จุดเริ่มต้นของเสียงกรี๊ด T-Pop

โอกาสเปิด คอนเนกชั่นแรง

T-Pop ไม่ใช่กระแสที่ดังข้ามคืน แต่คือความพยายามที่มีมานานเกือบ 10 ปี หากเปรียบเสมือนการแสดงละครสักเรื่องหนึ่ง หรือบทเพลงสักเพลงหนึ่ง ต้องเรียกได้ว่า Intro ของเรื่องยาวเกินไป จนเกือบจะดึงผู้ชมเอาไว้ไม่อยู่ หรือหากเป็นสินค้าก็เป็นชิ้นที่อยู่บนชั้นมานานจนเกินไป

T-Pop ต้องใช้เวลานานกว่าจะเกิด เพราะมีอุปสรรคสำคัญคือโอกาสหรือตลาดยังไม่เปิดสำหรับประเทศไทย ขณะที่มีผู้เล่นรายใหญ่อยู่แล้วในตลาด โดยเฉพาะ K-Pop ที่รัฐบาลเกาหลีเต็มไปด้วยยุทธศาสตร์การสร้างสรรค์และธุรกิจส่งออก จนทำให้บันเทิงจากชาติอื่นๆ ต้องหลบกระแสกันหมด

ใช่ว่าธุรกิจบันเทิงของไทยไม่พยายาม เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมาค่ายบันเทิงบ้านเราต่างหาช่องทางส่งออกคอนเทนต์บันเทิงไทยไปจีน ไม่ว่าจะเป็นค่ายแกรมมี่ที่พยายามส่งนักร้องออกไปทั้งที่จีนและไต้หวัน ส่งละครเอ็กแซ็กท์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย แต่ก็ไม่เปรี้ยงซะที หรือค่ายสหมงคลฟิล์มที่แม้จะสำเร็จกับหนังแอคชั่นในตะวันตก แต่ที่จีนยังเจาะไม่ถึง สปอตไลต์จึงไม่เคยฉายมาที่วงการบันเทิงไทยเท่าไหร่นัก

แต่เมื่อ K-Pop มาแรงเกินไป ในที่สุดรัฐบาลจีนจึงต้องหาคอนเทนต์บันเทิงชาติอื่นมาเบรก หรืออย่างน้อยเพื่อแชร์ความสนใจจาก K-Pop ให้ลดลงบ้าง นี่คือจุดเริ่มของโอกาส เพราะรัฐบาลจีนมีการเพิ่มโควต้ารายการบันเทิงจากประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะละครทีวี ที่ถือเป็นสื่อบันเทิงที่เข้าถึงผู้ชมชาวจีนมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม การดีลธุรกิจที่จีนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปัญหาพื้นฐานนอกจากเรื่องของภาษาแล้ว ยังเป็นเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจ และการเข้าถึงผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจอย่างแท้จริง สรุปคือต้องมีคอนเนกชั่น

ในวงการส่งออกรายการบันเทิงไปเมืองจีน ทั้งละคร หนัง และเพลง รายใหญ่ของตลาดนี้คือบริษัทฮันมีเดีย คัลเจอร์ จำกัด ที่ก่อตั้งมานานเกือบ 10 ปี มีเจ้าของชื่อ &rque;ลี ยอง กัง&rque; นักธุรกิจจีนจากแผ่นดินใหญ่ ที่มากคอนเนกชั่นในจีน เขามาทำธุรกิจในไทยนานกว่า 20 ปี ตั้งแต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ธุรกิจโทรศัพท์มือถือแบรนด์ &rque;เวลคอม&rque; และล่าสุดกำลังบุกธุรกิจนำเข้าและส่งออกคอนเทนต์บันเทิง

อาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา คอนเฟิร์มประเด็นนี้ว่าคอนเนกชั่นนั้นสำคัญ โดยหากเข้าถึงเพียงแค่ระดับผู้ว่ามณฑล ก็สามารถทำธุรกิจนี้ได้ไม่ยาก เพราะผู้ว่ามณฑลมีอำนาจในการตัดสินใจในการให้รายการออกอากาศ หากได้ตลาดมณฑลเดียวก็ถือว่าใหญ่มาก เพราะมีส่วนประกอบหลายเมือง ประชากรหลายร้อยล้านคน ใหญ่กว่าประเทศไทยประเทศเดียวเสียอีก

ทั้งนี้เครือข่ายทีวีของประเทศจีนมี 3 ระดับ คือทีวีของรัฐบาลกลางคือ CCTV ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความรู้ และคนรุ่นเก่าดู มีช่องข่าว รายการเฉพาะ ช่องละครก็มี ระดับทีวีของมณฑลที่สามารถรับสัญญาณข้ามมณฑลกันได้ กลุ่มผู้ชมจะเป็นคนรุ่นใหม่ และชอบรายการที่มีสีสัน พฤติกรรมการรับชมเป็นแบบรักง่ายหน่ายเร็ว และระดับเคเบิลทีวี ที่เป็นรายการในแต่ละท้องถิ่น

สำหรับละครไทยแล้ว ที่มีโอกาสไปออกอากาศก็มี CCTV ช่อง 8 สถานีทีวีฮานฮุย และสถานีทีวีหูหนาน ซึ่งครอบคลุมผู้ชมหลายร้อยล้านคน

อาจารย์วรศักดิ์บอกว่า ได้เห็นความพยายามของธุรกิจบันเทิงไทยเข้าไปในจีนตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 เมื่อเห็นเพลงประกอบละครจีนเรื่องหนึ่ง ได้ใช้เพลง &rque;คู่กัด&rque; ของเบิร์ด ธงไชย และได้รับความนิยมพอสมควร แต่การเปิดประเทศของจีนในภายหลัง ทำให้ K-Pop เข้าไปในจีนได้มากกว่า คนจีนรับง่าย เพราะความคุ้นเคยในวัฒนธรรมที่เหมือนกัน เช่นรูปร่างหน้าตา วัฒนธรรมความเป็นอยู่อย่างการใช้ตะเกียบ ทำให้จีนรับ K-Pop ได้อย่างรวดเร็ว

แต่ความเหมือนนี้กลายเป็นจุดอ่อนเมื่อคนจีนได้เจอความต่างจากความบันเทิงไทย จากการเปิดโควต้าให้บันเทิงไทยเข้าไปมากขึ้น

บันเทิงไทยหล่อเข้ม อารมณ์เหวี่ยงโดน

นี่คือความต่างของสินค้าที่ทำให้โอกาสสามารถส่งต่อธุรกิจให้สำเร็จ ที่อาจารย์วรศักดิ์บอกว่าความเคยชินที่เห็นความเหมือนในวัฒนธรรมที่ปรากฏใน K-Pop มานานของผู้ชมชาวจีน เมื่อมาพบกับวัฒนธรรมที่ต่างไปจากเดิมของไทย ตั้งแต่การยกมือไหว้ ความเป็นอยู่ หน้าตาของศิลปินที่หล่อเข้มกว่าดาราจีนและเกาหลี ทำให้คอนเทนต์บันเทิงไทยอย่างละคร และหนัง ดึงความสนใจของผู้ชมชาวจีนได้

หากมองที่งานสร้างสรรค์แล้ว &lque;ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล&lque; หรือมะเดี่ยว ผู้กำกับหนังเรื่องรักแห่งสยาม และผู้บริหารวงออกัส ที่ดังเปรี้ยงปร้างในจีน บอกว่าละครไทยมีการแสดงอารมณ์ที่เหวี่ยงไปมาอย่างชัดเจน ทั้งอารมณ์รัก อารมณ์โกรธเข้าถึงความรู้สึกของผู้ชมได้ง่าย หรือพูดง่ายๆ คือโดนใจ

