รถกระบะยุค Model Change คุณภาพไม่แตกต่าง ตัดสินกันที่ Brand

ตลาดรถกระบะเริ่มสตาร์ทเครื่องแล้ว หลังจากที่โหมโรงมาตั้งแต่ต้นปี ปล่อยให้ผู้บริโภครอดูว่ารถใหม่น่าสนใจขนาดไหน

จนเมื่อมาตรการรถคันแรกลด 1 แสนบาทของรัฐบาลประกาศออกมา ซึ่งรถกระบะอยู่ในกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ ก็ทำให้หลายๆ ค่ายต้องเร่งรถใหม่ออกมาเร็วขึ้นจากแผนเดิมที่วางไว้

 อีซูซุ เจ้าตลาดรถกระบะ ใช้ช่วงเวลาที่ค่ายอื่นๆ ประกาศเปิดตัว แต่อีซูซุไม่ต้องปูพรมหรือประกาศล่วงหน้านาน ชิงเปิดตัวและเปิดขายรถกระบะรุ่นใหม่ D-Max เป็นรายแรกของรถกระบะที่มีโมเดลเชนจ์ออกมาขายช่วงนี้

รถรุ่นใหม่ บวกนโยบายรถคันแรก ตลาดรถกระบะกลับมาฟาดฟันกันอีกครั้ง


— อีซูซุเปิดตัวแล้วขายเลย —

คงจะเหน็ดเหนื่อยมากพอดูกับการตามลุ้นรถกระบะคู่แข่งจากค่ายสหรัฐฯ ทั้งเชฟโรเลตและฟอร์ด ที่ตั้งท่าเปิดตัวรถกระบะรุ่นใหม่มาตั้งแต่ต้นปีจนล่วงเลยถึงเดือน 10 ก็ยังไม่มีอะไรชัดเจนว่าจะขายเมื่อไหร่ และอย่างไร

อีซูซุก็เลยเปิดตัวและขายกระบะ D-Max รุ่นใหม่ แบบโมเดลเชนจ์ตัดหน้าทุกค่าย แบบไม่มีรีรอแม้แต่น้อย 

ฮิโรชิ นาคางาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด บอกว่า อีซูซุรุ่นใหม่มาจากแนวคิดการผลิตรถกระบะเพื่อคนทั้งโลก โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิต และมีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น

“บริษัทมีการทำสำรวจผู้ใช้รถกระบะถึงการใช้งาน โดยมีรูปแบบการสอบถามถึง120 ประเภท ซึ่งได้คำตอบรวบยอดว่า ต้องสะดวกสบาย รวดเร็ว มั่นคง และเป็นเพื่อนร่วมทาง ซึ่งเป็นแนวทางของกระบะรุ่นใหม่ในขณะนี้” 

เขาบอกด้วยว่า ยังไม่สามารถตั้งเป้ายอดขายรถรุ่นใหม่ได้ แต่คาดว่าจะมียอดขายที่สูงในระดับที่น่าพึงพอใจ และขณะนี้ยังมีรถรุ่นเก่าที่รอส่งมอบอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเริ่มส่งมอบรถรุ่นใหม่

“การขายกระบะรุ่นใหม่ จะมียอดที่เพิ่มขึ้นด้วยมาตรการรถคันแรกของรัฐบาล และคาดว่าจะไปโตในส่วนของรถกระบะ 4 ประตู” ผู้บริหารตรีเพชรอีซูซุประเมินแนวโน้มการขายรถรุ่นใหม่ 

รถกระบะอีซูซุรุ่นใหม่จึงถูกกำหนดให้เริ่มวางจำหน่ายในวันที่ 14 ตุลาคมเป็นต้นไป หลังการเปิดตัวอย่างเป็นทางการถึง 2 สัปดาห์ 

ความใหม่ของรถรุ่นนี้ ต้องมองที่หน้าตา เป็นรถที่เปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งคัน ถือเป็นรถรุ่นใหม่ในไลน์ของ D-Max โดยรุ่นแรกเปิดขายมาตั้งแต่ปี 2545 และมียอดขายในประเทศ 1.2 ล้านคัน และส่งออกอีก 2 ล้านคัน

