12 เทรนด์การตลาด ไลฟ์สไตล์ ปี 2012

ปี 2012  กับ 12 เทรนด์ระดับโลกของเว็บไซต์ Trendwatching.com  มีมุมน่าสนใจที่ทำให้เห็นภาพว่าโลกธุรกิจ การตลาด และไลฟ์สไตล์ของผู้คนจะเป็นแบบไหน ที่เราไม่รู้ไม่ได้ ดังนี้

 

1.RED CARPET พรมแดงสำหรับเศรษฐีจีน

ธุรกิจในปี 2012 ทั่วโลกต่างก็ปูพรมแดงให้ชาวจีนกันแล้ว  เพราะเป็นกลุ่มเศรษฐีใหม่ของโลก ไม่ว่าที่ห้างสรรพสินค้า สายการบิน โรงแรม พิพิธภัณฑ์ อย่างที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2011 ที่ 30 โรงแรมเครือฮิลตันทั่วโลก มีบริการ Hilton Huaying หรือแปลว่า”ฮิลตัน ยินดีต้อนรับ”   มีตัวช่วยสำหรับลูกค้าชาวจีน เช่น เช็คอินด้วยภาษาจีน สิ่งอำนวยความสะดวกในห้องพักตั้งแต่ชาจีน ช่องทีวีภาษาจีน ไปจนถึงจดหมายยินดีต้อนรับ อาหารเช้าสไตล์จีน อย่างติ๋มซำ ผัดหมี่ และโจ๊ก หรืออย่างที่ลอนดอน ห้างแฮร์รอดส์ จ้างพนักงาน 70 คนที่รู้ภาษาจีนและมีจุดจ่ายเงิน ยูเนี่ยนเปย์ 75 จุด

 

2. DIY HEALTH  แข็งแรงด้วยตัวเอง

อุปกรณ์และแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟนจะพัฒนามาในคอนเซปต์การดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง ตั้งแต่ป้องกันโรค ตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และเสริมให้แข็งแรงแกร่งขึ้น

 

3. DEALER-CHIC ล่าดีลแนวใหม่

การล่าดีลเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมผู้บริโภคไปแล้ว แต่เทรนด์นี้ชัดขึ้นในแง่ที่ผู้บริโภคต้องการดีลที่ดี พิเศษ ไม่มีอะไรแอบแฝง เข้าถึงเฉพาะเจาะจงความต้องการจริง ๆ โดยไม่ใช่แค่ลดราคาอย่างเดียว 3 ปัจจัยที่ถือว่าอยู่ในเทรนด์คือ More For Less จ่ายน้อยแต่อยากได้ประสบการณ์ที่ดีและมาก The Medium is the Motivation พร้อมแชร์ ใช้ผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ และ Best Of The best คือสิ่งที่ผู้บริโภคมั่นใจว่าจะได้จากการใช้อุปกรณ์ทันสมัยในการเข้าถึงดีลต่างๆ 

 

4. ECO-CYCOLOGY กลับคืนแบรนด์เพื่อธรรมชาติ

ง่าย ๆ ชัด  ๆ คอนเซปต์นี้คือแบรนด์รับคืนสินค้าที่เคยถูกซื้อไปแล้ว เพื่อนำแพ็คเกจเก่านั้นไปรีไซเคิลเป็นของใช้อื่น ๆ โดยทำเองหรือแบรนด์จะร่วมกับองค์การกุศลก็ได้ ซึ่งตรงใจผู้บริโภคมากที่สุด  เช่น ไนกี้รับคืนรองเท้าเก่า การ์นิเย่ รับคืนแพ็คเกจ หรืออย่างเดลล์รับคืนเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกแบรนด์ เป็นต้น

 

5. CASH-LESS สังคมที่ไม่ต้องมีเงินสด

เทรนด์นี้มาทุกปี มาตั้งแต่ปี 2005  แต่ปี 2012  Trendwatching.com บอกว่ามาแรงกว่าทุกครั้ง กลายเป็นสังคมที่ไม่ต้องการเงินสด ใช่อุปกรณ์สัมผัสจ่ายเงิน ที่พัฒนามาจากเทคโนโลยี NFC(Near Field Communication ) และผู้เล่นหลักลงทุนเต็มที่อย่าง Google Wallet  และPayPass ของมาสเตอร์การ์ด รวมไปถึงมีแอพพลิเคชั่นเพื่อสังคมเงินสดไม่ต้อง ก็จะมีอีกมากมาย

