“After You” Who don’t know?

“เมย์ อาฟเตอร์ยู – กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ” หลายคนอาจพอคุ้นหน้าคุ้นตาเธอมาบ้างแล้ว กับเรื่องราวและความสำเร็จของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หลงใหลและคลั่งไคล้การทำขนมมากที่สุดอีกคนหนึ่งของเมืองไทย

เมย์ไม่เคยผ่านทฤษฎีการเรียนการสอนจากโรงเรียนสอนทำขนมที่ไหนมาเลย แต่เธอก็ก้าวสู่แถวหน้า ของการเป็นเจ้าของร้านขนมได้ในระยะเวลาที่สั้นมาก เธอเริ่มต้นทำร้านเล็กๆ ในซอยทองหล่อ เมื่อวัยเพียง 24 ปี โดยใช้เงินลงทุนก้อนแรก 2 ล้านบาทที่พ่อให้มาซื้อรถ  

จากวันนั้นถึงวันนี้ ร้านอาฟเตอร์ยูขยายแล้ว 5 สาขา ใช้เวลา 4 ปีครึ่ง ที่น่าสนใจ…ทุกวันนี้ “Shibuya Honey toast” พระเอกของร้าน ยังคงมีลูกค้าเข้าแถวรอคิวยาวเหยียด  ไม่เดินซ้ำรอยโรตีบอย  หรือ คริสปี้ ครีม ที่แถวหดสั้นลงทันทีเมื่อเปิดสาขาเพิ่ม

เธอกลายเป็นสาวน้อยนักธุรกิจเนื้อหอม และเป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ ที่มีจิตวิญญาณของเจ้าของกิจการ ที่ทุกแบงก์ตามจีบอยากให้กู้ เจ้าของที่ดิน เจ้าของห้างสรรพสินค้า อยากให้เธอไปเปิดสาขา ไม่ใช่แค่ต่างจังหวัด หรือประเทศในแถบเอเชีย แต่ไปไกลถึงตะวันออกกลาง

แทนที่จะตะครุบ “โอกาส”  เธอเกลับเลือกเดินทีละก้าว เพราะรู้ดีว่า หากเฝือไป  จะรักษา ความเป็น “โฮมเมด” ไว้ไม่ได้

แต่ทุกอย่างก็มีขึ้นมีลง เธอรู้ดีว่าความแตกต่างในวันนี้ อาจไม่ใช่ความแปลกใหม่อีกต่อไป ต้องรอดูว่า เมย์จะปั้นอาฟเตอร์ยูภาคต่อให้เป็นสูตรธุรกิจ ที่มาถูกจังหวะ ทั้งเวลา และสถานที่ เหมือนกับที่เธอคว้าความสำเร็จมาแล้วกับอาฟเตอร์ยูภาคแรกหรือไม่

ถ้าจะหาข้อสรุปความสำเร็จในช่วงสี่ปีครึ่งของร้านอาฟเตอร์ยู จุดเริ่มต้นที่ทำให้เมย์-กุลพัชร์ สำเร็จเกินคาด คือ การค้นพบ “สินค้า” ที่ใช่และโดนใจ โดยมีความรักและความหลงใหลเป็นตัวบ่มเพาะ

เธอฝึกฝน ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมาตั้งแต่วัยเด็ก สมัยเรียนประถม 5 ก็เป็นอดีตที่เธอไม่เคยลืม โดยเริ่มดูทีวีรายการทำขนม และลงมือทดลองทำด้วยตัวเอง ความที่เป็นคนชอบชิม เธอจึงตระเวนไปทั่วทั้งในและต่างประเทศ เป็นการสั่งสมประสบการณ์ไปในตัว บวกกับเธอเป็นคนชอบคิด คิด และคิดในสิ่งที่แปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา

วันหนึ่งเมื่อความคิดของเธอตกผลึก “สูตรขนม” และ “สูตรธุรกิจ” มาพบเจอกัน ทุกอย่างเลยกลายเป็นสูตรที่ลงตัว และก่อเกิดร้านขนมตามแบบฉบับของเธอ