รถใหม่รุ่นนี้ปรับเปลี่ยนรายละเอียดภายในและภายนอกรถหลายอย่าง ดูเป็นรถที่ใช้งานในการทำงานในเมืองมากกว่าจะเป็นรถบรรทุกแบบเดิม และเพิ่มรุ่นที่เป็นเกียร์อัตโนมัติให้เลือก  

การเป็นรถบรรทุกสินค้าเริ่มกลายเป็นอดีต เพราะกระบะรุ่นใหม่ถูกสร้างให้เป็นรถของคนในเมืองไปแล้ว และทุกค่ายก็เดินตามเส้นทางนี้ และเรื่องการบรรทุกถูกตัดออกไปจากเนื้อหาของโฆษณานานแล้ว 

การปรับเปลี่ยนโฉมของอีซูซุครั้งนี้ เป็นการเลื่อนมาจากปี 2010 ที่ต้องเปลี่ยนรุ่นแล้ว แต่อีซูซุได้ชะลอออกไป ทำให้คู่แข่งหลายๆ ค่ายแทรกเข้ามา และเริ่มรุกด้วยการประกาศเปิดตัวรถรุ่นใหม่ ในขณะที่อีซูซุเลือกที่จะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรมาก

สิ่งที่เกิดขึ้นในการเปิดตัวใหม่ช้าออกไปครั้งนี้ ทำให้คู่แข่งตลอดกาลอย่างโตโยต้าที่มีกระบะวีโก้ทำยอดขายแซงหน้าได้ในช่วงหลัง แต่ด้วยท่าทีของอีซูซุเอง ก็ประเมินแล้วว่าหากเปิดตัวรถรุ่นใหม่ ยอดขายจะกลับมาอยู่ที่ 1 เช่นเดิม 

และครั้งนี้ถือว่าอีซูซุไม่มีรถคู่แฝดอย่างเชฟโรเลต โคโลราโด ที่เดินแยกออกไปทำของตัวเอง อาจจะมีบางชิ้นส่วนที่ใช้ร่วมกัน แต่หน้าตาและเครื่องยนต์ชัดเจนว่าคนละตัว 

อีซูซุจะทำยอดขายของแบรนด์ตัวเองอย่างชัดเจนขึ้น 


— ฟอร์ด-มาสด้า-เชฟโรเลต ช้า…ช้า ได้รถคันงาม —

อาจจะเป็นด้วยการวางกลยุทธ์การตลาดหรือนโยบายก็ตามแต่ ค่ายรถคู่แข่งอย่างฟอร์ด มาสด้า และเชฟโรเลต ที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดมีความเคลื่อนไหวช้ามาก   เพราะประกาศเปิดตัวตั้งแต่ต้นปีจนล่วงเลยเข้าเดือนกันยายน จึงเริ่มเปิดสายการผลิต และยังไม่มีกำหนดว่าจะเริ่มเปิดขายได้เมื่อไหร่

ยิ่งปล่อยให้อีซูซุเปิดตัวรถตัดหน้า และเร่งกวาดยอดขายไปก่อน ยากที่จะไล่ตามและแย่งส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม

ค่ายที่ดูว่ามีความเคลื่อนไหวมากที่สุดก็คือ ฟอร์ด ที่เปิดตัวรถรุ่น เรนเจอร์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้แถลงข่าวไปแล้ว 3 ครั้ง และเริ่มทยอยทำตลาดล่วงหน้าในการสร้างกลุ่มลูกค้าของตัวเอง

ล่าสุดฟอร์ดประเทศไทย เปิดสายการผลิต JOB 1 ฟอร์ด เรนเจอร์ เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยมี อลัน มูลัลลี ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี เดินทางมาเปิดงานนี้เองถึงประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของรถรุ่นนี้

