วิเคราะห์เหตุผล! ทำไม “โออิชิ” ต้องปั้นแบรนด์ SAKAE ชาบูชาบูระดับพรีเมียม

โออิชิ กรุ๊ป แตกแบรนด์ใหม่ระดับพรีเมียมในรอบ 20 ปี ส่งแบรนด์ SAKAE ชาบูชาบู สุกี้ญี่ปุ่น จับกลุ่มลูกค้าระดับบน เปิดสาขาแรกที่อาคาร THE PARQ ทาง Positioning จะพาไปล้วงลึกถึงเหตุผล ทำไมโออิชิต้องปั้นแบรนด์นี้ขึ้นมา

1. รู้จักแบรนด์ SAKAE

แบรนด์ SAKAE (ซาคาเอะ) เป็นแบรนด์ร้านอาหารล่าสุดจากเครือโออิชิ กรุ๊ป ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมานี้เอง ที่โครงการ THE PARQ บนถนนพระราม 4 ไม่ใกล้ไม่ไกลกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

SAKAE เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นประเภทชาบูชาบู และสุกี้ญี่ปุ่น โดยที่ชูจุดเด่นที่สุดยอดวัตถุดิบ เนื้อวากิวระดับพรีเมียม นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ เนื้อวากิว ระดับ A4 (Japanese Wagyu (A4) Beef), เนื้อวากิว ระดับ F1 (Japanese Tokusen Wagyu (F1) Beef) และเนื้อซาคาเอะ ซิกเนเจอร์ (Sakae Signature Beef) หรือเนื้อส่วนสันคอวัว

ร้านนี้จะไม่ได้ทานเป็นแบบบุฟเฟต์ แต่สามารถสั่งเป็นชุดพร้อมเครื่องเคียง หรือจะสั่งเป็นจานๆ แยกก็ได้ มีน้ำซุปให้เลือก 2 สูตร คือ น้ำซุปน้ำใส สำหรับชาบูชาบู หรือน้ำซุปน้ำดำ รสชาติเข้มข้นสำหรับสุกี้ยากี้

ภายในร้านจะมีที่นั่งทั้งหมด 68 ที่นั่ง แบ่งเป็น 3 โซน ที่นั่งจะเป็นเคาน์เตอร์บาร์เป็นวงกลม มีหม้อแยกคนละหม้อ ในส่วนตรงกลางจะมีพนักงานคอยให้บริการจุดละ 2 คน และเป็นจุดที่สไลด์เนื้อสดๆ ให้เห็น และเสิร์ฟให้กับลูกค้า รูปแบบการบริการแบบนี้ทางผู้เขียนเคยเห็นที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งโมเดลที่ช่วยลดการใช้พนักงานภายในร้านได้ เพียงว่าแต่ละคนจะได้ทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อมีการวางจุดยืนของแบรนด์ที่เป็นระดับพรีเมียม ราคาจึงแรงพอสมควรตามคุณภาพของวัตถุดิบ สำหรับการทานเป็นเซตจะราคาเริ่มต้นที่ 490 บาท เป็นชุดหมูพรีเมียม ไปจนถึงราคาแพงที่สุดคือ 1,400 บาท เป็นชุดเนื้อวากิว ระดับ A4

ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

การเปิดแบรนด์ SAKAE ครั้งนี้เรียกว่าเป็นการบุกตลาดกลุ่มพรีเมียมในรอบ 20 ปี ซึ่งแบรนด์นี้เป็นการพัฒนาเองของในเครือ ไม่ได้นำเข้ามาจากญี่ปุ่น ทางโออิชิจึงได้ศึกษาโมเดลจากประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบร้าน ระบบปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนาแบรนด์ให้ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ใช้เวลาในการพัฒนาแบรนด์ราวๆ 1 ปี ซึ่งตอนแรกจะทำการเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2563 แต่เจอการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จึงเลื่อนมาเปิดในช่วงเดือนกันยายน เป็นช่วงเดียวกันกับที่โครงการ THE PARQ เปิดให้บริการด้วย

2. คนไทยชอบชาบู สุกี้

แม้คนไทยจะมีหัวใจ “หมูกระทะ” เราได้เห็นหมูกระทะฟีเวอร์กันทั่วเมือง แต่ตลาดชาบู สุกี้ก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน ต้องบอกว่าในแง่ธุรกิจแล้ว ตลาดชาบู สุกี้ หรือตลาดหม้อต้มมีขนาดใหญ่กว่าตลาดปิ้งย่างอย่างมาก

sakae oishi ซาคาเอะ

ตลาดชาบู สุกี้มีมูลค่าตลาดราว 15,000-20,000 ล้านบาท ตลาดนี้มีผู้ขับเคลื่อนรายใหญ่คือ MK และชาบูชิ ส่วนตลาดปิ้งย่างมีมูลค่าตลาดราวๆ 5,000-6,000 ล้านบาท เรียกว่าสเกลใหญ่ และโอกาสทางธุรกิจมีมากกว่า

จึงเป็นเหตุผลที่ว่า เมื่อไม่นานมานี้เราจึงได้เห็น “บาร์บีคิว พลาซ่า” ประกาศเปิดตัว GON Pot เป็นเตาสำหรับต้ม และปิ้งย่างภายในตัว เป็นการร่วมมือกับ “จุ่มแซ่บฮัท” ภายในเครือ ในการพัฒนาเมนูต้ม อีกทั้งยังเป็นการจับตลาดเดลิเวอรี่มากขึ้นด้วย

