ประหยัดพลังงาน : วิเคราะห์ 5 มาตรการภาครัฐ

รัฐบาลส่งสัญญาณประหยัดพลังงานผ่าน 5 มาตรการล่าสุดเพื่อให้ประชาชนร่วมมือกันอย่างจริงจัง หวังฟันฝ่าวิกฤติพลังงานที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่จากภาวะน้ำมันในตลาดโลกที่มีราคาแพงขึ้นมาก และถ้าหากประชาชนให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างจริงจังแล้วจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถประหยัดเงินได้ไม่ต่ำกว่า20,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ 5 มาตรการประหยัดพลังงานของรัฐบาลที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547ประกอบด้วยมาตรการดังต่อไปนี้

มาตรการที่ 1 : ขอความร่วมมือปิดสถานีบริการน้ำมันตั้งแต่ช่วงเวลา24.00-05.00น. โดยจะขอความร่วมมือไปยังสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ

มาตรการที่2:ขอความร่วมมือปิดไฟป้ายโฆษณาตั้งแต่เวลา 22.00 น.โดยจะขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการธุรกิจโฆษณาเพื่อดำเนินการ

มาตรการที่ 3 : พิจารณาปิดไฟฟ้าบนถนนบางสายหรือถนนบางช่วง โดยจะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน

มาตรการที่ 4 : พิจารณาปรับเพิ่มอัตราภาษีป้ายวงกลมและภาษีป้ายทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่มีขนาดเกิน2,500 ซีซี ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมหารือร่วมกันในการกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสมต่อไป

มาตรการที่ 5 :ให้หน่วยงานราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงร้อยละ10 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงกำหนดนโยบายแก่หน่วยงานในสังกัดเร่งรัดประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง

5 มาตรการประหยัดพลังงานของรัฐบาล

มาตรการประหยัดพลังงาน ประหยัดเงินได้
(ล้านบาท/ปี)
1.ปิดสถานีบริการน้ำมันตั้งแต่ 24.00-05.00 น. 19,000
2.ปิดไฟป้ายโฆษณาตั้งแต่เวลา 22.00 น. 57
3.ปิดไฟบนถนนบางสายหรือถนนบางช่วง 170
4.ปรับเพิ่มอัตราภาษีป้ายวงกลม/ป้ายทะเบียน กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา
รถยนต์นั่งขนาดเกิน 2,500 ซีซี อัตราภาษีที่ที่เหมาะสม
5.ลดค่าใช้จายด้านพลังงาน 10%ในหน่วยงาน จะประเมินผลในภายหลัง
ภาคราชการและรัฐวิสาหกิจ
รวมประหยัดพลังงานตามมาตรการที่ 1-3 19,227
ที่มา : กระทรวงพลังงาน

ศุนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นด้วยกับ 5 มาตรการประหยัดพลังงานของภาครัฐในครั้งนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการที่รัฐบาลต้องการส่งสัญญาณให้ประชาชนทุกส่วนของสังคมไทยได้ตระหนักถึงภาระที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจังในการฟันฝ่าวิกฤติพลังงานที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ จากการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานและยังคงทรงตัวในระดับที่สูงอยู่ในขณะนี้

ดังนั้น การรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดการใช้น้ำมันและพลังงานทุกรูปแบบจึงเป็นแนวทางที่ถูกต้องและสอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดน้ำมันโลกในปัจจุบัน เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้ประชาชนประหยัดรายจ่ายค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้าลงได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งก็เท่ากับว่าประชาชนจะมีเงินเหลือในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้นจากการประหยัดรายจ่ายค่าเชื้อเพลิงพลังงาน ทั้งยังเป็นการช่วยชาติประหยัดรายจ่ายค่าน้ำมันที่นำเข้ามาจากต่างประเทศลงได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งมาตรการทั้ง 5 นี้หากประชาชนให้ความร่วมมือกับทางการอย่างจริงจังแล้วก็จะช่วยชาติประหยัดเงินค่าน้ำมันและไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นเพิ่มเติมสำหรับ 5 มาตรการประหยัดพลังงานล่าสุดของรัฐบาลในประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

– มาตรการปิดสถานีบริการน้ำมันในช่วงเวลา24.00-05.00น.

มาตรการนี้น่าจะเป็นผลดีในเชิงจิตวิทยาที่เป็นการส่งสัญญาณให้ประชาชนเห็นว่าประเทศกำลังเผชิญกับภาวะน้ำมันที่มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ แต่ความสำเร็จของมาตรการนี้น่าจะขึ้นอยู่กับสถานีบริการน้ำมันว่าจะให้ความร่วมมือกับทางการได้มากเพียงใด เพราะมาตรการนี้รัฐบาลไม่ได้บังคับว่าจะต้องปฏิบัติพร้อมกันทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของประชาชนเป็นสำคัญด้วยว่า จะให้ความร่วมมือกับทางการได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ หากประชาชนยังใช้น้ำมันกันอย่างตามใจชอบหรือใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลยังตรึงราคาน้ำมันเอาไว้เช่นปัจจุบัน การใช้น้ำมันก็คงจะลดลงยาก

