แม็คโคร-ท็อปส์-ซีพี เฟรชมาร์ท คว้าตำแหน่ง “ซูเปอร์มาร์เก็ต” รับผิดชอบสังคมสูงสุด

3 ภาคีภาคประชาชนจัดทำแคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก” วัดระดับนโยบายของ “ซูเปอร์มาร์เก็ต” ในไทยว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน ผลจากการตรวจสอบพบว่า “แม็คโคร-ท็อปส์-ซีพี เฟรชมาร์ท” ได้คะแนนสูงสุด ส่วนอีก 5 แห่งได้คะแนนลดหลั่นกันลงไป ไปจนถึงไม่มีคะแนนเลย

แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก” จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 (ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อว่า “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก”) โดยความร่วมมือของภาคี 3 ฝ่าย ได้แก่ เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ องค์การ OXFAM ประเทศไทย เพื่อวัดผลการดำเนินงานของซูเปอร์มาร์เก็ตในไทย มุ่งหวังผลักดันให้อาหารที่ขายในซูเปอร์ฯ ดีตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง คือเป็นอาหารที่ผลิตอย่างเป็นธรรมกับเกษตรกร ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบผู้บริโภค

ครั้งนี้แคมเปญผู้บริโภคที่รักสำรวจการดำเนินงานแยกเป็น 3 มิติ รวมทั้งหมดมีคะแนนเต็ม 24 คะแนน คือ
1) ความรับผิดชอบต่อสวัสดิการผู้บริโภค เช่น ความปลอดภัยของอาหาร ส่วนประกอบและที่มาของอาหาร กลไกการรับเรื่องร้องเรียน
2) ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับคู่ค้า เช่น การส่งเสริมอาหารยั่งยืน การใช้ยาและสารเคมี การบริหารจัดการน้ำ
3) ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของห้างค้าปลีก เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติก การจัดการน้ำทิ้ง ความสัมพันธ์กับชุมชน

แคมเปญได้ ตรวจสอบซูเปอร์ฯ ทั้งหมด 8 รายใหญ่ของไทย คือ เทสโก้ โลตัส (2,000 สาขา), บิ๊กซี (996 สาขา) ซีพี เฟรชมาร์ท (610 สาขา), เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล – ท็อปส์และเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ (225 สาขา), แม็คโคร (129 สาขา), วิลล่า มาร์เก็ต (47 สาขา), ฟู้ดแลนด์ (30 สาขา) และ กูร์เมต์ มาร์เก็ต (17 สาขา) — *ข้อมูลจำนวนสาขาจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปี 2562

ทั้งหมดดำเนินการตรวจสอบระหว่างเดือนตุลาคม 2562 – เมษายน 2563 โดยวัดผลจากการประกาศแนวนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสาธารณะในช่องทางใดๆ ก็ได้ เช่น รายงานประจำปี โซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ของบริษัท เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของซูเปอร์มาร์เก็ตในการทำตามสัญญา

สรุปการสำรวจพบว่า “แม็คโคร” “เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล – ท็อปส์และเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์” และ “ซีพี เฟรชมาร์ท” เป็นแบรนด์ที่ได้รับคะแนนสูงที่สุดคือ 9 คะแนนเท่ากัน รองลงมาคือ เทสโก้ โลตัส 3 คะแนน กูร์เมต์ มาร์เก็ต 2 คะแนน ส่วนบิ๊กซี วิลล่า มาร์เก็ตและฟู้ดแลนด์ ไม่มีคะแนน (ตามอินโฟกราฟิกด้านล่าง) ทั้งนี้ ทางแคมเปญชี้แจงคะแนนของบิ๊กซีเพิ่มเติมว่า หลังจากปิดรอบสำรวจในเดือนเมษายนไป บิ๊กซีเริ่มออกนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้เชื่อว่าปี 2564 จะได้เห็นคะแนนของบิ๊กซีที่ดีขึ้น

เร่งพัฒนา “กลไกการร้องเรียน” ให้เป็นธรรม

“จิดาภา มีเพียร” เจ้าหน้าที่ฝ่ายการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน องค์การ OXFAM ประเทศไทย กล่าวว่า ในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตแถวหน้าที่มีนโยบายเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมนั้น มีสิ่งที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยเริ่มทำให้เป็นรูปธรรมแล้ว เช่น การแสดงข้อมูลส่วนประกอบ แหล่งที่มาของสินค้าที่จำหน่าย การรับประกันความสดใหม่ของสินค้า มีนโยบายอาหารปลอดภัยในกลุ่มเนื้อสัตว์ งดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก

