พร้อมบุกตลาด! “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” อสังหาฯ ครบวงจรรายแรกของประเทศ จัดทัพเตรียมขึ้นแท่น Top 3 ในปี 2566


“เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” จัดกระบวนทัพ ลุยตลาดอสังหาฯ รวบ 3 กลุ่มธุรกิจครอบคลุมประเภทที่อยู่อาศัย-อุตสาหกรรม-พาณิชยกรรม ไว้ภายใต้แพลตฟอร์มเดียว รวมสินทรัพย์มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท พร้อมก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำระดับ Top 3 ของธุรกิจอสังหาฯ ไทย ในปี 2566 ด้วยกลยุทธ์ One Platform…อสังหาฯ ครบวงจร แพลตฟอร์มที่ยั่งยืน”

หลังการจัดโครงสร้างบริษัทฯ เพื่อรวมทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจศักยภาพสูงให้อยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกันสำเร็จ ในที่สุด “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” ก็พร้อมรุกตลาดในฐานะผู้นำกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ที่มีสินทรัพย์หลากหลาย ครบวงจรรายแรกในตลาดประเทศไทย โดยมี “ธนพล ศิริธนชัย” ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคงสู่ความยั่งยืน

ธนพลเล่าถึงจุดเริ่มต้นและการสยายปีกลงทุนในไทยของกลุ่ม “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” ว่า เมื่อปี 2556 กลุ่มทีซีซี ของตระกูล สิริวัฒนภักดี ได้เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของ Fraser and Neave (F&N) บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ที่ทำธุรกิจหลายประเภท ซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี โดยมีอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจ ซึ่งในภายหลังได้แยกกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ออกจาก F&N และใช้ชื่อ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด โดยมี “ปณต สิริวัฒนภักดี” ขึ้นเป็นกรุ๊ปซีอีโอ (Group CEO) โดยเป็นผู้วางกลยุทธ์รวมถึงทิศทางการบริหารงานที่สร้างสินทรัพย์ให้เติบโตจากเริ่มต้นที่ 3 แสนล้านบาท เป็น 9 แสนล้านบาทในปัจจุบัน

เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ขยายการลงทุนเข้ามายังในประเทศไทย ในปี 2560 โดยปักหมุดลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ One Bangkok ซึ่งเป็นโครงการมิกซ์ยูสชั้นนำ ประกอบด้วยพื้นที่ออฟฟิศ โรงแรม รีเทล มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท และ ในปี 2562 ได้ดำเนินการเข้าซื้อกิจการบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ไทคอน และรีแบรนด์เป็น “บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (FPT)” ต่อมาในปี 2563 ได้ควบรวมกิจการของ “บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์” เสร็จสิ้น ทำให้พอร์ตอสังหาฯ ของบริษัทเติบโตครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ประเภทเพื่อที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และ พาณิชยกรรม ด้วยมูลค่าสินทรัพย์สูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาท

3 กลุ่มธุรกิจศักยภาพ สร้างสมดุลฝ่าวิกฤต

จากการรวบรวมธุรกิจทั้งหมดมาอยู่ภายใต้แพลตฟอร์มเดียวกัน ทำให้พอร์ตอสังหาฯ ของบริษัทในปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์รวมกว่า 1 แสนล้านบาท (ไม่รวมการลงทุนโครงการ One Bangkok) และทำให้การลงทุนมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น ดังนี้

1. ที่อยู่อาศัย – ผ่านกลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม”

บริษัทฯ จะยังคงพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยภายใต้แบรนด์เดิมที่ผู้บริโภคคุ้นเคย เช่น โกลเด้นทาวน์ โกลเด้นนีโอ โกลเด้นซิตี้ เดอะแกรนด์ เป็นต้น สำหรับกลุ่มธุรกิจนี้ ทำรายได้ 9 เดือนแรก (ม.ค. – ก.ย. 2563) ไปแล้ว 1.11 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีโครงการกว่า 59 โครงการ ครอบคลุมกรุงเทพ ปริมณฑล และต่างจังหวัด

 

2. อุตสาหกรรม – ผ่านกลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล”

บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมแบบครบวงจร โดยพัฒนาโรงงานและคลังสินค้าทั้งแบบพร้อมให้เช่า (Ready-Built) และแบบสร้างตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-Suit) ในทำเลยุทธศาสตร์กว่า 50 แห่งทั่วประเทศ รวมพื้นที่ให้เช่า 3 ล้านตร.ม. ทำรายได้ 9 เดือนแรก (ม.ค. – ก.ย. 2563) แล้ว 1.7 พันล้านบาท

3. พาณิชยกรรม – ผ่านกลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล” ปัจจุบันมีอาคารสำนักงานและมิกซ์ยูส 5 แห่งในกรุงเทพฯ ได้แก่ โครงการสามย่านมิตรทาวน์, อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์, อาคารสาทรสแควร์, ปาร์คเวนเชอร์ และอาคารโกลเด้นแลนด์ รวมพื้นที่บริหาร 2.4 แสนตร.ม.

