ประชานิยมรถคันแรกแคมเปญนี้ “ปู” จัดให้

สำหรับแนวทางของมาตรการคืนเงิน 1 แสนบาทในการซื้อรถคันแรก ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะออกมาในลักษณะใด แต่หลักการที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ คืนเงินให้กับผู้ซื้อไม่เกินคันละ 1 แสนบาท

แต่กำลังพิจารณาราคารถยนต์ว่าจะใช้ตัวเลขที่ 7 แสนบาท หรือ 1 ล้านบาท พร้อมกับกำหนดประเภทรถกระบะ และรถยนต์ประหยัดพลังงาน เป็นรถยนต์ที่ได้รับสิทธิพิเศษนี้

ความหมายก็คือ นโยบายรัฐเล็งไปที่ตลาดรถกระบะและรถอีโค่คาร์ รถยนต์ประเภทอื่นไม่เข้าหลักเกณฑ์

ส่วนวิธีการลดภาษีมี 2 แนวทาง คือการลดภาษีสรรพสามิต แต่วิธีการนี้อาจมีปัญหาเรื่องการรั่วไหลหรือการตรวจสอบได้ยากสำหรับผู้ซื้อ เนื่องจากหลักการเก็บภาษีรถยนต์ของกรมสรรพสามิตเป็นการเก็บที่ต้นทาง หรือหน้าโรงงาน เมื่อลดภาษีให้ผู้ซื้อไปแล้วจะตรวจสอบเรื่องการเปลี่ยนมือผู้ซื้อไม่ได้ แต่ผู้ซื้อจะได้รับส่วนลดทันที

อีกแนวทางหนึ่งคือ การลดภาษีจากเงินได้บุคคลธรรมดา วิธีการนี้ตรวจสอบง่าย แต่ผู้ซื้ออาจไม่ชอบวิธีการนี้ด้วยต้องซื้อรถยนต์ราคาเดิม แล้วนำรายการซื้อมาหักลดหย่อนภายหลัง

หากรัฐบาลเลือกแนวทางนี้ ก็คือการใส่ยาไวอากร้าเข้าไปในตลาดรถกระบะ และรถอีโค่คาร์เต็มๆ คือคึกคักขึ้นมาทันที ในขณะที่ตลาดรถกลุ่มอื่นได้แต่คอยนั่งดูคนอื่นขายรถ

มาพิจารณาที่ตลาดรถกระบะเป็นที่ทราบกันดีว่าสิ้นปีนี้รถกระบะรถใหม่ของหลายค่ายจะเปิดตัว มาตรการนี้ก็คงต้องลากยาวไปถึงปลายปี คล้ายๆ กับอีโค่คาร์ที่จะเปิดขายเป็นรายที่ 3

การเติบโตของตลาดรถกระบะกับรถอีโค่คาร์ ถือว่าเป็นรถที่ตอบสนองการทำนโยบายประชานิยมเป็นอย่างยิ่ง กระบะได้ฐานเสียงกว้างตั้งแต่ชนบทถึงในเมือง ส่วนอีโค่คาร์ได้ฐานเสียงคนในเมือง กลุ่มคนเริ่มทำงาน และอีโค่คาร์กำลังเติบโตอย่างมากมายในตลาดรถ 2 ตลาดนี้ก็เพียงพอกับผลสำเร็จของนโยบายประชานิยมได้ไม่ยาก และดูเหมือนว่าค่ายรถยนต์แต่ละรายเองก็พร้อมยอมรับเงื่อนไขแบบง่ายๆ ไม่มีข้อโต้แย้งอะไร ให้ทำอะไรก็ว่าไปตามนั้น ซึ่งอาจจะมีการทำความเข้าใจมาก่อนหน้านี้แล้วก็ได้