อลันบอกด้วยว่า ฟอร์ด เรนเจอร์ เป็นสินค้าตัวหลักของรถกระบะแบบคอมแพค และเชื่อว่าจะเป็นรถที่ผู้บริโภคเรียกหามากที่สุด ซึ่งรถที่ขายดีที่สุดของฟอร์ดในขณะนี้มี 3 รุ่นคือ เฟียสต้า โฟกัส และเรนเจอร์

ส่วนมาสด้า คู่แฝดของฟอร์ด ออกข่าวมาถึงรูปโฉมใหม่ แต่ก็เงียบหายไป ไม่ได้มีความเคลื่อนไหวอะไรออกมาหลังจากนั้น

ด้านเชฟโรเลต โคโรลาโด หลังจากเปิดตัวไปแล้วด้วยรถต้นแบบ ก็มีความเคลื่อนไหวออกมาต่อเนื่องเหมือนกับกลัวว่ากระแสจะหายไป มีการแถลงถึงผลประกอบการของกลุ่มจีเอ็ม มอเตอร์ และอัพเดตความคืบหน้าของรถกระบะบ้างเล็กน้อย ก่อนจะมีงานใหญ่เปิดโรงงานผลิตเครื่องยนต์ดีเซล ดูราแมกซ์ ที่จะใช้ในรถกระบะรุ่นใหม่ขนาดเครื่องยนต์ 2500 ซีซี และ 2800 ซีซี เมื่อเดือนกันยายน 

พร้อมกับออกโฆษณาสั้นๆ ให้เห็นรถกระบะโคโลราโดใหม่แบบผ่านไปหนึ่งแวบ ไม่เห็นรายละเอียด และกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 ตุลาคม  


— มิตซูบิชิมาแบบเงียบๆ แต่โตทะลุ 100% —

ในขณะที่ค่ายอื่นๆ เตรียมตัวเปิดตัวรถรุ่นใหม่กันอย่างคึกคัก มีเพียงมิตซูบิชิ ไทรทันที่สร้างความแปลกใจให้กับตลาดรถกระบะ อัตราการเติบโตของกระบะไทรทันสูงเกือบ 180% และเป็นครั้งแรกของรถกระบะจากค่ายมิตซูบิชิ

ผู้บริหารของมิตซูบิชิ เคยบอกไว้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากพรีเซ็นเตอร์อย่าง ตูน บอดี้สแลม ที่ทำให้เกิดลูกค้าใหม่ๆ ของไทรทันขึ้นมา จากเดิมที่ไม่เคยรู้จักก็อาศัยตูนมาเป็นตัวดึงให้รู้จักแบรนด์ ยอดขายส่วนหนึ่งก็ได้ผลมาจากตรงจุดนี้

แต่ในตัวสินค้าของไทรทันเอง ก็มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ไทรทันเลือกออกเครื่องยนต์เบนซิน 2400 ซีซี ในรุ่นกระบะตอนเดียว แค็บ และสี่ประตู ที่สมารถใช้พลังงานทางเลือกอย่างก๊าซ NGV ได้ มาเสริมตลาด

การที่ราคน้ำมันแพง รถกระบะเครื่องยนต์ดีเซลส่วนหนึ่ง ได้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เบนซินของโตโยต้าในรุ่น 1J บ้าง 2J บ้างมาลงเพื่อใช้ก๊าซทั้ง LPG และ NGV

ไทรทันพลังงานทางเลือกจากโรงงานทำให้ลูกค้าสนใจ เพราะต้นทุนเรื่องค่าเชื้อเพลิงต่ำกว่าน้ำมัน และรถได้มาตรฐานกว่าการมาเปลี่ยนเครื่องเองภายหลัง

โมเดลการออกรถพลังงานทางเลือกของมิตซูบิชิ เห็นผลชัดเจนจากรุ่นซีเดีย ที่ทุกวันนี้ยังขายได้ดี แม้ว่าจะมีรุ่น EX ออกมาแล้วก็ตาม