“ร้านขนมส่วนใหญ่จะเป็นแนวเบเกอรี่ ทำขนมแล้วก็ไปตั้งโชว์ แต่ร้านขนมที่อบให้กินแบบสดๆ คู่กับไอศกรีม แม้จะมีบ้างแต่มักเป็นเมนูขนมหวานในโรงแรมที่มีร้านอาหารระดับหรู สำหรับตลาดแมสยังไม่มีใครเคยทำร้านขนมแนวนี้ เมย์คิดชัดเจนมาตั้งแต่แรกแล้วว่า คาแร็กเตอร์ของสินค้าต้องเป็นแบบไหน รู้ว่าอยากทำอะไร จากนั้นไม่ว่าจะเดินทางไปไหน เห็นอะไร เมย์จะถ่ายเก็บไว้ บันทึกไว้ ว่าถ้ามีร้านแล้ว เราจะทำแบบนี้” เมย์เล่าถึงการสะสมความคิด จนเป็นที่มาของร้านอาฟเตอร์ยูในปัจจุบัน

เมย์ ยกตัวอย่าง เมื่อครั้งไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เธอไปติดตาต้องใจ ขนม “Shibuya honey toast” ในผับแห่งหนึ่ง และคิดว่าวันหนึ่งเมื่อมีร้านเป็นของตัวเอง ขนมปังก้อนสูงจะต้องเป็น “พระเอก” ของร้านขนมได้แน่ๆ เธอจึงลงมือแกะสูตร คิดค้นรสชาติขึ้นมาใหม่ให้ถูกปากลูกค้าคนไทย จนขนมของเมย์เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน และเป็นที่ติดอกติดใจของลูกค้ามาจนถึงทุกวันนี้

เรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นจุดด้อย แต่กลายเป็นจุดเด่นอีกข้อหนึ่งของเธอ คือการไม่เคยผ่านโรงเรียนทำอาหารอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่อาศัยประสบการณ์ การลองผิดลองถูก และพัฒนาต่อให้เป็นสินค้าในแบบฉบับของเธอ

เธอเคยพูดถึงเรื่องนี้ว่า ไม่ว่าจะเรียนทฤษฎี หรือศึกษาด้วยตัวเอง ไม่ใช่ปัญหา ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน ข้อดีของการเรียน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลามาค้นคว้าด้วยตัวเอง ส่วนข้อดีของการฝึกฝนด้วยตัวเองคือ ทำให้ความคิดไม่ถูกตีกรอบ แกะสูตรแล้วปรับแต่งไปตามความต้องการ ยืดหยุ่นกว่า แต่ทั้งหมดนี้ ก็ขึ้นอยู่กับการจะทำขนมได้ถูกปากถูกรสนิยมคนกินแค่ไหน

ความรู้ในเรื่องธุรกิจที่มาเติมเต็มความฝันของเธอเป็นไปได้จริง หลังจากจบมัธยม 6  เธอก็เคยคิดจะไปเรียนต่อด้านอาหาร แต่พ่อไม่เห็นด้วย เมื่อเอนทรานซ์ คณะนิเทศศาสตร์ไม่ติด เธอเข้าเรียนปริญญาตรีบริหารธุรกิจหลักสูตรนานาชาติ (BBA) เอกการตลาด  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากรูปแบบการสอน และเพื่อนๆ ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจ ถือเป็น “ส่วนผสม” ที่มาเติมเต็มการทำธุรกิจได้ชัดเจนขึ้น

“ปกติแล้วเมย์จะมีลักษณะของอาร์ทติสในระดับหนึ่ง พอมาอยู่ในสังคมแบบนี้ กลับช่วยให้เรามีตรรกะ อาจารย์จะสอนให้เราคิดเอากรณีศึกษามาวิเคราะห์ และแวดล้อมไปด้วยเพื่อนๆ ที่เรียนมาด้วยกัน เป็นการบ่มเพาะให้เราคิดในมุมของธุรกิจมากขึ้น” 

