ถอดแนวคิด ‘โธมัส พิชเยนทร์’ กับการพาแบรนด์ ‘Anitech’ ไปสู่ ‘Lifestyle Company’ ที่อยู่กับคนตลอดเวลา

เชื่อว่าแทบทุกบ้านในไทยต้องเคยใช้สินค้าของ ‘แอนิเทค (Anitech)’ หรืออย่างน้อย ๆ ต้องคุ้นหูกับชื่อแบรนด์มาบ้าง แต่น้อยคนที่จะรู้จักกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์นี้ ที่ปลุกปั้นธุรกิจของตัวเองตั้งแต่ก่อนอายุ 25 ปี แถมยังมียอดขายแตะร้อยล้านตั้งแต่อายุไม่ถึง 30 ปี และมาตอนนี้ ‘พิชเยนทร์ หงส์ภักดี’ หรือ ‘โธมัส’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป กำลังขยับจากการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ไลฟ์สไตล์ไปสู่ตลาด ‘Personal Care’ พร้อมเป็นแบรนด์ที่อยู่รอบตัวคนตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน เป็น ‘Lifestyle Company’ ที่อยู่กับคนตลอดเวลา

คิดแบบ Startup ทำแบบ SME มีระบบแบบ มหาชน

พิชเยนทร์เริ่มต้นทำธุรกิจกับเพื่อนตั้งแต่อายุเพียง 23 ปีเท่านั้น โดยเริ่มจากทำบริษัทผลิตชิปคอมพิวเตอร์กับเพื่อนชาวฝรั่งเศสที่เป็นโปรแกรมเมอร์ จากนั้นก็ได้ก่อตั้งก่อตั้งเป็นบริษัท ‘สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป’ โดยเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้า (OEM) ประเภทอุปกรณ์เสริม เช่น เมาส์ หูฟัง การ์ดรีดเดอร์ ให้กับแบรนด์สินค้าไอทีชื่อดังต่าง ๆ จากนั้นจึงปลุกปั้นแบรนด์ของตัวเองในชื่อ ‘แอนิเทค’ จนเป็นที่รู้จักจนทุกวันนี้

ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา บริษัทกระจายสินค้าไปกว่า 8,000 หน้าร้าน มียอดจำหน่ายสินค้ารวมกว่า 10 ล้านชิ้น โดยปัจจุบันบริษัทมีสินค้าไปทั้งหมด 6 กลุ่ม ได้แก่ Mobile Accessories, Computer Accessories, Gaming Gear, Home Device, Home Appliance และล่าสุดกับการสร้าง ‘New S-Curve’ ให้กับบริษัทก็คือ การแตกกลุ่มสินค้า Personal Care ในหมวด Wellness & Hygiene

เราทำ S-Curve ใหม่ แต่ไม่ได้แปลว่าทิ้งของเก่า เราแค่ต้องหัดเขียนหนังสือ 2 มือ โดยต้องหัดอีกข้างให้ถนัดมากที่สุด เร็วที่สุด ด้วยวิธีคิดแบบ Startup ทำแบบ SME มีระบบแบบบริษัทมหาชน เพราะตอนเกิดวิกฤตเราไม่มีเวลาคิดนาน เพราะเรารู้ว่าเราไม่มีเวลามาก ดังนั้นถ้าทำแบบเดิมเราไม่ทันกินแน่นอน แต่ระบบยังไงต้องมี”

