‘ส. ขอนแก่นฟู้ดส์’ ประกาศงบ Q3/63 กำไรสุทธิพุ่ง 838.1% รุกขยายฐานกลุ่มผู้บริโภค ผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ รับเทรนด์ใหม่มาแรง

‘ส. ขอนแก่นฟู้ดส์’ หรือ SORKON เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3/63 ทำกำไรสุทธิ 39.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 838.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้รวม 684.7 ล้านบาท รับผลดีจากราคาสุกรขุนมีการปรับตัวสูงขึ้น และบริหารค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น เดินหน้าขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ผ่านการร่วมมือแพลตฟอร์ม เดลิเวอรี่ต่าง ๆ หนุนเพิ่มยอดขายในอนาคต 

นายจรัสภล รุจิราโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน (RTEQSR) บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SORKON ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์รายใหญ่ของไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2563 (กรกฎาคม-กันยายน 2563) มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ 39.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 838.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4.2 ล้านบาท ผลจากราคาสุกรขุนมีการปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับต้นทุนในการเลี้ยงสุกรขุนลดลง และมีการบันทึกกำไรจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขายของสินทรัพย์ชีวภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารให้ลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สำหรับรายได้รวมอยู่ที่ 684.7 ล้านบาท ลดลง 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 696.9 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการขาย 666 ล้านบาท ทั้งนี้ ธุรกิจอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ (อาหารพื้นเมืองไทย อาหารขบเคี้ยว และอาหารแช่แข็งพร้อมทาน) ด้านธุรกิจร้านอาหาร ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID19 ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นหลังยอดส่งออกไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น และธุรกิจฟาร์มสุกรมีอัตราเติบโตมากขึ้นในไตรมาสนี้ผลจากสุกรขุนมีราคาเพิ่มสูงขึ้น

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน (RTEQSR) หรือ SORKON กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมา SORKON ได้ปรับโฉมและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ผ่านการเสนอความเป็นสินค้าไทยโดยใช้สัญลักษณ์ (Iconic) “ส.” เพื่อสร้างความแตกต่างและการจดจำของแบรนด์ และทำการประชาสัมพันธ์ สินค้าของ ส.ขอนแก่น ให้กับกลุ่มผู้บริโภคผ่านข้อความ ชีวิตดี๊ดี เมื่อมี ส.ขอนแก่น ติดบ้าน ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจกลุ่มผู้บริโภคหลากหลาย โดยเฉพาะลูกค้ามิลเลนเนียล หรือกลุ่มวัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน ซึ่งเป็นฐานผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในอนาคต 

นอกจากนี้ ได้ปรับกลยุทธ์ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยได้เพิ่มช่องทางกระจายสินค้า พร้อมขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ผ่านการให้บริการแบบ Cloud Kitchen ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการออนไลน์เพิ่มขึ้น ผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ ซึ่งเป็นการขยายตลาดของธุรกิจร้านอาหารโดยไม่ต้องมีหน้าร้าน โดยบริษัทฯ จะเพิ่มน้ำหนักในช่องทางการขายเดลิเวอรี่ ผ่านการร่วมมือกับแพลตฟอร์ม แอปเดลิเวอรี่ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับบริษัทฯ อีกทางหนึ่ง