ถึงจะไม่ได้เรียนทำอาหารตามใจฝัน แต่ความคิดที่อยากมีร้านขนมในวัยเด็ก ยังคงอยู่ในใจของเธอตลอดเวลา ช่วงปิดเทอมปี 2 เธอก็ได้ไปฝึกงานในห้องเบเกอรี่ โรงแรมสุโขทัย ตามคำแนะนำของคุณลุง  ซึ่งถือเป็นอีกประสบการณ์ที่ทำให้เธอเรียนรู้กระบวนการทำงานในครัวเบเกอรี่อย่างเป็นระบบ และสามารถถูกนำมาใช้ในเวลาต่อมา

อีกประสบการณ์ที่สำคัญมาก คือ การผ่านความล้มเหลวมาแล้ว จากการร่วมหุ้นลงขันกับญาติๆ ในวัยเดียวกัน ที่เรียนจบมาพร้อมๆ เปิดร้านอาหารทะเลบนชั้น 5 มาบุญครอง ด้วยความร้อนวิชาของแต่ละคน ต่างคนต่างใส่ความคิด ทำให้ร้านที่มาจากความคิดแตกต่างจึงไปแบบครึ่งๆ กลางๆ จนต้องปิดกิจการลงในที่สุด และการ “เจ๊ง” ในครั้งนั้น กลายเป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่า ทำให้เธออดคิดไม่ได้ว่า “หากไม่มีวันนั้นก็อาจไม่มีอาฟเตอร์ยูในวันนี้ก็ได้” 

ไม่ว่าจะดูฮวงจุ้ยมาอย่างดี หรือมีฤกษ์งามยามดีจากหมอดูเก่งๆ ก็ไม่เท่ากับการขีดเส้นทางเดินชีวิตด้วยตัวเอง

“พอมาทำร้านของตัวเอง เมย์บอกตัวเองเลยว่า เราต้องชัดเจน ชอบหรือไม่ชอบ อะไรที่ผิดไปจากความคิดของเรา เมย์จะไม่ทำเลย เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์มีค่ามาก อะไรที่จำเป็นต้องลงทุนก็ต้องลง คอมพิวเตอร์ แอร์ก็เอามาจากร้านเก่า แม้แต่จะเลือกทิชชู ของใช้ เมย์ก็ไปหาแหล่งที่ได้ราคา เราไม่อยากให้เงินจมไปกับอะไรไม่รู้ ที่ประหยัดได้ต้องประหยัด” 

ร้าน After you dessert cafe จึงก่อตั้งขึ้นเมื่อสี่ปีที่ผ่านมา จากสาววัย 24 มาวันนี้เมย์มีอายุย่าง 29 ปีแล้ว แต่ความคิดความอ่านที่ดูเหมือนใสๆ ก็ยังคงยึดหลักของคำว่า “โลว์คอสต์” และทุกอย่างต้อง “เป๊ะ” ตามความคิดของเธอ

อย่างทำเลของร้านแรก ก็ต้องใช้เวลานานมาก โจทย์ของเธอคือต้องเป็นสแตนอโลน มีที่จอดรถ ไม่ตั้งในห้างสรรพสินค้า เธอมองว่าราคาแพงและมีเงื่อนไขเรื่องเวลาเปิดปิด เธอจึงมาปิ๊งโครงการเจ-อเวนิว ทองหล่อ 15 ซึ่งตอบโจทย์ได้ทุกอย่าง แม้จะโดนทักท้วงว่าเป็นทำเล “เดด เอ็นท์” เพราะอยู่ปลายสุดของโครงการ แต่เมย์กลับมองต่าง “นี่เป็นทำเลที่มีโอกาสสูงมาก แถมตั้งอยู่หัวมุมที่ทะลุไปถึงอีกซอย (ซอยร้านอาหารต้นเครื่อง) ซึ่งเป็นซอยที่รถติดตลอด ยิ่งรถติดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสโฆษณาร้านมากขึ้นเท่านั้น