ส่วนวงออกัส มีความต่างจากศิลปินชาติอื่นๆ ตรงความเป็นธรรมชาติและเป็นกันเองกับแฟนคลับ ซึ่งเหตุผลนี้ไม่ต่างจากความดังของศิลปินไทยหลายคนอย่าง &rque;ป้อง ณวัฒน์ และบี้ เดอะสตาร์&rque; ที่สามารถทำให้แฟนคลับหลงรักได้มาก

บวกกับความพยายามพัฒนาคุณภาพงาน ที่ &rque;สุรพล พีรพงศ์พิพัฒน์&rque; ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เอ็กแซ็กท์ ค่ายละครที่ส่งออกไปจีนมากที่สุด บอกว่าละครไทยมีการพัฒนาคุณภาพมากขึ้น ทำให้เมื่อได้โอกาสในการส่งออกจึงถูกใจผู้ชมเมื่อเทียบกับคุณภาพการผลิตในอดีต

เป็นผลบวกที่เดิมเอ็กแซ็กท์มีความกดดันในการแข่งขันในไทยอยู่แล้ว เพราะต้องชนกับค่ายละครยักษ์ใหญ่ในช่อง 3 และช่อง 7 ที่ผ่านมาจึงทุ่มงบการผลิตเพื่อให้คุณภาพมีความละเอียด พยายามสื่อถึงอารมณ์ให้สุดอย่างกรณีของสงครามนางฟ้า ที่ไม่เพียงผู้ชมไทยตอบรับ แต่ผู้ชมจีนก็กรี๊ดไม่แพ้กัน และเมื่อถึงเวลาส่งออกจึงพร้อมมากที่สุด

Audience Experience แบบไทยๆ ที่อยากสัมผัส

อาจารย์วรศักดิ์บอกว่าคนจีนมีความประทับใจคนไทยเป็นฐานเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะจากเหตุการณ์สึนามิ หรือเหตุการณ์ที่ต้องการความช่วยเหลือ คนไทยมักแสดงน้ำใจเอื้ออาทรเต็มที่ ทำให้คนจีนรู้สึกทึ่งในความมีน้ำใจของคนไทย ในขณะที่อารมณ์นี้ชาวตะวันตกอาจไม่ได้ซาบซึ้งด้วยมากนัก นอกจากนี้ข้าวหอมมะลิ และผลไม้ไทยอย่างมังคุด ยังเป็นสินค้าไทยที่มีชื่อเสียงในจีน

2 เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับละครหรือความบันเทิงไทยได้อย่างไรนั้น อาจารย์วรศักดิ์บอกว่าหากสังเกตดูจะเห็นว่าเนื้อหาในละครไทยมักจะมีฉากเกี่ยวกับการกินข้าว หรือการช่วยเหลือแสดงน้ำใจสอดแทรก ซึ่งอาจเป็นความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้คือความเป็นไทยที่คนจีนรับรู้ ดังนั้นเมื่อชาวจีนได้ดูละครที่มีฉากหรือเนื้อหาเหล่านี้ ก็ทำให้เกิดความชื่นชอบได้ง่ายขึ้น

ส่วนความพร้อมของชาวจีนเองในการรับสิ่งใหม่ ต่อเนื่องมาจากการเปิดประเทศ เศรษฐกิจเติบโต คนจีนท่องเที่ยว มาไทยกันมากขึ้น ผู้หญิงจีนมีความเสรีมากขึ้น โดยเฉพาะการกรี๊ดดาราชายที่มีการแสดงออกมากขึ้น

Social Media ยิ่งฟรียิ่งดัง
ปัจจัยที่สำคัญในยุคที่โลกใบใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตคือสื่อหลักของคนทั่วโลก โดยเฉพาะโซเชี่ยลมีเดีย ที่ทำให้ไม่ว่าละครไทย หนังไทย หรือเพลงไทยเข้าสู่ผู้ชมผู้ฟังชาวจีนได้อย่างรวดเร็ว ชาวจีนไม่ได้ดู Youtube แต่มี Youku.com เป็นศูนย์กลางวิดีโอให้ดูหนังดูคลิปกันได้อย่างเพลิดเพลิน มีเว็บบอร์ดไว้ให้คุยกันเหมือนอย่างพันทิพ ที่ baidu.com

