กางเเผน SCGP หลังระดมทุนใหญ่ เพิ่มกำลังผลิต-เร่งซื้อกิจการอาเซียน หวังปั้นรายได้ “เเสนล้าน”

บิ๊กบรรจุภัณฑ์เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” (SCGP) เร่งเกมรุก หลังระดมทุนขายหุ้น IPO 4.5 หมื่นล้าน ลุยตลาดอาเซียนเต็มสูบ หวังปั้มรายได้ปี 64 ทะลุ 1 เเสนล้าน รับสิ้นปีนี้ปิดดีลธุรกิจลูกฟูกในเวียดนามสำเร็จ พร้อมขยายกำลังการผลิต 4 โครงการ เเย้มจ่อฮุบธุรกิจกระดาษโพลิเมอร์ อีก 2-3 ดีลในอาเซียน  

SCGP เป็น 1 ใน 3 ธุรกิจหลักของ “ปูนซิเมนต์ไทย” ให้บริการโซลูชั่นด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในอาเซียนปัจจุบันมี 40 โรงงานใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยมีส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคอาเซียน 36% เติบโตต่อเนื่องจากอานิสงส์ เดลิเวอรี่” ที่กำลังเฟื่องฟูในช่วงเเพร่ระบาดของ
COVID-19 ที่
ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่

ตั้งเป้า ปี 64 ฟันรายได้ทะลุ 1 เเสนล้าน 

วิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริห คาดการณ์ถึงการเติบโตของธุรกิจในปี 2564 ในส่วนของ “รายได้” ว่าจะเติบโตสู่ระดับ 1 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ราว 89,000 ล้านบาท

โดยมองว่ารายได้น่าจะเติบโตขึ้น เนื่องจากทยอยรับรู้รายได้จากโครงการขยายกำลังการผลิตที่จะกำลังเสร็จในปี 2564 และการเข้าซื้อกิจการที่จะแล้วในสิ้นปีนี้เเล้ว

“เราจะเน้นการเติบโตที่จะมาจากการขยายไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะใน 3 ประเทศหลัก อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์”

วิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP)

กลยุทธ์หลัก ๆ ของ SCGP คือ มุ่งเน้นไปที่การขยายตลาดบรรจุภัณฑ์ สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และมีความต้องการใช้อย่างสม่ำเสมอในทุกสภาวะเศรษฐกิจ พร้อมกับเดินหน้าขยายธุรกิจด้วยการควบรวมกิจการ หรือ Merger and Partnership (M&P) เพื่อขยายการเติบโต รองรับการบริโภคและเมกะเทรนด์ทางเศรษฐกิจในอาเซียน

ที่ผ่านมา SCGP มีการปรับโมเดลธุรกิจของ SCGP จากอุตสาหกรรมการผลิตสู่การเป็น Packaging Solutions Provider มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบ B2B B2B2C และ B2C เน้นเร่งขยายไลน์บรรจุภัณฑ์ให้ครบวงจรมากขึ้นตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย ด้วยโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน นำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด เป็นวัสดุที่รีไซเคิลได้กว่า 95%

สำหรับการลงทุนในอนาคต บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในแต่ละปี (CAPEX) ไม่ต่ำกว่าที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ยปีละ 8,000-9,000 ล้านบาท อย่างปี 2563 บริษัทมีงบในส่วนนี้ 12,000 ล้านบาท ขณะที่โครงสร้างเงินทุนในอนาคต ตั้งเป้าจะควบคุมอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ไม่ให้เกิน 1 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 0.4 เท่า

“เราตั้งงบฯ จะลงทุนซื้อกิจการและขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น มากกว่าปีนี้ที่จะใช้ราว 12,000 ล้านบาท เพราะดีมานด์ยังสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วง COVID-19 เเละต่อไป หากนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้ ก็ยิ่งหนุนให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นไปอีก” 

เร่งขยายกำลังผลิต – ซื้อกิจการในอาเซียน 

ปัจจุบัน SCGP ได้ทำการเจรจาและลงนามในสัญญาซื้อหุ้นกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกรายใหญ่ในเวียดนาม คาดว่าจะ “ปิดดีล” ได้ในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะสามารถรับรู้ส่วนแบ่งรายได้และกำไรเข้ามาได้ในช่วงไตรมาส 4/2563 โดย SOVI มีรายได้ราว 2,200 ล้านบาทต่อปี