แต่ด้วยความใหม่ ไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจมาก่อน กว่าเธอจะได้เช่าร้านจากสยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ก็ต้อง “เจรจา” กันหลายรอบ อาศัยเพื่อนของพี่ชายลูกพี่ลูกน้อง เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น “ยู” ช่วยพูดคุยกับเจ้าของโครงการ ในที่สุดสัญญาเช่าสถานที่ก็ลงตัว จนเป็นที่มาของชื่อร้านอาฟเตอร์ยู ทานอาหารร้านยู ซึ่งเช่าอยู่บนชั้น 2 เสร็จก็ลงมาทานขนมร้านของเธอต่อ

 

อาจเป็นโชคดีของเธอ ช่วงเรียนจบใหม่ๆ  ได้ทำหนังสือ “เมย์ เมด” ตามคำชวนของญาติผู้พี่ “นักรบ ต.สุวรรณ” ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ที่มองเห็นจุดขายในตัวเธอที่ไม่เคยเข้าเรียน แต่ฝึกฝนทำขนมด้วยตัวเอง ช่วยเป็นใบเบิกทาง และได้ลูกค้ากลุ่มแรกๆ ที่รู้จักเธอจากหนังสือเล่มนี้

ขณะที่สินค้าหลักของร้าน มีเพียง   “Shibuya Honey toast” ขนมปังก้อนโต ที่เป็น “พระเอก” ของร้าน ซึ่งเธอเคย “ปิ๊ง”สมัยไปเที่ยวญี่ปุ่น และนำมาปรับสูตรใหม่ ให้ตรงกับรสนิยมคนไทย ที่ต้องมีครบรสหวาน มัน เค็ม  เสิร์ฟมาร้อนๆ คู่กับ ท้อปปิ้ง และไอศรีม  เน้นให้ลูกค้านั่งทานในร้านที่ตกแต่งเรียบง่ายแต่ดูเก๋  แถมยังตั้งอยู่ในย่านคนมีเงิน และอินเทรนด์ อย่างซอยทองหล่อ

นอกจากบริหารจัดการง่าย ต้นทุนต่ำ เพราะมีแค่ตัวหลัก  คือ ขนมปัง Toast  และเพิ่มความหลากหลายด้วย ท้อปปิ้ง และไอศรีม ทานคู่กับเครื่องดื่มร้อน และเย็น

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว  ร้านขนมส่วนใหญ่จะเน้นเบเกอรี่ ขนมเค้ก และไอศครีม ส่วนร้านโดนัทแบรนด์ดัง ก็ให้ซื้อกลับบ้าน  ร้านอาฟเตอร์ยู ก็เลยกลายเป็นความแปลกใหม่ ที่โดนใจพฤติกรรมคนไทยยุคนี้ ที่นิยมทานอาหารนอกบ้าน ทานข้าวเสร็จ ก็มาต่อด้วยขนมหวานในร้านเก๋ๆ

ยิ่งมีสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง “เฟซบุ๊ค” มาเป็นตัวช่วย สร้างพฤติกรรมใหม่ขึ้นในสังคมไทย และเป็นเครื่องมือการตลาดโลว์คอสท์ เช่น การโพสต์รูป และบอกต่อ  ร้านไหนอยู่ในกระแส  ก็ยิ่งถูกบอกต่อ  และร้านอาฟเตอร์ยู ก็เป็นหนึ่งในกระแสที่ถูกบอกต่อ

จากที่ไว้ว่าจะมีลูกค้า เอบวกเป็นผู้หญิงทำงาน อายุประมาณ 24-25 ปี ไม่กลัวอ้วน ก็กลายเป็นตลาดใหญ่กว่าที่เธอคาดคิดไว้มากๆ ลูกค้าที่เข้าร้านมีทุกเซ็กเมนต์ พอกินแล้วถูกใจก็ไปบอกปากต่อปาก วัยรุ่นลากเพื่อนมากิน สาวๆ ก็ชวนแฟน ผู้หญิงผู้ชาย เด็กวัยรุ่น และมากันเป็นครอบครัว ถ้าคนมีเงินก็กินบ่อยหน่อย

