับเปย์หนัก เตรียมเท “ป้าย HBD” ตามสถานีรถไฟฟ้า

อย่างที่ทราบกันดีว่า เเฟนคลับศิลปินเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงเป็นผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย ไม่ได้จำกัดเเค่ในวัยรุ่นวัยเรียนเท่านั้น เเต่ยังครอบคลุมไปยังผู้คนทุกเจเนอเรชั่น หลากอาชีพ หลายรสนิยม

กลุ่มเเฟนคลับในไทยนั้น ช่วงเเรกๆ คนมักจะคิดถึงเเฟนคลับผู้ชื่นชอบศิลปินหรือไอดอลเกาหลีเป็นหลัก เเต่ทุกวันนี้ได้ขยายไปยังกลุ่มเเฟนคลับศิลปินจีน ญี่ปุ่น อาเซียน ศิลปินฝั่งตะวันตก เเละศิลปินไทยเองก็เริ่มมีกลุ่มผู้สนับสนุนที่เหนียวเเน่นเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

โดยแต่ศิลปินนั้นก็จะมีการตั้งชื่อกลุ่มแฟนคลับหรือที่เรียกกันว่า ด้อม ย่อมาจาก แฟนด้อม (Fandom) เป็นชื่อเฉพาะที่เเตกต่างกันไป เพื่อการสื่อสารเเละรวมกลุ่มเป็นหนึ่งเดียวกัน

ลงลึกไปกว่านั้นในด้อมต่างๆ ก็จะมีกลุ่มที่เรียกว่าบ้านเบสเป็นศัพท์ในทวิตเตอร์ หมายถึงกลุ่มเเฟนคลับที่รวมตัวกันขึ้นมาของศิลปินนั้นๆ ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์กิจกรรม เผยเเพร่ผลงาน รูปถ่าย-คลิปวิดีโอ ขายของที่ระลึก เเปลซับไตเติล ฯลฯ

โดยบ้านเบส จะเป็นเเกนนำในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เวลาศิลปินมีผลงานใหม่ ก็จะมีการเปิดโดเนท” (Donate) ให้เเฟนคลับร่วมบริจาคซื้ออัลบั้ม โดเนทขึ้นป้ายบิลบอร์ดตามสถานีรถไฟฟ้า หรือร่วมกันโหวตรางวัลต่างๆ ไปจนถึงรวมเงินกันไปทำบุญ ทำกิจกรรมเพื่อสังคม 

หากติดตามวงการนี้สักพัก จะเห็นว่าเเต่ละครั้งที่มีการเปิดโดเนท เเต่ละด้อมจะสามารถระดมทุน” ได้ยอดเงินบริจาคที่สูงมาก ตั้งเเต่ “หลักหมื่นยันหลักล้าน” ในเวลาที่รวดเร็ว” เรียกได้ว่าเปิดโดเนทไม่กี่ชั่วโมง ก็ทะลุหลักเเสนบาทไปเเล้วในด้อมใหญ่ๆ ที่มีเเฟนคลับจำนวนมาก

ล่าสุดกับกระเเสใหม่ เมื่อกลุ่มเเฟนคลับศิลปินได้เเสดงถึงพลังเปย์หนักมากอีกครั้ง เเต่ครั้งนี้เป็นการเปย์เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวการชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้นในไทย อยู่ ณ ขณะนี้

จากการสังเกตพบว่า การระดมทุนเมื่อช่วงวันที่ 16-17 ตุลาคม ของเหล่าด้อมต่างๆ ในเวลาเพียง 2 วันสามารถดันยอดบริจาครวมกันได้ถึง 2.7 ล้านบาท

หนึ่งในเเฟนคลับที่ร่วมบริจาคบอกกับ Positioning ว่า…นี่เป็นเพียงการโดเนทเเบบชิลๆกันเท่านั้น พร้อมให้เหตุผลถึงยอดบริจาคที่มักจะระดุมทุนได้เยอะว่า ผู้คนที่เป็นสมาชิกในเเต่ละด้อมนั้น มีฐานะทางการเงินเเละอาชีพที่หลากหลายมาก อยู่ในทุกเเวดวงของธุรกิจไทย เรียกได้ว่าทุกอาชีพต้องเป็นเเฟนคลับ บางคนมีกำลังทรัพย์ก็บริจาคเยอะ คนมีน้อยก็บริจาคน้อยตามกำลัง เป็นการร่วมใจกันจากการสื่อสารผ่านโซเชียล

“ตามปกติด้อมที่อยู่ในวัยทำงาน จะเน้นทุ่มบริจาคมากกว่า เพราะไม่ค่อยมีเวลา ส่วนเเฟนคลับวัยเรียนจะเชี่ยวชาญด้านการใช้โซเชียลมีเดีย เช่นการปั่นยอดวิว การกระจายข่าว” 

จากสถานการณ์การชุมนุม ที่มีการปิดให้บริการชั่วคราวของสถานีรถไฟฟ้าในไทยทั้ง BTS เเละ MRT ซึ่งทางบริษัท ชี้เเจงว่าเป็นมาตรการป้องกันความปลอดภัยและกฏหมายที่บังคับใช้นั้น ทำให้เกิด “กระแสทางลบ” ตามมา เมื่อด้อมศิลปินต่างๆ รวมตัวกันเพื่อ ต่อต้านการซื้อสื่อโฆษณาในสถานี เเม้จะเป็นโปรเจกต์ที่เหล่าเเฟนคลับทำกันมาช้านานก็ตาม