‘แอนิเทค แล็บพลัส ซีรีส์’ S-Curve ใหม่ที่คลอดก่อนกำหนด

บริษัทเริ่มสนใจพัฒนาสินค้ากลุ่ม Personal Care ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว และมองว่าต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปีเพื่อทำให้สมบูรณ์ แต่เพราะ COVID-19 ทำให้ต้องย่นเวลาแค่ 2 อาทิตย์ในการพัฒนาสินค้าจนเกิดเป็น ‘แอนิเทค แล็บพลัส ซีรีส์’ (anitech LAB+ SERIES) ซึ่งมีสินค้าครอบคลุมทุกหมวดหมู่ ตั้งแต่กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและครัวเรือน (personal and home care) อาทิ น้ำยาฆ่าเชื้อโรค, น้ำยากำจัดไรฝุ่น, กลุ่มอุปกรณ์ดูแลสุขอนามัยและสุขภาพ (health and hygiene devices) เช่น เครื่องทำน้ำยาอิเลคโทรไลต์  และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (personal protective equipment) เช่น หน้ากาก KN95 รวมแล้วมีสินค้ากว่า 40 รายการ

ด้วยปัญหาด้านความน่าเชื่อถือ ดังนั้น แอนิเทค แล็บพลัส ซีรีส์ จะเน้นนำเสนอ Value Proposition ของแบรนด์ ทั้งการวิจัยและพัฒนาที่เชื่อถือได้ มีการจดสิทธิบัตรคุ้มครอง การพัฒนาสินค้าให้ครบไลน์ ได้มาตรฐาน และรับประกันสินค้าทุกชนิดเหมือนกับกลุ่มเทคโนโลยี โดยเป็นแบรนด์เดียวที่รับประกันสูงสุด 50,000 บาทในทุกสินค้า รวมถึงพยายามทำให้ราคาต่ำกว่าตลาดเพื่อให้สามารถเข้าถึงได้

“Pain Point สำคัญคือ สินค้าขาดตลาด และที่มีวางขายทำให้ราคาสูง แต่ยังต้องลุ้นว่าจะเจอกับสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ ดังนั้นเราจึงมองว่าการรับประกันเป็นวิธีที่เร็วที่สุด เพราะเเม้เราจะเป็นหน้าเก่าในอุตสาหกรรมไอที แต่พอต้องข้ามอุตสาหกรรม เราก็ทำให้เขารู้ว่าเราพยายามมากกว่าที่คิด

ตลาดแข่งขันสูง แต่ไม่เท่า ‘ไอที’

Health & Wellness เป็น Mega Trends ของโลกโดยรายงานจาก Statista ระบุว่าสินค้ากลุ่มสุขอนามัยส่วนบุคคลและครัวเรือนทั่วโลกในปี 2020 มีมูลค่า 928,966 ล้านบาท ส่วนเอเชียมีมูลค่า 310,716 ล้านบาท ด้านประเทศไทยมีมูลค่าราว 17,262 ล้านบาท แม้จะมีโอกาสเติบโตเนื่องจากไม่มีผู้นำตลาดอย่างแท้จริง แถมไม่มีแบรนด์ไทยที่ทำครบ แต่การแข่งขันจากแบรนด์ต่างชาตินั้นค่อนข้างสูงแต่ยังไม่รุนแรงเท่ากับสินค้าไอที

“ประเทศไทยเก่งเรื่องการเเพทย์ เก่งเรื่องสาธารณสุข เเต่ไม่มีแบรนด์ไทยที่ทำด้านผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพอย่างครบวงจรจริง ๆ”

อย่างในกลุ่มแอลกอฮอล์แข่งขันรุนแรงมาก แต่กลุ่มน้ำยาทำความสะอาดยังไม่มีผู้นำตลาดอย่างชัดเจน ส่วนกลุ่มดีไวซ์ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจีนและไม่มีมาตรฐานอย่างถูกต้อง เน้นแข่งด้านราคาเป็นหลัก ดังนั้น ราคาเราอาจจะแพงกว่าบ้าง แต่เรามีเทสรีพอร์ต มีรับประกัน และเป็นแบรนด์แรกที่ครบจริง ๆ และเพื่อให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น ดังนั้นเราพยายามจะจัดจหน่ายในทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต ออนไลน์ และร้านขายยาที่เรากำลังพยายามจะเข้าไปอยู่

