“เด็กเคส” ปั้นเด็กล่ารางวัลแผนธุรกิจ

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากรุ่นสู่รุ่นของหลักสูตร BBA ของ Thammasat Business School ได้รับการวางแผนไว้อย่างเป็นระบบตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา นั่นจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่อยู่ๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ไปปักหมุดสร้างชื่อเสียงจนโดดเด่นในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะใน 10 ปีหลังที่จริงจังกับโครงการ Star Search เป็นอย่างมาก

ชื่อเสียงในเวทีโลกของธรรมศาสตร์ส่วนหนึ่งมาจาก “เด็กเคส” ซึ่งคัดสรรจากนักศึกษาจากโครงการปริญญาตรีบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ หรือ BBA คณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือชื่อเสียงเรียงนามที่รู้จักกันในระดับนานาชาติว่า TBS

การคัดเลือกนักศึกษาเพื่อร่วมโครงการ Star Search จะเริ่มตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 แต่ละปีเฉลี่ยจะมีนักศึกษาสนใจสมัครราว 50 คน จากนักศึกษาทั้งโครงการ 100 คนต่อชั้นปี จากนั้นจะทำการคัดเลือกเหลือปีละ 10-14 คน เพื่อเป็น “เด็กเคส” อันเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกกันเฉพาะหมายถึงนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกและต้องติว Case Study ทั้งด้านการเงิน การตลาดอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่า 7 วันต่อสัปดาห์ของนักศึกษากลุ่มนี้หมดไปกับการเรียนและการติวอย่างเข้มข้น อย่างต่ำ 10 กรณีศึกษาต่อเทอม ไปจนกระทั่งจบการศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมไปแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไป

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการและสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวทีโลก รศ.ดร.กุลภัทรา สิโรดม คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หนึ่งในผู้ก่อตั้ง BBA มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็น BBA แห่งแรกในประเทศไทย และ เจมส์ พี. ฟิตส์แพททริค ให้รายละเอียดที่น่าสนใจ

แน่นอนว่าเด็กเคสจะต้องเผชิญกับความกดดันอย่างรอบด้าน แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ Profile ชั้นดีและ Connection ชั้นเยี่ยมที่จะได้จากการไปแข่งขันในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการแข่งขันแบบ By Invitation Only

เด็กเคสของที่นี่จึงถูกส่งเดินสายล่ารางวัลในต่างประเทศเป็นว่าเล่น ขณะที่เวทีในประเทศก็ขึ้นอยู่กับนักศึกษาว่าจะลงแข่งเวทีใดเพื่อเพิ่มประสบการณ์ของตัวเอง จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นรายชื่อของผู้ชนะในเวทีต่างๆ ซ้ำๆ กันไปในแต่ละปี เพราะบทบาทของพวกเขาคือ “ผู้ล่า”

ล่าสุดกับการชนะ McGill Management International Case Competition 2010 แข่งกับ The Wharton School ของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เป็นต้น ซึ่งแต่ละแห่งล้วนแล้วเคยเป็นผู้ชนะของเวทีนี้ด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นสำหรับในปี 2553 นี้ เด็กเคสจาก TBS จึงเป็น Grand Champion และจะมีโอกาสกลับมาป้องกันแชมป์อีกครั้งในปีหน้าและปีต่อๆ ไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนกฎ กติกา

โดยการแข่งขันในแต่ละครั้งจะเป็นในรูปแบบของทีม ทีมละ 4 คน แต่ละคนจะมีหน้าที่ชัดเจน เช่น คนกล่าวเปิด คนพรีเซนต์กลยุทธ์ คนวิเคราะห์แผนการเงิน คนกล่าวสรุป เป็นต้น

“สอนในเรื่องการทำพรีเซนเทชั่นต้องเก่งและคล่อง เพราะสำคัญมาก ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างบรรยากาศการเรียนให้ตื่นเต้นไม่น่าเบื่อ มีการแสดงความคิดเห็นกันตลอดเวลา แต่เราพยายามส่งเด็กที่มีให้กระจายกันไปในแต่ละชั้นปีมีทั้งสาขาการตลาดและการเงิน แต่ไม่ใช่ว่าเป็นเด็กเคสแล้วทุกคนจะได้ไป ไม่ได้การันตี และเราไม่ได้ส่งเฉพาะดรีมทีมไปในทุกเวที แต่จะเน้นว่าถ้าไปแข่งแล้วจะต้องแสดงถึงศักยภาพและคุณภาพของธรรมศาสตร์ให้ได้”