“การควบรวมกิจการเป็นไปตามกลยุทธ์ของบริษัท ที่ต้องการขยายการลงทุนในอาเซียน พร้อมทั้งขยายฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และเพิ่มขีดความสามารถการผลิตบรรจุภัณฑ์ขั้นปลาย เพื่อเสริมความเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในอาเซียน”

ผู้บริหาร SCGP เผยว่า ตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อเข้าซื้อกิจการในกลุ่มธุรกิจกระดาษและโพลิเมอร์ อีกจำนวน 2-3 แห่ง ซึ่งจะมีการเปิดเผยรายละเอียดในเร็วๆ นี้ 

ขณะเดียวกัน บริษัทกำลังอยู่ระหว่างขยายกำลังผลิตอีก 4 โครงการ ใช้งบลงทุนรวมกว่า 8,200 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จในปี 2563–2564 โดยเเบ่งงบลงทุนอย่างละเอียด ได้เเก่

1.เวียดนาม – ผลิตบรรจุภัณฑ์เเบบอ่อนตัว มีกำลังผลิตเพิ่ม 84 ล้านตารางเมตรต่อปี คิดเป็น 20% ของกำลังผลิตปัจจุบัน เงินลงทุน 543 ล้านบาท คาดเเล้วเสร็จไตรมาส 3/2563

2.อินโดนีเซีย – ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ มีกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 400,000 ตันต่อปี คิดเป็น 29% ของกำลังผลิตปัจจุบัน เงินลงทุน 1,735 ล้านบาท คาดเเล้วเสร็จไตรมาส 1/2564

3.ฟิลิปปินส์ – ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ มีกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 220,000 ตันต่อปี คิดเป็น 88% เงินลงทุน 5,388 ล้านบาท คาดเเล้วเสร็จไตรมาส 2/2564

4.ไทย – ผลิตบรรจุภัณฑ์เเบบอ่อนตัว มีกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 53 ล้านตารางเมตรต่อปี คิดเป็น 14% ของกำลังผลิตปัจจุบัน เงินลงทุน 600 ล้านบาท คาดเเล้วเสร็จไตรมาส 3/2564

SCGP ประเมินว่าหากโครงการทั้ง 4 แห่ง สามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังผลิต และบริษัทรับรู้ผลประกอบการแบบเต็มปี จะทำให้บริษัทมียอดรายได้จาก 4 โครงการนี้ประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อปี

ราคาต่ำ IPO หลัง Q3/63 กำไรวูบ 9% 

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น SCGP ที่ร่วงแตะ 34 บาท ต่ำกว่าราคา IPO ที่ 35 บาท หลังจากที่บริษัทรายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2563 โดยมีรายได้จากการขาย 23,287 ล้านบาท ลดลง 5% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 1,335 ล้านบท ลดลง 9% จากปีก่อน และลดลง 30% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งนี้ หากตัดรายการพิเศษ จะมีกำไรจากการดำเนินงาน 1,636 ล้านบาท ลดลง 4% จากปีก่อน

กุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน SCGP เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/2563 ที่ลดลงจากไตรมาสก่อน ปัจจัยหนึ่งมาจากความกดดันจากสินค้าคงทนที่ชะลอตัวลง แต่ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวบ้าง ประกอบกับสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ เเละการชะลอตัวของบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ “เทศกาล” ซึ่งในไตรมาส 3 ชะลอตัวลงเพราะ COVID-19 เเต่คาดว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายจะกลับมาได้ รวมถึงการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในสกุลรูเปียห์ อินโดนีเซียด้วย

ด้านผลประกอบการ 9 เดือน ที่ผ่านมา SCGP มีรายได้จากการขาย 69,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 4,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อน

ทั้งนี้ บริษัทยังมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe Option) อีก 169.13 ล้านหุ้น ซึ่งผู้ที่ดูแลอาจจะพิจารณาเข้าซื้อ โดยที่ราคาในการซื้อจะต้องไม่สูงกว่าราคา IPO ที่ 35 บาท โดยจะสิ้นสุดการซื้อเพื่อส่งมอบหุ้นที่จัดสรรเกิน ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563

บริษัท ประเมินว่า หากได้รับการเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Index และการได้รับการเข้าคำนวณใน SET 50 มีโอกาสที่จะทำให้บริษัทได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันต่างชาติเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการถือหุ้นจากนักลงทุนสถาบันต่างชาติอยู่ที่ 3%