มิตซูบิชิทำในสิ่งที่คู่แข่งไม่ทำ และประสบความสำเร็จอย่างที่เห็น 

ส่วนรถกระบะรุ่นใหม่นั้น ต้องรอถึงปี 2012 เพราะจากนี้ไปโรงงานมิตซูบิชิจะต้องประกอบรถนิสสัน นาวาร่า ตามนโยบายบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นด้วย 


— กระบะไม่หรู แรงน้อย คนซื้อไม่สน —

ความเปลี่ยนแปลงของรถกระบะในบ้านเราชัดเจนขึ้น เมื่อผู้บริโภคเลือกใช้รถกระบะเป็นรถที่ใช้สำหรับเดินทางไปทำงาน ท่องเที่ยว เหมือนกับรถเก๋งมากขึ้น ในส่วนที่บรรทุกก็ยังมีตลาดและผู้ใช้กลุ่มหนึ่งที่เหนียวแน่น

กลุ่มที่ใช้บรรทุกอย่างเดียว คือกลุ่มที่ผู้ผลิตไม่ต้องปรับอะไรมาก ขอราคาที่แพง ออปชั่นไม่ต้องมาก บรรทุกได้มากๆ ก็ดึงลูกค้าไว้ได้แล้ว

ลูกค้ากลุ่มสำคัญคือ กลุ่มคนทำงาน และใช้กระบะเพื่อการทำงาน ซึ่งกลายเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ ซึ่งผู้ผลิตรถกระบะต่างช่วงชิงและปรับปรุงรถกระบะให้ออกมาตอบสนองมากที่สุด

กระบะรุ่นใหม่ของแต่ละค่ายออกมามีความเป็นรถเก๋งมากขึ้นทั้งการตกแต่งภายในห้องโดยสาร การเพิ่มขนาดเครื่องยนต์ รวมถึงอุปกรณ์เพิ่มกำลังให้เครื่องยนต์ ส่วนหนึ่งเพื่อให้ได้มาตรฐานไอเสีย และเป็นเครื่องมือการตลาดในการทำโฆษณาด้วย

เกียร์อัตโนมัติกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับรถกระบะรุ่นใหม่ไปแล้ว กระบะทุกค่ายที่ผลิตออกมาช่วง 2 ปีหลังทุกค่ายเพิ่มรุ่นเกียร์อัตโนมัติเข้าไป เพราะมีผู้บริโภคถามหามากขึ้น  

รถกระบะรุ่นใหม่จมีการแข่งขันในตลาดรถกระบะแบบดับเบิลแค็บ หรือ 4 ประตูมากที่สุด เพราะใช้งานแทนรถเก๋ง  คล่องตัวกว่ากระบะแค็บธรรมดา 

รถกระบะของแต่ละค่ายในทุกวันนี้ มีคุณภาพและราคาที่ไม่แตกต่างกัน ทุกค่ายสามารถทำรถยนต์ออกมาตอบสนองผู้บริโภคในระดับเดียวกัน แต่สิ่งที่ตัดสินว่าจะซื้อรถค่ายไหน กลายเป็นเรื่องของ Brand 

ต้องยอมรับว่าโตโยต้าและอีซูซุยังคงเป็นแบรนด์แรกๆ ที่ผู้ซื้อรถกระบะพิจารณาก่อน และมีแนวโน้มในการตัดสินใจซื้อสูง ส่วนค่ายอื่นๆ ก็ต้องมาจากความชื่นชอบของแต่ละแบรนด์ และยอมรับได้ถึงความแตกต่างบนท้องถนน

จึงทำให้เห็นถึงแบรนด์รอง แต่ละค่ายพยายามหาความต่าง และสร้างกลุ่มลูกค้าของตังเองขึ้นมา เช่นที่มิตซูบิชิใช้ตูน บอดี้สแลมมาสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ให้กับไทรทันซึ่งชัดเจนว่า คือการมองหาคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน ตามแฟนเพลงของบอดี้สแลม และได้ผลตอบรับที่ดี