นอกจากนี้เด็กเคสของ BBA สร้างผลงานเด่นกับการแข่งขันระดับนานาชาติมากกว่า 60 ครั้งที่เข้าร่วมการแข่งขัน โดยชนะเลิศ 11 ครั้ง และเข้ารอบสุดท้ายเกินครึ่ง

“เรามีงบสำหรับ ปีละ 7-10 ล้านบาท ทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าเบี้ยเลี้ยงของทีม โดยเวทีแข่งขันมีจัดขึ้นทั่วโลกทั้งสิงคโปร์ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สเปน แคนาดา ฯลฯ แต่ละปีจะมีการแข่งขันแผนธุรกิจปีละ 8-9 ครั้ง ที่เราส่งเด็กไปร่วมประลองความสามารถ”

อีกทั้งยังมีงบประมาณในการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมตลอดจน Field TripสำหรับนักศึกษาBBA ทุกชั้นปีด้วย

“และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมBBA เป็นหลักสูตรที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงที่สุดในธรรมศาสตร์ มากกว่าสายวิทยาศาสตร์เสียอีก” คณบดีผู้ปลุกปั้น BBA มากับมือบอก

ขณะที่เจมส์เล่าว่ามีหลักการสร้างทีมให้กับเด็กเคส คือ “ครอบครัวมาเป็นอันดับ 1 ความรู้ทางวิชาการมาเป็นอันดับ 2 ตามด้วยการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ”

แคทรียา ธีรรัฐพล ซึ่งเพิ่งคว้าปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาการเงิน จาก BBA ไปครอง เป็นหัวหน้าทีมในการแข่งขันครั้งนี้ และเธอเป็นตัวแทนของเด็กเคสไปแข่งขันมาแล้วถึง 7 ครั้ง บอกว่า

“ค่าเทอมตลอดหลักสูตรกว่า 600,000 บาท ของ BBA ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ายิ่งขึ้นไปอีก หากสามารถเป็นเด็กเคสและไปคว้ารางวัลมาได้ แต่ทุกคนรู้ดีว่าไม่ใช่เรื่องง่าย”

ไอเดียเด็ดพิชิต McGill

โจทย์คือการหาพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจนอกเหนือไปจากลาสเวกัสซึ่งตลาดของธุรกิจโชว์เริ่มเต็มแล้ว ให้กับ Cirque Du Soleil บริษัทแคนาดา

พวกเธอทั้ง 4 คน คือ แคทรียา ธีรรัฐพล จิรญา บุญญเศรษฐ์ วรวรรณ หวังพนิตกุล และ มนสิณีย์ สัตยารักษ์ เลือกตลาดใหม่ที่เหมาะสมโดยวิเคราะห์จากจำนวนนักท่องเที่ยว รายได้ ฯลฯ และนำเสนอ 4 เมืองใหม่ที่มีศักยภาพในการลงทุนให้กับ Cirque Du Soleil คือ ลอนดอน นิวยอร์ก ซิดนีย์ และเบอร์ลิน นำเสนอคอนเทนต์ในการโชว์ที่ต้องมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลกอยู่แล้ว เช่น Michael Jackson Show ซึ่งตอบโจทย์ในแง่ Penetration รวมถึงการเสนอแผนลงทุนที่ชัดเจนในเรื่องของการเข้าตลาดในแต่ละเมืองตามลำดับความเหมาะสมและการคืนทุน

ชัยชนะครั้งนี้จากการบอกเล่าของคณะกรรมการ เป็นเพราะสามารถจับประเด็นได้ตรงจุด ตีปัญหาได้แตก นำเสนอกลยุทธ์ได้ครอบคลุมและสามารถทำให้เป็นจริงได้

ทั้งนี้ทุกทีมจะได้รับโจทย์พร้อมกันเมื่อถึงเวลาการแข่งขันพร้อมกับระยะเวลา 22 ชั่วโมงในการวิเคราะห์และทำพรีเซนเทชั่น มีการจำกัดการใช้อินเทอร์เน็ต จากนั้นมีเวลา 20 นาที ในการพรีเซนเทชั่น และในช่วงถาม-ตอบ อีก 15 นาที ถือเป็นเวลาที่กดดัน กอปรกับคู่แข่งที่มีชื่อเสียงคับโลก แต่กับ “เด็กเคส” ที่ผ่านมาการเคี่ยวกรำมาอย่างหนักนี้ทำให้สามารถผ่านพ้นจนคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้