แอลจีหาเพื่อนเที่ยว

นับเป็นอีกแคมเปญการตลาดที่สร้างความฮือฮาไม่เบา สำหรับแคมเปญ “ตามหามือปืนรับเที่ยว” เพื่อโปรโมตสมาร์โฟนตัวล่าสุด Optimus One ที่เพิ่งคลอดออกมาไม่นาน ด้วยการประกาศรับสมัครผู้ที่จะร่วมเดินทางไปประเทศเกาหลี ได้ทั้งเที่ยวฟรี แถมยังได้ทั้งเงิน

ช่วงแรกของการโปรโมตแคมเปญนี้ ทำให้นึกถึงแคมเปญ Best job in the world ของการท่องเที่ยวออสเตรเลีย ที่เคยสร้างกระแส Buzz Marketing ในโลกออนไลน์มาแล้ว ส่วนแคมเปญของแอลจีก็เช่นกัน พวกเขาหวังว่า ข้อเสนอเที่ยวฟรี แถมยังได้เงินอีก 1 แสนบาท จะเกิดการบอกต่อ แคมเปญ (ไวรัล) โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่กำลังจบการศึกษา หรืออยู่ระหว่างหางาน

นั่นเป็นแค่ช่วงแรกของโปรโมตแคมเปญนี้เท่านั้น ณัฐวัชร์ ศิริวงศ์ศาล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือ บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า เป้าหมายของแอลจีต้องการให้คนทั่วไปได้รู้จักฟังก์ชันการทำงาน และแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน Optimus One เนื่องจากผลสำรวจผู้บริโภคทั่วไปบนท้องถนน พบว่า แม้ว่าคนส่วนใหญ่รู้จักสมาร์ทโฟนแล้วก็ตาม แต่ไม่รู้ว่ามีฟังก์ชันการใช้งาน หรือมีแอพพลิชั่นทำอะไรได้บ้าง

การทำตลาดสมาร์ทโฟนไม่เหมือนกับโทรศัพท์มือถือทั่วไป นอกจากดีไซน์และราคาต้องจูงใจแล้ว ฟังก์ชันการใช้งาน “แอพพลิเคชั่น” เป็นเรื่องสำคัญ เปรียบได้กับการมีฮาร์ดแวร์ดี จำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์ที่จะตอบสนองการใช้งานในด้านต่างๆ ที่ผู้ใช้สนใจ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจึงต้องสร้างแอพฯ ต่างๆ ให้โหลดใช้ฟรี และเสียเงิน เช่น ไอจูน ของไอโฟน App Market ของซัมซุง

แอลจีก็เช่นกัน ยิ่งวาง Positioning ไว้เป็นสมาร์ทโฟนระดับแมสด้วยแล้ว แอลจีจึงต้องเร่งสปีด ให้คนทั่วไปได้เรียนรู้โดยเร็ว “เป็นความท้าทายของแอลจี ที่ต้องทำให้คนทั่วไปรู้ว่า Optimus Oneมีฟังก์ชันการใช้งานอะไรบ้าง ช่วยกระตุ้นให้ตลาดสมาร์ทโฟนเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น”

ไฮไลต์ของแคมเปญนี้อยู่ที่การผูกฟังก์ชัน Optimus One เข้าเรื่องราวของการท่องเที่ยวในเกาหลี เพื่อให้คนทั่วคนทั่วไปได้ง่ายๆ และยังได้ลุ้นไปด้วย โดยผู้ที่ได้รับเลือกจะเดินทางไปพร้อมกับดีเจโบ ธนากร ชินกูล ไปยังสถานที่ต่างๆ ตามที่โจทย์กำหนดไว้ โดยมีแค่ มือถือOptimus One เท่านั้น จากนั้นก็ต้องอัพโหลดภาพ และรายงานสดข้ามมาไทยตลอดทั้ง 10 วันในเกาหลี เพื่อออกอากาศสดในสถานีวิทยุฮอตเวฟให้คนติดตามแบบเรียลไทม์

วิธีการนี้ จะทำให้สื่อสารได้ว่า Optimus One มีฟังก์ชันช่วยให้เดินทางในเกาหลีได้โดยไม่ต้องมีอะไร แม้กระทั่งเรื่องของโปรแกรมภาษาในเครื่องช่วยในการสื่อสารกับคนเกาหลี และเมื่อต้องรายงานสดข้ามประเทศมาไทย เพื่อออกอากาศสดในสถานีวิทยุกรีนเวฟ ก็สื่อสารผ่านโปรแกรม Skype ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นหนึ่งในเครื่อง

ณัฐวัชร์บอกว่า แคมเปญนี้ต้องอาศัยทั้งสื่อออนไลน์และออฟไลน์พร้อมกัน โดยสื่อวิทยุ จะเอื้อต่อการรายงานสดได้แบบเรียลไทม์ และที่เลือกฮอตเวฟ เป็นรายการเหมาะกับกลุ่มวัยรุ่น ตัวดีเจโบก็มีแฟนคลับตั้งแต่อายุ 15-25 ปี

การวัดผล แบ่งได้สองช่วง ช่วงแรกโปรโมตแคมเปญ วัดจากคนเข้าดูโฆษณาออนไลน์ จำนวนคนสมัคร รวมถึงคนที่มาแสดงความเห็นเกี่ยวกับแคมเปญ และช่วงที่เดินทาไปเกาหลี วัดได้จากยอดคนเข้าฟังรายการ

“แคมเปญนี้เราใช้งบไม่มากแค่หลักแสนเท่านั้น แต่อยู่ที่ครีเอทีฟไอเดียเป็นหลัก” ณัฐวัชร์บอกด้วยความภูมิใจ

เครื่องมือของแคมเปญ
วัตถุประสงค์ ต้องการโปรโมตฟังก์ชัน และแอพพลิเคชั่นของสมาร์ทโฟน Optimus One
ความท้าทาย ทำอย่างไรให้คนทั่วไปเข้าใจฟังก์ชันการทำงานอย่างง่ายๆ
สถานที่ เลือกเกาหลี เพราะกระแสโคเรียฟีเวอร์ยังเป็นที่นิยมของวัยรุ่นไทย และเกาหลีเป็นประเทศที่มีระบบ 3G
สื่อ ออนไลน์ ใช้โปรโมตแคมเปญให้เกิดเป็นกระแสบอกต่อ
วิทยุ เป็นสื่อแมสที่รายงานสดแบบเรียลไทม์ได้ และเหมาะกับคนทั่วไป
เลือกรายการฮอตเวฟ มีกลุ่มคนฟังเป็นวัยรุ่น และเชี่ยวชาญเรื่องกิจกรรมการจัดทริป ส่วนดีเจโบ มีแฟนคลับอายุ 15-25 ปี
ระยะเวลาแคมเปญ 1 พฤศจิกายน 2553 – 6 กุมภาพันธ์ 2554 กินเวลากว่า 3 เดือน