ส่วนสิ่งที่ยังต้องปรับปรุงเร่งด่วน เช่น กลไกการร้องเรียนและเยียวยาผู้บริโภค การเปิดเผยข้อมูลสารตกค้างโดยเฉพาะในกลุ่มผักผลไม้ การพัฒนากลไกการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า เป็นต้น และโดยภาพรวมแล้ว แม้แต่กลุ่มแถวหน้าก็ยังมีความรับผิดชอบค่อนข้างน้อยจากคะแนนที่ได้ 9 จาก 24 คะแนน

ความสำคัญจำเป็นนั้น แคมเปญดูจะเน้นหนักว่าควรพัฒนาด้านสิทธิผู้บริโภคที่เป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น “กลไกการร้องเรียนและเยียวยา” ส่วนนี้ “ทัศนีย์ แน่นอุดร” ผู้จัดการสำนักงาน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายว่า การร้องเรียนของผู้บริโภคในไทยยังติดต่อร้องเรียนและรับการเยียวยาได้ยาก เมื่อพบสินค้าที่ซื้อมาบริโภคแล้วมีปัญหา

“ผู้บริโภคไทยจะมองเรื่องมูลค่าสินค้าเป็นหลัก เมื่อสินค้าราคาไม่แพงมาก หากกลไกร้องเรียนยุ่งยาก เขามักจะไม่ผลักดันต่อ” ทัศนีย์กล่าว “จากประสบการณ์ที่เราทำงานกับผู้บริโภคมา เมื่อติดต่อร้องเรียนไปที่ซูเปอร์ฯ เรื่องจะถูกโยนไปมาระหว่างแผนก และไม่มีหลักการชัดเจนว่าจะเยียวยาในกรณีไหน เป็นมูลค่าเท่าใด และใช้เวลามากน้อยแค่ไหน”

ทัศนีย์มองว่า หากซูเปอร์มาร์เก็ตมีนโยบายและแผนกรับเรื่องร้องเรียนที่ชัดเจน รวดเร็ว จะสามารถคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคได้ดีกว่าและไม่เสียเวลาในการเจรจาต่อรองกัน

 

ต้องตรวจสอบย้อนกลับได้-ดูแลเรื่องสารตกค้าง

ส่วนในแง่ “การตรวจสอบย้อนกลับ” หมายถึงตัวสินค้ามี QR CODE ที่สามารถสแกนและทราบได้ว่าสินค้าผลิตและบรรจุจากแหล่งใด ซึ่งในงานแถลงครั้งนี้มีการสุ่มซื้อสินค้าจากซูเปอร์ฯ ต่างๆ มาทดลองให้เห็นว่าอาหารจากห้างฯ ตรวจสอบย้อนกลับได้หรือไม่ ผลปรากฏว่ามี 3 เจ้าที่มี QR CODE บนฉลากและใช้ได้จริง คือ แม็คโคร-สินค้า ‘ข่าอ่อน’ ตรวจย้อนได้ทั้งแหล่งผลิตและโรงคัดบรรจุ, ท็อปส์-สินค้า ‘ตะไคร้’ ตรวจสอบทราบชื่อเกษตรกรและโรงคัดบรรจุ และ เทสโก้ โลตัส-สินค้า ‘มะกรูด’ ตรวจย้อนได้เฉพาะโรงคัดบรรจุ ไม่ระบุชื่อแหล่งผลิต

ต่อประเด็นนี้ “ปรกชล อู๋ทรัพย์” ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) กล่าวว่า QR CODE บอกแหล่งผลิตสินค้าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคสบายใจ เพราะทราบว่าอาหารที่ทานมาจากไหน
และมีมาตรฐานหรือไม่

ทั้งนี้ หนึ่งในดัชนีชี้วัดครั้งนี้ที่ไม่มีซูเปอร์ฯ รายใดได้คะแนนเลยคือ “การใช้ยาและสารเคมี” เป็นประเด็นที่ Thai-PAN ขอฝากให้ซูเปอร์ฯ ซึ่งเป็นตัวกลางในการจัดหาสินค้าจากเกษตรกร พัฒนาให้ดีขึ้น เพราะสารเคมีตกค้างเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องอาศัยความเชื่อมั่นต่อมาตรฐานของผู้จำหน่ายเท่านั้น

การขับเคลื่อนของแคมเปญไม่ได้จบลงเพียงแค่นี้ จิดาภาจาก OXFAM กล่าวว่า โครงการได้ทาบทามซูเปอร์มาร์เก็ตให้มาร่วมทำแคมเปญกับโครงการแล้ว แคมเปญดังกล่าวจะเป็นการจัดทำ “ไกด์ไลน์” ให้กับระบบตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกันของทุกซูเปอร์ฯ ว่าผู้บริโภคควรได้รับข้อมูลอะไรบ้าง โดยมีซูเปอร์ฯ ให้ความสนใจแล้ว 4 แห่ง คาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2564 และหวังว่าไกด์ไลน์นี้จะเป็นตัวอย่างให้กับซูเปอร์ฯ อื่นๆ รวมถึงขยายวงไปจนถึงร้านสะดวกซื้อในอนาคต