สัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง! เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัว 33.1% มากสุดในประวัติศาสตร์

(Photo by Epics/Getty Images)
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราที่มากสุดในประวัติศาสตร์ ในไตรมาส 2 ผลจากรัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ในมาตรการบรรเทาผลกระทบ COVID-19 ซึ่งกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่ยังคงมีความกังวลว่าบาดแผลจากภาวะถดถอยสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส อาจต้องใช้เวลาเยียวยานาน 1 ปี หรือมากกว่านั้น

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3 ของปี 2020 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัว 33.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯ เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลเมื่อกว่า 70 ปีก่อนหน้านี้ มากกว่าพวกนักวิเคราะห์คาดหมายไว้ว่าจะขยายตัวราวๆ 31%

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าว เป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจหลักตัวสุดท้ายที่เผยแพร่ออกมาก่อนถึงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันอังคารที่ 3 พ.ย. ไม่ได้บรรเทาสถานการณ์อันน่าสลด อันมีต้นตอจากโรคระบาดใหญ่ COVID-19 ด้วย ณ เวลานี้ ชาวอเมริกันหลายสิบล้านคนยังคงตกงาน และถูกไวรัสคร่าชีวิตไปแล้วมากกว่า 222,000 คน

แม้ขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงต่ำกว่าระดับ 3.5% ของช่วงปลายปี 2019 และรายได้ลดลงในไตรมาส 3 กระนั้นประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีคะแนนนิยมตามหลังคู่แข่งอย่าง โจ ไบเดน ในผลสำรวจความคิดเห็นของสำนัก ได้หยิบยกตัวเลขดังกล่าวมาคุยโวโอ้อวด 5 วันก่อนถึงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี

(Photo by Doug Mills-Pool/Getty Images)

“มากที่สุดและดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ และไม่เคยแม้แต่เฉียดใกล้มาก่อนเลย” ทรัมป์เขียนบนทวิเตอร์ “ยินดีเป็นอย่างมากที่ตัวเลขจีดีพีเช่นนี้ ออกมาก่อนวันที่ 3 พฤศจิกายน”

กระนั้นทางฝั่ง ไบเดน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต เน้นย้ำว่า เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ และบอกว่าแรงกระตุ้นการเติบโตค่อยๆ จางหายไปแล้ว “เราอยู่ในหลุมลึก และความล้มเหลวของประธานาธิบดีทรัมป์ นั่นหมายความว่า การเติบโตในไตรมาส 3 ไม่ได้ใกล้เคียงที่จะพาเราออกจากวิกฤต” ไบเดนกล่าว “การฟื้นตัวที่กำลังเกิดขึ้นกำลังช่วยเหลือเฉพาะผู้คนที่อยู่ในระดับบน แต่ทิ้งคนทำงานอีกหลายสิบล้านครอบครัวและธุรกิจขนาดเล็กไว้เบื้องหลัง”

การฟื้นตัวของ GDP ในไตรมาส 3 มีขึ้นหลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวถึง 31.4% ในไตรมาส 2 ซึ่งถือเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลเมื่อ 1947 หลังจากหดตัว 5% ในไตรมาส 1 ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

แพ็กเกจช่วยเหลือของรัฐบาล ที่มอบสายเลี้ยงชีพแก่ภาคธุรกิจต่างๆ และคนว่างงาน ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค และมันมีส่วนเกี่ยวข้องถึง 76.3% ต่อการฟื้นตัวของ GDP ไตรมาส 3

(Photo by Mario Tama/Getty Images)

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เป็นที่น่ากังวล เนื่องจากเวลานี้เงินช่วยเหลือของทางรัฐบาลกำลังหมดลง และยังไม่มีทีท่าว่าสภาคองเกรสจะบรรลุข้อตกลงแพ็กเกจเยียวยารอบใหม่ ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 กำลังเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ บีบให้ต้องออกข้อจำกัดต่างๆ นานาต่อภาคธุรกิจ อย่างเช่นร้านอาหาร และบาร์

“เราจะไม่เห็นตัวเลข GDP ก้าวผ่านระดับก่อนหน้าเกิดโรครบาดใหญ่จนกว่าจะถึงไตรมาส 4 ปี 2020 ขณะที่การลดช่องว่างตัวเลขผลผลิตให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน อาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น” เควิน คัมมินส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันแนทเวสต์ มาร์เก็ตส์ กล่าว

ในรายงานอีกฉบับ จากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ที่เผยแพร่ในวันพฤหัสบดีที่ 29 ต.ค. เช่นกัน พบว่า ตัวเลขผูุ้เข้ารับสวัสดิการคนว่างงานรายใหม่รายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ลดลง 40,000 คน เหลือ 751,000 คน ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ตุลาคม ตัวเลขดังกล่าวลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 6.867 ล้านคนในเดือนมีนาคม ผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ภาคธุรกิจปิดกิจการ และมีการปลดพนักงานจำนวนมาก

ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกต่ำกว่าระดับ 1 ล้านราย เป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน หลังจากพุ่งเหนือระดับ 1 ล้านรายเป็นเวลานาน 5 เดือน นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม

Source