 

6. BOTTOM OF THE URBAN PYRAMID ฐานของปิรามิดที่พร้อมซื้อ

จะเห็นพลังของคนมีรายได้น้อยที่อยู่ในเมืองมากมาย เพราะกลุ่มนี้ก็อยากได้ของต่าง ๆ ไม่ต่างกับผู้บริโภคที่มีรายได้สูง ดังนั้นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะนำเสนอเจาะจงกลุ่มนี้มากขึ้น เช่นแท็บเล็ตเฮาส์แบรนด์ราคาถูก เครื่องดื่มรสชาติใหม่ เป็นต้น

 

7. IDLE SOURCING ที่นี่ข้อมูลเพียบ

การใช้พิกัดตำแหน่งบอกความเป็นไปได้อย่างเห็นภาพ เช่น ปั๊มน้ำมัน สภาพการจราจร โดยเชื่อมโยงเทคโนโลยี GPS และอุปกรณ์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน

 

8. FLAWSOME ผิดแต่ยังดูดี

ทั้งผู้บริโภคและแบรนด์จะทำตัวเป็นมนุษย์ทั่วไปมากขึ้น คือมนุษย์ย่อมมีข้อผิดพลาดบ้าง แต่ก็รับผิด เสียใจ จริงใจ ยืดหยุ่น  และมีอารมณ์ขันบ้าง 

 

9. SCREEN CULTURE  โลกของจอ

ชีวิตที่มีความส่วนตัวและดื่มด่ำอยู่กับจออินเตอร์แอ๊คทีฟต่างๆ จะทำให้เกิดการเคลื่อนที่ เชื่อมต่อตลอดเวลา คนสนใจจแต่จอ …ภาพเหล่านี้ทำให้เกิดคอนเทนท์ ทำให้เกิดแหล่งเข้าถึงข้อมูล อย่าง Cloud ทุกอย่างมีจอเข้ามาในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นมีกรณี ห้างเซนส์เบอรี่ ได้ร่วมมือกับทีวี Sky ให้ลูกค้าดูรายการกีฬาผ่านไอแพดที่ติดอยู่กับรถเข็น

 

10. RECOMMERCE ค้าขายแนวใหม่

‘trading in’ จะเป็นการซื้อแนวใหม่ เอาของเก่าอย่างบ้าน รถ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้ามาขายคืนให้แบรนด์ ซึ่งแบรนด์อาจตอบแทนด้วยคูปองเงินสดมาแลกซื้อของใหม่ใน 6 เดือน เป็นเทรนด์ที่จับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ที่อยากได้ประสบการณ์กับสินค้าใหม่ ๆ เป็นผู้บริโภคที่คำนึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

 

11. EMERGING MATURIALISM ดิบกว่าเดิมได้แล้ว

ประสบการณ์และการเปิดใจกว้างกับพฤติกรรมในแนวน่าตกใจ ดิบ ๆ ในตลาดที่ยังอนุรักษ์นิยมจะเพิ่มขึ้น จนเห็นในแคมเปญการตลาด ทำให้ผู้บริโภคสนใจแบรนด์ได้ง่ายกว่าเดิม เช่น แบรนด์น้ำยาล้างมือ  ที่อินเดียแบรนด์หนึ่ง โฆษณาด้วยภาพที่ชายอีกคนหนึ่งทำท่าเอื้อมมือไปอย่างที่เห็นในภาพ สะท้อนให้เห็นว่าเชื้อโรคมีอยู่ในมือได้ตลอดเวลา

 

12. POINT & KNOW  รู้แล้วซื้อ

คือการส่องหาข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟนที่มีแอพพลิเคชั่นมาช่วย กับเทคโนโลยีทั้ง AR และQR Code  เกี่ยวกับสินค้าต่าง ๆ หรือจับใบหน้า ข้อมูลบนโบรชัวร์ เมื่อได้ข้อมูลเพิ่ม และนำมาเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อ