ทางด้านค่ายผู้ผลิตรถเอง ก็ยังรอดูความชัดเจนของนโยบายนี้อยู่ สุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้าเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็บอกว่า ไม่ว่ารัฐจะกำหนดเงื่อนไขการส่งเสริมรูปแบบใด ผู้ประกอบการเห็นว่า ล้วนแต่เป็นการส่งเสริมทั้งสิ้น เนื่องจากทำให้คนสามารถซื้อรถได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญคือจูงใจผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อรถได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ที่เติบโตอยู่แล้วขยายตัวยิ่งขึ้น

แต่ที่ชัดเจนที่สุดก็คือค่ายฮอนด้า อรนุช พฤกษ์วัฒนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า มาตรการรถคันแรกของรัฐบาล ทางฮอนด้าเห็นด้วย และเชื่อว่าจะทำให้ตลาดรถขยายตัวขึ้น แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนในเรื่องมาตรการที่จะออกมา แต่ก็ไม่ทำให้ผู้ซื้อรถชะลอการตัดสินใจ ซึ่งอาจจะมีบางส่วนที่ตัดสินใจซื้อช้าลงบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก

“หากมาตราการนี้ออกมาให้สิทธิเฉพาะรถกระบะกับอีโค่คาร์ ฮอนด้าที่มี บริโอ้ เป็นรถอีโค่คาร์อยู่ ก็ไม่ได้จัดเตรียมแคมเปญอะไรเป็นพิเศษ เพราะว่ามีราคาขายต่ำอยู่แล้ว และฮอนด้าไม่มีนโยบายแข่งขันกันในเรื่องราคา”

เธอบอกด้วยว่า บริษัทได้กำหนดให้รถแต่ละรุ่นมีความชัดเจนในเรื่องกลุ่มลูกค้า และไม่คิดว่ามาตรการลด 1 แสนบาท จะทำให้รถบรีโอ้มาแย่งตลาดฮอนด้า ซิตี้ เพราะเป็นรถคนละกลุ่ม อีกทั้งจะมีการปรับโฉฒฮอนด้า ซิตี้ใหม่ ยิ่งทำให้สินค้ามีความแตกต่างกันมากขึ้น แต่ก็ได้จับตาดูการเปลี่ยนของยอดขายทั้งสองรุ่นนี้ ไม่ให้ทับซ้อนกันอย่างใกล้ชิด และพร้อมจะแก้ปัญหาทันทีหากเกิดขึ้น

“อาจจะมีบ้างที่กลุ่มลูกค้าทับซ้อนกัน แต่ไม่มาก” อรนุชยืนยัน

ส่วนค่ายรถอื่นๆ ต่างก็มีความเห็นคล้ายคลึงกันคือ จะทำให้ตลาดรถคึกคักขึ้น เมื่อมองโดยภาพรวม แต่ต้องดูรายละเอียดที่ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร

ค่ายรถใครได้-ใครเสียกับนโยบายรถคันแรกลด 1 แสนบาท
บริษัท รถกระบะ รถอีโค่คาร์
โตโยต้า วีโก้
อีซูซุ ดีแมคซ์
มิตซูบิชิ ไทรทัน โกลบอล สมอล
นิสสัน นาวารา มาร์ช
ฮอนด้า ไม่มี บริโอ้
มาสด้า BT-50
ฟอร์ด เรนเจอร์
เชฟโรเลต โคโลราโด้
ทาทา ซีนอน
ซูซูกิ แคร์รี่
เกีย เค-2700
    รายละเอียดประชานิยมรถคันแรก

  • ราคารถไม่เกิน 1 ล้านบาท
  • ได้รับเงินภาษีสรรพสามิตคืน 1 แสนบาท
  • ซื้อรถยนต์เป็นคันแรก
  • ใช้สิทธิเฉพาะการซื้อรถกระบะและรถอีโค่คาร์
  • ห้ามขายรถในระยะเวลา 5 ปี หากขายก่อนผู้ซื้อต่อต้องคืน 1แสนบาท
  • เงิน 1 แสนบาท คืนในรูปเงินลดหย่อนภาษีประจำปี

หมายเหตุ : ยังไม่มีการประกาศเงื่อนไขอย่างเป็นทางการ