จากที่ไม่คิดจะทำเป็นธุรกิจใหญ่โตมีสาขามากมาย แต่เพียงแค่ปีเดียว ร้านอาฟเตอร์ยูสาขาสอง ที่ “ลา วิลล่า” คอมมูนิตี้มอลล์บนถนนพหลโยธินก็เกิดขึ้น

สาขานี้เองได้เปลี่ยนอาฟเตอร์ยูให้กลายเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ เพราะฐานลูกค้าที่ไม่ได้จำกัดแค่เอ หรือบีเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายไปได้ถึงซีบวก ยิ่งตอกย้ำความมั่นใจว่า “ใช่แน่”  ประกอบกับร้านอาฟเตอร์ยูเริ่มเนื้อหอมมีเจ้าของสถานที่ บรรดาห้างสรรพสินค้าชื่อดังติดต่อให้ไปเปิดสาขามากมาย

จากนั้นสาขาที่สาม สี่ ห้า ก็ตามมา ความสำเร็จในช่วง 40 วันแรกของการเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ก็ยิ่งตอกย้ำความมั่นใจ เพราะฐานลูกค้าที่กว้างขึ้นอีก ไมได้มีแค่ขาประจำ แต่ยังมีขาจร นักท่องเที่ยวที่มารอคิวไม่ขาดสาย

แต่ในความโชคดีก็มีเรื่องไม่คาดฝัน เมื่อห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ถูกไฟไหม้ และต้องปิดไป ครั้งนั้นเธอตัดสินใจเปิดสาขาใหม่ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนอย่างไม่ลังเล  ตามมาด้วยสาขาที่สี่ เซ็นทรัลลาดพร้าว และสาขาที่ห้าคริสตัลปาร์ค

5 สาขาภายในเวลา 4 ปีครึ่ง เฉลี่ยเปิดปีละสาขา เมย์เชื่อว่าเป็นจังหวะการลงทุนที่ลงตัว ไม่ก้าวเร็วเกินไป สาขาใหม่จะเปิดก็ต่อเมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ทุกสาขาไม่ต้องกู้แบงก์ ไม่รีบร้อนจนทำให้เฝือ ทุกวันนี้ทั้ง 5 สาขาจึงมีลูกค้าแห่มาอุดหนุนตลอดตั้งแต่เปิดร้าน

เมย์ยอมรับว่า สิ่งที่ตามมาพร้อมกับความสำเร็จของอาฟเตอร์ยู คือ ปัญหาการถูก “ลอกเลียนแบบ” ทุกวันนี้มีร้านขนมสไตล์เดียวกับ  “Shibuya Honey toast”  เปิดขายในย่านชุมชน มหาวิทยาลัย ถอดแบบมาทั้งหน้าตาและชื่อเรียก แต่ขายในราคาถูกกว่าครึ่ง ส่วนร้านที่มีอยู่แล้ว ก็หันมาเพิ่ม ขนมสไตล์อาฟเตอร์ยูเข้าไปในเมนูของร้าน

“ช่วงแรกเสียใจถึงขั้นนอนไม่หลับ แต่ลองมองอีกด้าน การมีร้านอื่นๆ มาเลียนแบบ ก็ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของอาฟเตอร์ยูดังขึ้น เพราะเราคือต้นตำรับ เราคือผู้จุดประกาย แล้ววันหนึ่งลูกค้าก็อยากมาลองกิน เราจึงต้องทำให้รสชาติ คุณภาพคงที่ที่สุด ทำให้เขารู้รสชาติของความเป็นต้นตำรับว่าเป็นอย่างไร” 

ทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่จะมีลูกค้ามารอคิวเหมือนเดิม เธอยังได้รับการติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ เพื่อไปเปิดสาขาตามต่างจังหวัด ทั้งเชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต จากทั้งเจ้าของที่และเจ้าของศูนย์การค้า รวมถึงนักลงทุนที่มาจากทุกประเทศรอบๆ เมืองไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน  ไกลไปถึงตะวันออกกลาง ดูไบ ซาอุดีอาระเบียก็ติดต่อขอให้เธอไปลงทุน