3. เซ็กเมนต์พรีเมียม ลูกค้ามีกำลังซื้อ

ตอนนี้เรากำลังเข้าเข้าสู่ยุคที่เซ็กเมนต์พรีเมียมจะสามารถอยู่รอดได้มากกว่าเซ็กเมนต์อื่นๆ เพราะคนกลุ่มระดับบนมีกำลังซื้อมากกว่า ซึ่งการมาของ COVID-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยานั้นเช่นกัน

อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุค Aging Society เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น หรือมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คาดว่าต่อไปในอนาคต ประเทศไทยจะมีคนสูงวัย Baby Boomer และ Gen X สัดส่วนถึง 60%

sakae oishi ซาคาเอะ

ความสำคัญของคนกลุ่มนี้คือมีกำลังซื้อสูง มีรายได้ต่อหัวเยอะ บางคนอาจจะได้เงินหลังจากการเกษียณอายุ ผ่านร้อนผ่านหนาวในการทำธุรกิจ ทำงานมาทั้งชีวิต ไม่ต้องมีเงินเก็บเผื่อลูกหลานแล้ว เพราะดูแลตัวเองกันได้แล้ว มีความฉลาดในการเลือกซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น จะเลือกว่าอะไรคุ้มค่า ฉะนั้นสินค้ากลุ่มพรีเมียมจะจับตลาดกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างดี

ทั้งนี้การเลือกโลเคชั่นในการเปิดสาขาแรกที่โครงการ THE PARQ นอกจากจะเป็นพื้นที่ในเครือของกลุ่มไทยเบฟด้วยกันเองแล้ว ยังเป็นการเลือกทำเลที่เจาะกลุ่มคนทำงาน เพราะย่านนั้นเป็นอาคารสำนักงาน และค่อนข้างจะมีกำลังซื้อสูงด้วย

4. เสริมพอร์ตครบครัน ตั้งแต่ QSR ยันพรีเมียม

โดยปกติแล้วในธุรกิจร้านอาหารจะมีการแบ่งเซ็กเมนต์ที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มโอกาสในการจับกลุ่มลูกค้าที่มากขึ้น ที่ผ่านมาโออิชิเองมีพอร์ตร้านอาหารในเครือค่อนข้างเยอะ แต่ก็ยังไม่ครบทุกเซ็กเมนต์ วันนี้จึงเป็นโอกาสที่ได้ขยายพอร์ตไปให้ครอบคลุมตั้งแต่ QSR ยันร้านอาหารระดับบน

sakae oishi ซาคาเอะ

ทำให้ตอนนี้โออิชิมีร้านอาหาร ดังนี้

ร้านอาหารระดับพรีเมียม (ราคา 1,000 บาทขึ้นไป)

– SAKAE (ซาคาเอะ) ร้านชาบูชาบู สุกี้ญี่ปุ่น

– HOU YUU (โฮวยู) ร้านอาหารญี่ปุ่น ซูชิ ปลาดิบต่างๆ

– Oishi Grand (โออิชิ แกรนด์) ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์

ร้านอาหารระดับพรีเมียม แมส (ราคา 700 บาทขึ้นไป)

– Oishi Eaterium (โออิชิ อีทเทอเรียม) ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์

– Oishi Buffet (โออิชิ บุฟเฟต์) ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์

– Nikuya By Oishi (นิกุยะ) ยากินิกุตำรับโอซาก้า

sakae oishi ซาคาเอะ

ร้านอาหารระดับแมส (ราคาไม่เกิน 500 บาท)

– Shabushi (ชาบูชิ) ชาบูชาบู ซูชิบนสายพาน

– Oishi Ramen (โออิชิ ราเมน) ร้านอาหารกลุ่มราเมน

– Kakashi (คาคาชิ) ร้านอาหารดงบุริ ข้าวหน้าต่างๆ

ร้านขนมญี่ปุ่น

– Oyoki (โอโยกิ) ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟระดับพรีเมียม

5. ขยับจากกลุ่มบุฟเฟต์บ้าง

มีหลายคนบอกว่าคนไทยชอบทานอาหารประเภทบุฟเฟต์ เพราะให้ความรู้สึกถึงความคุ้มค่า ทานได้ไม่อั้น ซึ่งร้านอาหารของโออิชิอยู่ในกลุ่มบุฟเฟต์หลายแบรนด์เช่นกัน จึงต้องการขยับมากลุ่ม A LA CARTE บ้าง

เพราะเชื่อว่าผู้บริโภคในยุคนี้เริ่มเปลี่ยนแนวคิดในการทานอาหาร หลายคนไม่ทานบุฟเฟต์เพราะความคุ้มค่า มองว่าการทานอาหารจริงๆ ไม่ต้องทานให้เยอะก็คุ้มได้ แต่สามารถทานแบบสุขภาพดี ทานอาหารให้ครบหมวดหมู่ ภายในเซตของ SAKAE จึงมีทั้งเนื้อ ผัก คาร์โบไฮเดรต และของหวาน ให้สามารถทานได้ครบครัน

เรียกได้ว่าตลาดร้านอาหารในไทย แม้จะผ่านพ้นช่วงวิกฤต COVID-19 มา ก็ยังสร้างสีสันให้ตลาดได้ เพียงแต่ต้องมีจุดยืน และคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน ที่สำคัญต้องมองหาโอกาสในตลาดให้เจอ จึงจะเป็นการอยู่รอดในตลาดได้