ทุกวันนี้ละครไทยออนแอร์ที่มีศิลปินไทยที่ชาวจีนชอบเล่น วันรุ่งขึ้นจะมีให้ชมทาง youku ทันที หรืออีกไม่กี่วันต่อมา จะมีบรรยายไทยให้อย่างเสร็จสรรพ

การใช้สื่อออนไลน์ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญคือสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ที่ได้โปรโมตว่าได้เปิดแอคเคานต์ในเวยปั๋ว หรือทวิตเตอร์จีน http://weibo.com/thaiconsulateshเมื่อลางปี 2554 เพื่อใช้สื่อสารกับชาวจีนที่นิยมชมชอบละครโทรทัศน์ ดารา และวงการบันเทิงของไทย ซึ่งถือเป็นช่องทางออนไลน์ที่เป็นทางการ ซึ่งนอกเหนือจากสื่อสารเรื่องเกี่ยวกับ T-Pop ยังเป็นช่องทางสื่อสารเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับกิจกรรมของสถานกงสุลฯ อีกด้วย

โดยภายใน 1 เดือนหลังจากเปิดแอคเคานต์มีแฟนตามประมาณ 4,000 คน มีคนจีนเข้ามาคอมเมนต์แล้วกว่า 10,000 ครั้ง เกือบทั้งหมดเป็นคนจีน 35% มาจากนครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลใกล้เคียง 20% มาจากมณฑลกว่างโจว 35% จากมณฑลไกลออกไปทั่วประเทศจีน และอีก 10% เป็นชาวจีนที่พำนักในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไทย

นอกจากกิจกรรมการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของวงการบันเทิงไทย และดารา นักร้องที่แฟนจีนชื่นชอบแล้ว ยังมีการจัดโหวตละคร หรือหนังที่คนจีนชื่นชอบเป็นระยะๆ

ทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบของเรื่องราวที่ทำให้กระแส T-Pop จุดติดอย่างที่เห็น

Timeline

  • ก่อนปี 2540 เพลงคู่กัด ของเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ มีเวอร์ชั่นภาษาจีน
  • ปี 2542 ฮันมีเดียคัลเจอร์เริ่มเปิดตัวรุกธุรกิจนำเข้าและส่งออกคอนเทนต์บันเทิงไทยไปต่างประเทศ โดยเฉพาะไปจีนและจากเมืองจีน
  • ปี 2550 ฮันมีเดีย ติดต่อเอ็กแซ็กท์ จำหน่ายละครเรื่อง &rque;เลือดขัตติยา&rque; ให้กับทีวีจีนจนจุดพลุให้จีนสนใจละครเรื่องอื่นๆ ตามมา เช่น สงครามนางฟ้า ตามมาด้วยการส่งละครไปจีนเฉลี่ยปีละ 4 เรื่อง
  • ปี 2552 เริ่มมีการโหลดดูหนังเรื่องรักแห่งสยามในประเทศจีน วงออกัสดัง
  • ปี 2553 ช่อง 7 และช่อง 3 เริ่มสนใจเจรจาการส่งละครไปจีน
  • ปี 2554 แนวคิดเรื่องการ Co production กับผู้ผลิต และเจ้าของมีเดียในจีนเริ่มชัดเจนขึ้น ศิลปินไทยเริ่มมีรายได้มากขึ้น และบางรายมีรายได้จากจีนมากกว่าอยู่ในไทย อย่างเช่นวงออกัส
  • ดาราไทยสุดฮอตในจีน
    1. พิช วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล นักแสดงนำจากเรื่องรักแห่งสยามและ ฝันหวานอายจูบ เป็นนักร้องนำวง ออกัสได้เสียงโหวต 5 ล้านคะแนน
    2. บี้ สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้วหรือบี้เดอะสตาร์ได้เสียงโหวตเกือบ 4 ล้านคะแนน
    3. มาริโอ้ เมาเร่อ ได้เกือบ 2 ล้านคะแนน
    4. ป้อง ณวัฒน์ เกือบ 2 ล้านคะแนนเช่นกัน