ตามแผนงานของเธอ ปีนี้จะเปิดเพิ่มเพียงสาขาเดียวที่โครงการ อินท์-อินเตอร์เซค คอมมูนิตี้มอลล์ ย่านถนนพระราม 3 ของไพรด์-วุฒิศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ เพื่อนของพี่ชายลูกพี่ลูกน้อง ที่ช่วยเหลือกันมาตั้งแต่หาทำเลร้านแรก และปีหน้าจะเปิดอีกสาขาเท่านั้น

เมย์ บอกว่า รวมแล้วไม่เกิน 8-9 สาขา เป็นตัวเลขพอดี ที่เข้าถึงแมสได้ แต่ไม่เยอะจนเฝือ เพื่อยังคงไว้ซึ่งความเป็น “โฮมเมด” ไว้

ส่วนการโกอินเตอร์ของอาฟเตอร์ยู ความตั้งใจของเมย์ต้องเป็นประเทศที่เจริญกว่าเมืองไทย แต่ยังไม่ระบุชัดว่าจะเป็นประเทศไหน เพราะสิ่งที่เธอยังกังวล คือ การที่ไม่เข้าใจลูกค้าของประเทศเหล่านั้นดีพอ

“ถ้าเป็นเมืองไทย เมย์บอกได้ทันทีเลยว่า คนไทยกินรสไหน คนไทยชอบรสจัด อย่างขนมต้องมีหวาน เค็ม มัน มีทุกรส แต่ถ้าไปเมืองนอก ไม่แน่ใจว่าเมย์จะเข้าใจตลาดของประเทศเหล่านั้นเท่ากับประเทศไทยหรือเปล่า”

ไม่ว่าเธอจะเลือกเส้นทางไหนเพื่อโกอินเตอร์ บนเส้นทางขนมของอาฟเตอร์ยู เธอรู้ดีว่า ทุกอย่างมีขึ้นก็มีลง เพราะเมื่อเวลาผ่านไปความแตกต่างที่อาฟเตอร์ยูเคยมี อาจไม่ใช่ความแปลกใหม่อีกต่อไป 

แน่นอนว่า ฝันของเธอ ร้านอาฟเตอร์ยูจะต้องเดินหน้าต่อ เมย์เชื่อว่า ยังมีโอกาสพัฒนาไปได้อีกไกล ก็ต้องจับตาดูว่า ไอเดียคิดต่าง และต่อยอดของเธอ จะนำพาอาฟเตอร์ยูไปสู่ยุคที่สอง จะสร้างความมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้นได้ลงตัวเหมือนที่อาฟเตอร์ยูสำเร็จมาแล้วหรือไม่

 

Key Success 

 –  สินค้ามีความแตกต่าง เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ขนมที่ปรุงสดใหม่ในร้าน อย่าง Shibuya Houney Toast สร้างความแปลกใหม่ใหักับลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของเบเกอรี่ขนมเค้ก ไอศรีม

–  การเลือกโฟกัส Shibuya Houney Toast  ทำให้บริหารต้นทุนได้ง่ายและประหยัด  เพราะความหลากหลายมีเพียงแค่ท้อปปิ้ง และไอศรีม

– สถานที่ตั้งของร้านอยู่ในแหล่งวัยรุ่นคนมีเงิน ทั้งห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ที่เป็นย่านคนทำงาน

– ตัวร้านออกแบบให้เรียบง่ายแต่เก๋ เน้นให้ลูกค้าทานในร้าน เพื่อซึมซับบรรยากาศ สอดคล้องกับพฤติกรรมคนไทยยุคนี้ ที่ชื่นชอบทานอาหารนอกบ้าน และหาแหล่งแฮงเอาท์กับเพื่อน

