คนไทยจนน้อยลง! เหลือ 4.3 ล้านคน แต่ยังเหลื่อมล้ำเพียบ “ปัตตานี” คนจนสูงสุด

คนจน
Photo : Shutterstock
สภาพัฒน์เปิดตัวเลข “คนจนลดลง” ต่อเนื่อง ตลอด 20 ปี จาก 25.8 ล้านคน ในปี 2541 ลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน ในปี 2562 ส่วนคนปัตตานีมีสัดส่วนคนจนหนาแน่นสูงที่สุด แต่ความเหลื่อมล้ำ-ความไม่เสมอภาคในการถือครองทรัพย์สินยังมีเพียบ!

คนจนลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ จัดทำรายงานสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เพื่อนำเสนอสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านความยากจน และความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งการวิเคราะห์ลักษณะของปัญหา และนโยบายหรือโครงการสำคัญของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

รายงานสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำในปี 2562 ซึ่งเป็นการรายงานสถานการณ์ล่าสุดของ สศช. พบว่า สัดส่วนคนยากจนลดลงจาก 9.85% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 6.24% ในปี 2562 หรือมีคนจนจำนวน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคนในปีก่อนหน้า

เมื่อพิจารณาแนวโน้มของความยากจนในระหว่างปี 2541 ถึงปัจจุบัน สัดส่วน และจำนวนคนจนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนคนยากจน 25.8 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 38.63% ในปี 2541 ลดลงเหลือ 11.6 ล้านคน หรือ 17.88% ในปี 2552 และลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน หรือ 6.24% ในปี 2562

สถานการณ์ความยากจนในระยะ 5 ปีหลัง (ปี 2558-2562) พบว่า สัดส่วนคนจนอยู่ในระดับต่ำ โดยมีสัดส่วนไม่เกิน 10% และมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 ครั้ง คือ ปี 2559 และ 2561 โดยสัดส่วนคนยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 2559 เกิดจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง

ขณะที่ในปี 2561 เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ เงินบาทแข็งค่า และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ส่งผลสืบเนื่องต่อผู้มีรายได้น้อยซึ่งสอดคล้องกับการรายงานของธนาคารโลก (World Bank, 2019. “Taking The Pulse of Poverty and Inequality in Thailand”)

สถานะยากจนเรื้อรัง

การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ความยากจนในระยะหลัง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และธนาคารโลก ระบุว่า อาจเกิดจากความยากจนของไทยลดลงมากจากอดีตที่ผ่านมา จนทำให้ครัวเรือนที่มีสถานะยากจนอยู่ในปัจจุบันเป็นครัวเรือนที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง หรืออยู่ในกับดักของความยากจน ซึ่งต้องมีนโยบายแก้ปัญหาความยากจนอย่างตรงจุด

จากการวิเคราะห์กลุ่มคนยากจนในระยะหลัง พบว่า ครัวเรือนยากจน 1 ใน 3 เป็นผู้ไม่ปฏิบัติงานในเชิงเศรษฐกิจ (Economically Inactive Household) มีการพึ่งพิงสูงโดยมีเด็ก และผู้สูงอายุจำนวนมาก ในครัวเรือน และจบการศึกษาในระดับประถมศึกษา และต่ำกว่า (คนจน 79.18% จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า) อีกทั้งผู้มีงานทำที่ยากจนส่วนใหญ่ทำงานในภาคการเกษตรซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีรายได้น้อย สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยากจนมีความสามารถในการสร้างรายได้ได้น้อย

“การปรับตัวลดลงของคนจนในปี 2562 สาเหตุสำคัญเกิดจากการขยายความครอบคลุมมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในปี 2562 โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยโดยตรง”

โดยในปี 2562 มีผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนทั้งหมด 14.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาจากปี 2561 ที่มี 11.4 ล้านคน จากการที่รัฐบาลได้เปิดการลงทะเบียนรอบพิเศษ (ในระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2561) สำหรับกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียน ในรอบก่อนหน้า