สำหรับตลาดป้ายศิลปินนั้น เติบโตต่อเนื่องทุกปี เเม้ในยามเศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อของเหล่าเเฟนคลับก็ไม่มีลดลงเลยในวิกฤต COVID-19

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหาร BMN บริษัทผู้พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ใน MRT บอกกับ Positioning ว่า บริษัทมีการตั้งทีมงานเพื่อดูเเลลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ เพราะต้องการเข้าใจถึงสิ่งที่เเฟนคลับตั้งใจเเละอยากจะสื่อสารออกไป โดยความต้องการที่ลูกค้าขอมาในช่วงนี้ ส่วนใหญ่อยากให้เปิดพื้นที่จัด Meet and Greet เเละกิจกรรมเเบบเอ็กซ์คูลซีฟ เอาโปสเตอร์มาตกเเต่งได้ในช็อป ฯลฯ

ตัวอย่างป้ายอวยพรศิลปิน ในสถานีรถไฟฟ้า MRT

เเม้ช่วงวิกฤต COVID-19 เศรษฐกิจจะค่อนข้างฝืดเคือง เเต่ป้าย MRT ของเเฟนคลับไม่ได้รับผลกระทบ เเละไม่ลดลงเลย

เมื่อมองจากสัดส่วนรายได้ พบว่า รายได้รวมจากป้าย HBD ศิลปินจากกลุ่มเเฟนคลับถือเป็นส่วนเล็กๆ ของสื่อโฆษณาทั้งหมดของ BMN คิดเป็นเเค่ 2 – 3% เพราะส่วนใหญ่เป็นเเบรนด์สินค้าถึง 97%

ถึงจะน้อยเเต่เราไม่ละทิ้ง เราจะดูเเลกับลูกค้ากลุ่มเเฟนคลับเป็นพิเศษ เพราะต้องทำความเข้าใจพวกเขาด้วย ด้วยการที่เขาทำด้วยความชื่นชอบ เราจึงไม่ได้มองว่าต้องเอากำไรมากหรือเป็นการค้าจ๋าขนาดนั้น รวมถึงเป็นการสร้างสีสันเเละความหลากหลายให้สถานีด้วย คนเเวะมาถ่ายรูป ก็เป็นการเพิ่มทราฟฟิกเเละการจับจ่ายใช้สอยไปในตัว ผู้บริหาร BMN ให้สัมภาษณ์ เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

อ่านต่อ : เศรษฐกิจฝืด เเต่เเฟนคลับยัง “จ่ายหนัก” ป้ายศิลปินใน MRT เติบโต ขยายเรทราคา-ปรับไซส์ตามงบ

ด้านความคิดเห็นของกลุ่มเเฟนคลับต่อกรณีนี้ พบว่า มีการเสนอให้นำโปรเจกต์ศิลปินต่างๆ ย้ายไปซื้อสื่อโฆษณาในขนส่งมวลชนท้องถิ่นมากขึ้น เช่น บิลบอร์ดรถสองเเถว รถเเดง ป้ายในเรือ หรือป้ายในย่านชุมชนต่างๆ เเทน

ในการทำป้าย HBD ศิลปินต้องใช้เงินตั้งเเต่ “หลักพันปลายๆ ไปจนถึงหลักเเสน” โดยค่าใช้จ่ายของการติดตั้งป้ายนั้น รวมค่าพื้นที่มีเดีย สถานี ภาษีมูลค่าเพิ่มและระยะเวลาที่ต้องการติดตั้งไปด้วย ส่วนใหญ่จะจองขึ้นป้าย 15 วัน – 1 เดือน เป็นธีมอวยพรวันเกิด เเสดงความยินดีในโอกาสพิเศษ ออกเพลง-ละคร หรือออกอัลบั้มใหม่

สำหรับภาพรวมสื่ออุตสาหกรรมโฆษณาในเมืองไทย ในช่วง 7 เดือนเเรกของปี 2563 ตัวเลขเม็ดเงินสื่อโฆษณาที่เป็นตัวสะท้อนตลาดได้ดี ติดลบไปกว่า 20% เเละคาดว่าทั้งปีนี้ เงินโฆษณาจะสะพัดอยู่ที่ 7.1 หมื่นล้าน เเตะจุด “New Low” ต่ำสุดรอบ 20 ปี ใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

โดยสื่อทีวีและสื่อนอกบ้าน ที่เคยมีเม็ดเงินมากที่สุดยัง “ติดลบหนัก” ส่วนดาวรุ่งอย่างสื่อดิจิทัลที่เคยเติบโต 20-30% ต่อเนื่องมาทุกปี ต้องสะดุดเเละอาจเติบโตได้เพียง 0.5% เท่านั้น

เห็นได้ชัดว่า เเม้ “ป้าย HBD ศิลปิน” จะไม่ใช่รายได้หลักๆ ของโฆษณาในสถานีรถไฟฟ้า เเต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางการบริหาร ต้องจับตาดูว่ากระเเส #เเบน นี้ จะต่อเนื่องไปยาวหรือไม่ เเละมีเอฟเฟกต์ต่อไปอย่างไรบ้าง