– อาฟเตอร์ยู เกิดมาในช่วงที่เฟซบุ้คกำลังมีบทบาท เป็นเครื่องมือการตลาดแบบโลว์คอสท์ที่เห็นผล โดยเฉพาะพฤติกรรมการถ่ายภาพและแชร์ให้เพื่อน ซึ่งอาหารเป็นหนึ่งในความนิยมที่คนไทยแชร์กันมาก เมื่ออาฟเตอร์ยูสร้างความแปลกใหม่ สถานที่น่านั่ง เป็นหนึ่งในร้านที่ถูกแชร์ หรือบอกต่อมากที่สุดร้านหนึ่ง

– เจ้าของธุรกิจมี story ที่เป็นจุดขายได้ อายุน้อยแถมไม่เคยเรียนทำขนมมาก่อน แต่ใช้ความรักและความใส่ใจ รู้จักนำไอเดียมาต่อยอด จนประสบความสำเร็จ ทำให้เรื่องราวได้รับความสนใจจากสื่อมาตลอด

– การรู้จักนำเอาประสบการณ์จากการที่มีโอกาสได้เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ และนำมาต่อยอดให้เป็นธุรกิจ โดยเพิ่มเติม

บทเรียนจากความล้มเหลวในอดีต ยึดหลักการลงทุนแบบ “โลว์คอสท์”

 

สถิติอาฟเตอร์ยู

150 บาท คือ อัตราเฉลี่ยในการใช้จ่ายของลูกค้า 1 คน

2 ชั่วโมง คือ อัตราเฉลี่ยของลูกค้าที่ใช้เวลาในร้าน

1.30 ชั่วโมง คือ เวลานานที่สุดที่ลูกค้าเข้าคิวรอ จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลวันหยุดสำคัญๆ

4 ปีครึ่งของการเปิดร้าน เก็บเงินสดอย่างเดียว ยังไม่มีบริการบัตรเครดิต

 

พนักงานต้องเป็นแบบไหน

จากพนักงาน 8 คนในปีแรก ที่ฉลองกันในร้านอาหารเล็กๆ จนวันนี้เพิ่มเป็น 120 คน เป็นชีวิตที่มาไกลเกินฝัน เมย์เล่าว่าเธอเพิ่งพาทีมงานเหล่านี้ไป “เอาท์ติ้ง” ที่ชะอำมาหมาดๆ หลังจากปีก่อนหน้านี้ไปมาแล้ว กาญนบุรี และระยอง เป็นภาพแห่งความประทับใจ และภูมิใจ สำหรับคนวัยอย่างเธอ ที่ไม่คิดว่าจะได้ดูแลพนักงานนับร้อยคน ที่บางคนอยู่กันมาจนมีครอบครัว มีลูก

ความที่เธอเริ่มต้นธุรกิจยังอายุน้อย เคล็ดลับการดูแลพนักงาน เมย์บอกว่า ใช้กฎระเบียบมาใช้ ว่ากันไปตามถูกผิด แต่ส่วนใหญ่ก็ดูแลกันแบบพี่ๆ น้องๆ ใครมีเรื่องเดือดร้อนก็มาบอก และบางครั้งเราก็ต้องใช้วิธีบริหารแบบปิดตาข้างหนึ่ง ถึงจะอยู่กันได้นาน

ส่วนการคัดเลือกพนักงาน ยากที่จะรู้ว่าแต่ละคนมีนิสัยใจคอเป็นอย่างไร แต่จะชอบคนหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสไว้ก่อน เพราะงานบริการถ้าเกิดปัญหาอะไรจะช่วยลดแรงปะทะลงได้

 

คำแนะนำสำหรับคนอยากมีธุรกิจ

– ต้องรู้ตัวเองก่อนว่าจะขายสินค้าอะไร และต้องรู้จริง ต้องมีสินค้าที่เป็นซิกเนเจอร์ของตัวเอง อย่าจับฉ่าย

– เมื่อมีสินค้าโดดเด่น สถานที่และช่วงจังหวะจะตามมาเอง

– ต้องดู และศึกษาให้เยอะ

– ต้องมีความคิดในการทำธุรกิจ