ดราม่า ‘คืนอาชีพให้นักพากย์’ เมื่อดารามาแทนที่นักพากย์เพียงเพราะ ‘การตลาด’

อนิเมชั่นสุดร้อนแรงแห่งปีของญี่ปุ่น ‘Kimetsu No Yaiba : Mugen Ressha Hen (ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่ : ศึกรถไฟสู่นิรันดร์)’ ที่สามารถทำเงินได้ถึง 20,000 ล้านเยนภายใน 20 วัน กำลังจ่อคิวฉายที่ไทยในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ แต่เพียงแค่ปล่อยตัวอย่างเวอร์ชัน ‘พากย์ไทย’ ออกมาเกิดดราม่าเพราะผู้ให้เสียง ‘อากาสึมะ เซ็นนิตสึ’ นั้นคือ ‘ไอซ์ พาริส อินทรโกมาลย์สุต’ ซึ่งเป็น ‘ดารา’ ขณะที่เหล่าแฟน ๆ มองว่าควรให้ ‘นักพากย์’ มาให้เสียงมากกว่าจนเกิดแฮชแท็ก #คืนอาชีพให้นักพากย์

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ดาราพากย์หนัง

แน่นอนว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่ดารามาจับงานพากย์เสียงให้ภาพยนตร์ ถ้าใครชมภาพยนตร์อย่าง Toy Story ก็ได้ดารารุ่นใหญ่อย่าง ‘สรพงษ์ ชาตรี’ มาให้เสียงเป็น ‘วูดดี้’ ตัวเอกของเรื่อง หรืออย่าง ‘ดีเจเชาเชา’ ที่ให้เสียงเป็น ‘อาโป’ ใน ‘กังฟู แพนด้า’ และอย่างในภาพยนตร์ ‘Harry Potter’ น้อยคนจะรู้ว่า ‘อาหมู ดิลก ทองวัฒนา’ พากย์เป็น ‘ลอร์ด โวลเดอมอร์’ ตัวร้ายของเรื่อง

อย่างไรก็ตาม ที่ตัวอย่างส่วนใหญ่ที่หยิบยกมานั้น เป็นงานพากย์ที่แฟน ๆ ภาพยนตร์ยอมรับว่าออกมาดีเหมือนต้นฉบับ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่พากย์ออกมาแล้วเกิดดราม่าไม่ต่างจากครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ‘Green Lantern’ ที่ได้ ‘แดน วรเวช ดานุวงศ์’ ที่ให้เสียงเป็น ‘ฮาล จอร์แดน’ พระเอกของเรื่องที่หลายคนออกอาการไม่ชอบอย่างแรง หรือที่ดราม่าอย่างหนักเลยก็คือ ‘one piece the movie film gold’ ที่ได้ ‘ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์’ ที่พากย์เสียงเป็นตัวร้าย

กระแสแรงเพราะแฟน ๆ ‘คาดหวัง’

มีหลากหลายสาเหตุที่ผู้จัดจำหน่ายต้องดึงราคามาให้เสียงพากย์ไทย อาทิ มีโทนเสียงตรงตามต้นฉบับ (อย่างชาคริต แย้มนาม ที่เคยให้เสียงไทยในสตาร์วอส์ แม้แฟน ๆ ในไทยจะไม่ชอบ แต่ถูกใจจอร์จ ลูคัส ผู้กำกับมาก) และอีกสาเหตุก็คือ ‘สร้างกระแส’ แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ผ่านการให้เสียงภาษาไทยโดยดารานั้นมีทั้งดีและไม่ดีอย่างที่ระบุไปตั้งแต่ตอนต้น เนื่องจากการพากย์ไม่ใช่อะไรที่ง่าย ดังนั้น จะให้พากย์ออกมาดีสู้นักพากย์อาชีพคงไม่ง่าย

อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งที่ทำให้ดราม่าเสียงพากย์ของอนิเมะ ‘Kimetsu No Yaiba : Mugen Ressha Hen’ นั้นแรงกว่าครั้งไหน ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ‘ภาพจำ’ ที่ไม่ดีนักของการดึงเอาดารามาพากย์หนัง ทำให้แฟน ๆ ของ Kimetsu No Yaiba เกิดอาการ ‘ไม่พอใจ’ เพราะกลัวว่าจะไม่ได้อรรถรสเหมือนกับต้นฉบับ นอกจากนี้เสียงที่ไอซ์ พาริสให้เสียงนั้นคือ ‘อากาสึมะ เซ็นนิตสึ’ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ตัวหลักของเรื่อง ไม่ใช่ตัวละครใหม่ที่ออกมาเฉพาะหนังโรงเหมือนที่เคย ๆ

อากาสึมะ เซ็นนิตสึ

‘ข้อเปรียบเทียบ’ ชัดเกินไป

สำหรับอนิเมชั่นฉบับซีรีส์ของ Kimetsu No Yaiba นั้นบริษัท ‘การ์ตูนคลับ’ เป็นผู้คว้าลิขสิทธิ์ในไทย โดยได้ ‘ม็อบ กิตติธร พันธ์โคกกรวด’ นักพากย์มืออาชีพ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากแฟนการ์ตูนว่าใกล้เคียงกับต้นฉบับเสียงของญี่ปุ่น ดังนั้น ไอซ์ พาริสจึงไม่ใช่แค่โดนอคติจากภาพจำเมื่อดารามาพากย์เสียง แต่มันมี ‘ข้อเปรียบเทียบ’ ที่ชัดเจนอย่างมาก

ไอซ์ พาริส อินทรโกมาลย์สุต

อย่างไรก็ตาม การพากย์หนังพากย์การ์ตูนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยประสบการณ์และการฝึกฝน ดังนั้น คงจะโทษถึงตัวดาราที่ให้เสียงพากย์ได้ไม่ดีตามความคาดหวังคงจะไม่ได้ เนื่องจากการพากย์ไม่ได้เป็นอาชีพหลัก แต่จากนี้เหล่าค่ายหนังที่ซื้อหนังมา อาจจะต้องทบทวนเรื่องการดึงดารามาพากย์เสียงในหนัง ว่าสุดท้ายแล้วดาราที่ดึงมาพากย์นั้นจะช่วยดึงดูดให้มีผู้ชมเยอะขึ้นหรือทำให้หายไปกันแน่ เพราะต้องยอมรับว่ามีดาราน้อยคนที่จะทำได้ดี ไม่อย่างนั้นก็จะมีดราม่า ‘คืนอาชีพให้นักพากย์’ วนเวียนไม่รู้จบอย่างนี้