    ที่มา : เป็นเสียงโหวตจากแฟนชาวจีนเมื่อต้นปี 2554 ในเว็บไป่ตู้ baidu.com เว็บเสิร์ช และเว็บบอร์ดดังของจีน ที่โหวตให้ดาราทั่วโลก อันดับ 1 คือ หลี่อี้ชุน หรือ Chris Lee นักร้องสาวชื่อดังชาวจีน ได้กว่า 232 คะแนน อันดับ 2 คือ ดงบังชินกิ เกาหลีได้185 ล้านคะแนน และอันดับ 3 Super Junior ได้ 117 ล้านคะแนน

    ละครทีวีไทยยอดฮิตในจีน
    1. แจ๋วใจร้ายกับคุณชายเทวดา (เป้ อารักษ์-อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ)
    2. ดอกรักริมทาง(บี้ เดอะสตาร์-วรรณรท)
    3. สงครามนางฟ้า (ป้อง ณวัฒน์-บี น้ำทิพย์) ที่ดังไปถึงไต้หวัน ฮ่องกง และมาเก๊า
    4. ทะเลริษยา(ป้อง ณวัฒน์-บี น้ำทิพย์)
    5. แก้วล้อมเพชร(สน ยุกต์ ส่งไพศาล-วรรณรท)
    ที่มา : ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครเซี่ยงไฮ้

    Yes&No ถ้าไปจีน
    Yes

  • ศิลปินต้องเป็นตัวของตัวเอง
  • เป็นกันเอง ให้แฟนคลับเข้าถึงง่าย นี่คือจุดต่างจากศิลปินประเทศอื่นเข้มงวดในการเข้าถึง
  • พูดภาษาจีนได้บ้าง อย่างน้อยคำทักทาย
  • พูดถึงเรื่องสินค้าเด่นๆ ในท้องถิ่นได้ยิ่งดี
  • No

  • อย่าพูดเรื่องการเมืองเช่น จีนกับไต้หวัน
  • อย่านับไต้หวันรวมกับจีน เพราะยังไงไต้หวันก็อยากแยกจากจีนอยู่ดี
  • เนื้อหาละคร หนัง เพลง ที่ต้องห้ามที่จะไม่ผ่านเซ็นเซอร์ เช่น ผี ไสยศาสตร์ ความเชื่อลึกลับ เกย์ ตำรวจเครื่องแบบ เรื่องข้ามภาพข้ามชาติ
  • T Pop Numeric

  • เกือบ 1,200 ล้านคน คือจำนวนผู้ชมทีวีในจีน
  • 2,100 ช่อง คือจำนวนช่องรายการที่ออนแอร์จากทั้งสถานีทีวีรัฐบาลกลางอย่าง CCTV และสถานีทีวีของมณฑลต่างๆ
  • 5,000-10,000 คน คือเฉลี่ยจำนวนแฟนคลับชาวจีนของดาราไทยต่อคน เช่น ป้อง ณ วัฒน์ บี้ เดอะสตาร์
  • 100 ล้านบาท คือรายได้ที่ธุรกิจคอนเทนต์บันเทิงไทย โดยเฉพาะละครที่คาดว่าจะได้จากจีนในปี 2554-2555 จากที่เมื่อหลายปีก่อนยังไม่ถึง 10 ล้านบาท
  • 6,000 บาทคือราคาตั๋วคอนเสิร์ตวงออกัสที่แฟนคลับจีนจัดขึ้น
  • 50,000 บาท คือราคาค่าจ้างนักแสดงโดยเฉลี่ยเมื่อไปโชว์ตัวที่จีน
  • 75,000-90,000 บาท คือราคาเฉลี่ยละครต่อตอน (ต่อชั่วโมง) ที่ขายให้กับคนกลางระหว่างทีวีจีนกับค่ายผู้ผลิตไทย