“เรามั่นใจว่าพฤติกรรมผู้บริโภคจะไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมอีกแน่นอน แม้จะมีวัคซีนของ COVID-19 แต่เชื้อโรคมันมีวิวัฒนาการ ดังนั้นมันอาจจะมีเชื้ออื่น ๆ ตามมา การรักษาความสะอาดจะเป็นเรื่องปกติในการใช้ชีวิต”

ไม่ทิ้งสินค้าไอที

ในส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างปลั๊กไฟยังเป็นบอร์ 1 ส่วนสินค้าอื่น ๆ ยังคงเติบโตได้ในช่วงล็อกดาวน์ ทั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อย่างเช่น เกมมิ่งเกียร์, หม้อทอดไร้น้ำมัน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความต้องการแต่การนำเข้าส่งออกสินค้านั้นติดขัดไปหมด แม้จะผ่านช่วงคลายล็อกดาวน์ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่บริษัทยังเติบโตได้

“ตอนนี้การแข่งขันในตลาดไอทีก็ดุเดือดอย่างเสียวหมี่ แบรนด์จีนที่เข้ามาใหม่ก็ค่อนข้างมีผลกระทบกับตลาดไทย โดยเฉพาะในด้านของเทรนด์ต่าง ๆ แต่ตอนนี้ยังไม่แมสมากยังเป็นที่รู้จักแค่ในสังคมเมือง”

ทั้งนี้ มองว่าสินค้า ‘IoT’ จะเป็นไลฟ์สไตล์ในอนาคตแน่นอน แม้ตอนนี้ยังไม่ได้พัฒนาออกมาเยอะ เพราะต้องรอดูการเข้าถึงว่าครอบคลุมมากน้อยเพียงใดก่อน แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งบางรายที่ยังไม่จุดสตาร์ทด้วยซ้ำแต่เราเริ่มออกเดินแล้ว อย่างไรก็ตาม อยากให้ภาครัฐออกมาตั้งกฎเกี่ยวกับสินค้า IoT เพราะหากปล่อยให้บริษัทต่างชาติยึดตลาดไป ข้อมูลในประเทศไทยจะไหลไปอยู่ในมือต่างชาติหมด ดังนั้นรัฐต้องยื่นมือเข้ามาให้เร็วที่สุด

5 ปีจากนี้บาลานซ์รายได้ทุกกลุ่ม

ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 บริษัทฯ ได้เริ่มจำหน่ายสินค้าในกลุ่มแอนิเทค แล็บพลัส ซีรีส์ จนถึงปัจจุบันมียอดขายรวมทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านบาท และมั่นใจว่าสิ้นปีจะสามารถปิดยอดขายที่ 45 ล้านบาท ส่วนภาพรวมทั้งปีคาดว่าจะมีรายได้ 350 ล้านบาท เติบโต 10% และในปี 2564 บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายรวม 400 ล้านบาท โดยวางเป้าสินค้ากลุ่มแอนิเทค แล็บพลัส ซีรีส์ ให้มียอดขายไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท และในอีก 5 ปีข้างหน้า ยอดขายสินค้ากลุ่มนี้จะสามารถถือครองอัตราส่วน 30% ของรายได้รวม หรือกว่า 240 ล้านบาท

“จากนี้เราไม่ต้องมีกรอบ เรามีคำว่าเทคแต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องทำแต่เทค เราอยากยกระดับคุณภาพชีวิต แต่ทำอย่างเดียวยกระดับไม่ได้แน่นอน ดังนั้นเราต้องเป็น Lifestyle Company อันดับ 1 โดยมีจุดแข็งคือ สร้างธุรกิจจาก Pain Pointไม่แพง คุณภาพดี มีการรับประกัน และเราต้องการเป็นหนึ่งในส่วนที่เปลี่ยนแปลงและยกระดับชีวิต ไม่ใช่แค่นำความสุขสู่บ้าน แต่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตควบคู่ไปด้วย”