โดยผู้ที่มีบัตรฯ จะได้รับการช่วยเหลือด้านภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันรายเดือน ได้แก่ วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 200-300 บาท/เดือน ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะวงเงินรวมสูงสุด 1,500 บาท/เดือน และค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท/3 เดือน อีกทั้ง คนยากจนบางส่วนยังได้รับการเงินช่วยเหลือจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และคนพิการ และเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

(Photo by Allison Joyce/Getty Images)

แม้สัดส่วนคนจนในปี 2562 จะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจนให้อยู่ในระดับต่ำยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากในปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นวงกว้าง และยังมีความไม่แน่นอนว่าการแพร่ระบาดจะต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ความยากจนในปี 2563 กลับไปแย่ลงอีกครั้ง

ปัตตานีคนจนสูงสุด นนทบุรีน้อยสุด

สัดส่วนความยากจนลดลงเกือบทุกจังหวัด และภาพรวมสัดส่วนคนจนมีแนวโน้มลดลงในทุกภูมิภาค โดยในปี 2562 จังหวัดที่มีปัญหาความยากจนน้อยที่สุด ได้แก่

  • นนทบุรี 0.24%
  • ปทุมธานี 0.24%
  • ภูเก็ต 0.40%
  • สมุทรปราการ 0.56%
  • กทม. 0.59%

ส่วน 10 จังหวัดที่มีคนจนหนาแน่นที่สุด ได้แก่

  • ปัตตานี 29.72%
  • นราธิวาส 25.53%
  • แม่ฮ่องสอน 25.26%
  • ตาก 21.13%
  • กาฬสินธ์ุ 20.21%
  • สระแก้ว 18.74%
  • พัทลุง 18.67%
  • ชัยนาท 17.89%
  • อ่างทอง 17.32
  • ระนอง 16.43%

ความเหลื่อมล้ำยังมีให้เห็นอีกเพียบ!

อย่างไรก็ตาม ด้านความไม่เสมอภาคในการถือครองทรัพย์สินสุทธิลดลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับสูง มูลค่าทรัพย์สินรวมสุทธิเป็นมูลค่าทรัพย์สินรวมทั้งหมดหักด้วยมูลค่าหนี้สินทั้งหมด (ในระบบ และนอกระบบ) โดยในปี 2562 มีค่าเท่ากับ 0.6442 ปรับตัวลดลงจาก 0.6453 และ 0.6651 ในปี 2560 และปี 2558 ตามลำดับ เป็นผลจากการที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงเพียงแหล่งเงินทุนนอกระบบ ซึ่งมีความเสี่ยง ภาระและต้นทุนการชำระหนี้ที่มากกว่ากลุ่มผู้มีรายได้สูง

เช่นเดียวกับส่วนแบ่งรายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้สูงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่า ค่าสัมประสิทธิ์จีนี หลังปรับปรุงตั้งแต่ ปี 2552-2560 เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอย่างชัดเจน โดยในปี 2560 ค่าสัมประสิทธิ์ฯ หลังปรับปรุงอยู่ที่ 0.5221 สูงกว่าค่าเดิมที่ได้จากข้อมูลสำรวจที่ 0.4528 สะท้อนว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง

โดยข้อมูลภาษีมาใช้ในการวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างภาษี พบว่า มาตรการการหักค่าใช้จ่ายและการหักค่าลดหย่อน/บริจาคส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของผู้ยื่นแบบภาษีฯ ในภาพรวมเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในปี 2560-2561 ที่ค่าลดหย่อนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากจากปี 2559 (การปรับโครงสร้างภาษี) ซึ่งเป็นการสะท้อนว่า

กลไกหรือมาตรการรายจ่ายภาษียังคงไม่สามารถทำหน้าที่ในการกระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ได้อย่างที่ควรจะเป็น

Source