การสื่อสารของรถกระบะจะไม่พูดถึงเรื่องบรรทุก แต่จะเน้นไปเรื่องความสะดวกสบายในการขับขี่ คล่องตัว เพื่อลบข้อด้อยของรถกระบะที่มีความแข็งกระด้างของระบบช่วงล่าง และการแสดงให้เห็นถึงความแรงของรถ ระดับเกินหน้า เกินตารถเก๋ง

สุดท้ายการแข่งขันอย่างจริงจังและดุเดือดก็ยังคงเป็นของ 2 รายเจ้าตลาด อย่างอีซูซุและโตโยต้าอยู่ต่อไป

คนซื้อระกระบะส่วนใหญ่ ยังคงเลือกที่ Brand เป็นอันดับแรก 

— รถกระบะรุ่นใหม่ ต้องมีอะไรบ้าง —

  • ต้องมีรุ่น 4 ประตู และรุ่นแค็บเปิดได้
  • เครื่องยนต์ดีเซลต้องมีกำลังอย่างน้อย 120 แรงม้า
  • ออกรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน เพื่อใช้พลังงานทางเลือก
  • รถแรงแต่ต้องประหยัดน้ำมันเป็นเยี่ยม
  • มีเกียร์อัตโนมัติให้เลือกใช้
  • ความสะดวกสบายต้องทัดเทียมรถเก๋ง
  • ไม่เน้นเรื่องการบรรทุก ขับแล้วต้องดูทันสมัย          
  • มีดารา นักร้อง เป็นพรีเซ็นเตอร์
  • สื่อสารการตลาดเป็นรถของคนในเมือง และขับไปทำงาน

cellpadding=”2″ cellspacing=”2″>

กลยุทธ์การเปิดตัวรถกระบะของค่ายรถยนต์ ฟอร์ด – แถลงข่าว เรนเจอร์ใหม่ พร้อมกันทั่วโลก
ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต – ใช้แคมเปญ ฟอร์ด เรนเจอร์ ชาเลนจ์ ผ่านสื่อออนไลน์
ให้ผู้ชมโหวต

ชิงรางวัลรถฟอร์ดเรนเจอร์ – เปิดสายการผลิตเรนเจอร์ที่โรงงาน AAT ระยอง – เปิดขายเดือนพฤศจิกายน -จัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการก่อนงานมอเตอร์เอ็กซ์โปปลายปี เชฟโรเลต โคโลราโด – แถลงข่าวโคโลราโดรุ่นใหม่ พร้อมโชว์รถต้นแบบ – โชว์รถต้นแบบในงานมอเตอร์โชว์ – ชี้แจงผลประกอบการของกลุ่มGM – เปิดโรงงานผลิตเครื่องยนต์ดีเซล เพื่อใช้ในรถกระบะ
เลิกใช้เครื่องอีซูซุ – ออกโฆษณาสั้น โคโรลาโดใหม่พร้อมพรีเซ็นเตอร์ – จัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 5 ตุลาคม 2554 – เปิดขาย 17 ตุลาคม 2554 อีซูซุ
D-Max
– มีข่าวเรื่องการเปลี่ยนรุ่นตั้งแต่ปี 2010
แต่ถูกเลื่อนออกไป –
ปรับโฉมรุ่นเดิมอย่างต่อเนื่อง    -เปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมกันทั่วโลก 30 กันยายน 2554 – เปิดขาย 14 ตุลาคม 2554   มาสด้า BT
– ออกข่าวเรื่องการเปลี่ยนรุ่น แต่ไม่มีรถต้นแบบ –
ไม่มีความเคลื่อนไหว           มิตซูบิชิ
ไทรทัน–นิสสัน นาวาร่า
– ไม่มีข่าวเรื่องการเปลี่ยนรุ่น – บริษัทแม่ในญี่ปุ่นให้มิตซูบิชิประกอบรถนิสสัน นาวาร่า โตโยต้า
Vigo
– กำหนดเปลี่ยนรุ่นใหม่ปี 2012 – ปรับโฉมรุ่นเดิม เป็นรุ่น Champ