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจโรงแรมและเซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ 1,100 ห้อง อาทิ โรงแรมดับเบิ้ล ยู กรุงเทพ, โรงแรมโมเดน่า และ ดิ แอสคอท สาทร แบงคอก เป็นต้น สร้างรายได้ 9 เดือนแรก (ม.ค. – ก.ย. 2563) กว่า 1.2 พันล้านบาท

 

เหตุผลที่เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย มีการลงทุนหลากหลาย จนกลายเป็นบริษัทแรกในไทยที่มีการลงทุนอสังหาฯ แบบครบวงจรและให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มธุรกิจนี้ ธนพลให้เหตุผลว่า การลงทุนลักษณะนี้มีข้อดี 3 ประการคือ

1) เพิ่มความสามารถในการกระจายความเสี่ยง (Diversification) ด้วยการบริหารสินทรัพย์หลากหลายประเภทที่มีลูกค้าหลายกลุ่ม

2) ส่งเสริมการประสานงานร่วมกัน (Synergy) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจศักยภาพสูงของทุกกลุ่มด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อสร้าง Ecosystem ทางธุรกิจที่สนับสนุนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ตลอดจน ได้ประโยชน์จาก Economy of Scale ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น

3) สร้างความยืดหยุ่นและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ท้าทาย (Resilience) ด้วยความสามารถในการบริหารจัดการของบริษัทฯ

แพลตฟอร์มเดียวกันสู่การสร้างแบรนด์ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย”

หลังจากรวมทุกกลุ่มธุรกิจเป็นหนึ่งเดียว จะทำให้เฟรเซอร์สทำงานบนแพลตฟอร์มเดียวกัน และสอดคล้องกัน โดยธนพลวางกลยุทธ์ One Platform ที่ทำให้บริษัทฯสามารถให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างครอบคลุมตรงโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า โดยการรวมกันบนแพลตฟอร์มเดียวจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่บริษัทฯ เพราะจะมีรายได้จากหลายช่องทาง และรายได้ประจำ (Recurring Income) เพิ่มมากขึ้น ทำให้บริษัทฯสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยจะดำเนินตามแผน ONE-TO-THREE ซึ่งหมายถึง “ONE platform TOwards being a trusted brand and the top THREE in all asset classes” หรือ การรวมธุรกิจเป็นหนึ่งเดียวด้วยแพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เพื่อมุ่งสู่การเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับ Top 3 ของทุกกลุ่มธุรกิจ ในปี 2566

ธนพลกล่าวว่า แต่ละกลุ่มธุรกิจจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องและคาดว่าในปี 2566 มูลค่าสินทรัพย์จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 5-10%

ด้านสัดส่วนรายได้ปัจจุบันมาจากที่อยู่อาศัย 75-80% และมาจากอสังหาฯ เพื่อเช่า (อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม) 20-25% แต่ในอนาคตมองว่าจะผลักดันให้รายได้อสังหาฯ เพื่อเช่าเพิ่มขึ้นเป็น 30% เพื่อสร้างความสมดุลในพอร์ตให้มากขึ้น

“แต่ละกลุ่มธุรกิจยังมีโอกาส กลุ่มที่อยู่อาศัยแม้จะมีคู่แข่งแต่ยังมีดีมานด์ในตลาด ด้านธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่ายังมีแนวโน้มเติบโตสูงมากเพราะการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซและ COVID-19 ที่เป็นตัวเร่งให้ผู้ผลิตต้องการกระจายสต็อกสินค้าไว้หลายประเทศ ส่วนโครงการพาณิชยกรรม เช่น อาคารสำนักงาน แม้จะมีการปรับไปทำงานแบบ Work from Home บ้าง แต่บริษัทจำนวนมาก ยังคงต้องการใช้พื้นที่สำนักงาน เพียงแต่ปรับรูปแบบการใช้งานไปไปในลักษณะของ Hot Desk มากขึ้นเท่านั้น” ธนพลกล่าว