แม้จะมีการปิดปั๊มน้ำมันในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ขับขี่ยวดยานก็สามารถวางแผนการเติมน้ำมันนอกช่วงเวลาปิดปั๊มได้อยู่ดี ดังนั้น การลอยตัวราคาน้ำมันเบนซิน(แต่ยังคงตรึงราคาดีเซล)ตามที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่นี้จึงเป็นทางออกที่ดีที่จะสะท้อนให้ประชาชนเห็นว่าน้ำมันเป็นของหายากและมีราคาแพง ถ้าหากใช้อย่างไม่ประหยัดก็ต้องแบกรับภาระราคาที่แท้จริงเอาเอง อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไกลๆไปยังต่างจังหวัดของภาคต่างๆไม่ได้รับความสะดวก ดังนั้น รัฐบาลก็ควรที่จะพิจารณาผ่อนผันให้เปิดปั๊มน้ำมันตามช่วงรอยต่อระหว่างจังหวัดที่ห่างไกลจากกรุงเทพฯออกไปเป็นจุดๆให้แก่ผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไกลในช่วงเวลา24.00-05.00น.ของแต่ละวัน มาตรการนี้หากได้ผลดี จะประหยัดค่าน้ำมันได้อย่างน้อย 19,000 ล้านบาทต่อปี

– มาตรการปิดไฟป้ายโฆษณาตั้งแต่เวลา22.00น.

มาตรการนี้หากมองในแง่ของการประหยัดค่าไฟฟ้าแล้วนับว่าน้อยมาก เพราะจะลดค่าใช้ไฟฟ้าลงได้ไม่ถึง 60 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าเพื่อให้เกิดผลมากยิ่งขึ้นทางการจะต้องขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการธุรกิจโฆษณาให้ปรับวิธีการใช้ไฟฟ้าสาดส่องไปยังป้ายโฆษณาที่ในปัจจุบันเน้นการใช้พลังไฟฟ้าที่เจิดจ้าเกินความจำเป็นก็ขอให้ลดความสว่างของแสงไฟที่ส่องป้ายโฆษณาลงอย่างน้อยร้อยละ20-30 ก็น่าจะช่วยให้การประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เชื่อแน่ว่าผู้ประกอบการธุรกิจโฆษณาจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะเป็นการทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ทั้งยังจะเป็นจุดเริ่มของการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการธุรกิจโฆษณามีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆที่ประหยัดไฟแต่ได้ผลในเชิงการสื่อสารผ่านป้ายโฆษณายามค่ำคืนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

– มาตรการปิดไฟส่องสว่างบนถนนบางสาย

มาตรการนี้หากมองในเชิงผลได้จากการประหยัดรายจ่ายค่าพลังงานไฟฟ้าก็ยังถือว่าน้อยมาก เพราะจากการประเมินของทางการเองต่อมาตรการนี้ระบุว่าจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ประมาณ 170 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ในประเด็นนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นเพิ่มเติมว่าหน่วยงานของทางการ ทั้งกรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องประสานงานกันในการสำรวจเส้นทางและถนนที่จะมีการปิดไฟฟ้าที่ส่องสว่างที่ต้องเน้นถึงความปลอดภัยของผู้ขับขี่ยวดยานในยามค่ำคืน และยังจะต้องคำนึงถึงภัยจากการก่ออาชญากรรมบนถนนบางสายหากมีการปิดไฟส่องสว่างในตอนกลางคืน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีการเปิดไฟส่องสว่างตามถนนหนทางต่างๆในปัจจุบันก็ยังมีเหตุการณ์ปล้น จี้ และก่อคดีข่มขืนกันอยู่ ดังนั้น หากทางการตัดสินใจปิดไฟส่องสว่างในถนนเส้นใดก็จะต้องคำนึงถึงผลได้ว่าจะคุ้มกับผลเสียที่จะติดตามมามากน้อยแค่ไหน และถึงแม้ว่าทางการจะมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ/สายตรวจออกตระเวนตรวจตราเพิ่มความถี่ในการตระเวนตรวจให้มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนก็จะต้องเพิ่มงบประมาณเพื่อการนี้ ซึ่งก็คงจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพเศษว่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการนี้จะคุ้มค่ามาก-น้อย แค่ไหนด้วย

– มาตรการเพิ่มอัตราภาษีป้ายวงกลมและป้ายทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่มีขนาดเกิน 2,500 ซีซีขึ้นไป มาตรการนี้เป็นมาตรการที่ดีเพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง การปรับอัตราภาษีสูงขึ้นไปน่าจะมีส่วนช่วยให้การใช้น้ำมันลดลง มาบ้างแต่จะมากหรือน้อยนั้นยังขึ้นอยู่กับอัตราภาษีที่ปรับขึ้นไปและยังขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของประชาชนในกลุ่มที่ใช้รถยนต์ขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูงหากคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของชาติแล้วช่วยกันประหยัดน้ำมัน กลุ่มนี้จะช่วยให้การใช้น้ำมันลดลงมาได้มากทีเดียว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมีความเห็นเพิ่มเติมอีกว่าทางกรมการขนส่งทางบกอาจใช้วิธีการตรวจสอบผู้ที่จดทะเบียนเป็นเจ้าของรถยนต์ทั้งหมดว่าเป็นชื่อบุคคลเดียวกันแต่ครอบครองรถยนต์มากกว่า 2-3 คันหรือไม่ ถ้ามีเป็นจำนวนมากทางการก็อาจจะใช้วิธีจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าที่สูงขึ้นไปมากๆสำหรับผู้ที่จดทะเบียนเป็นเจ้าของรถยนต์ตั้งแต่คันที่ 3-4 ขึ้นไป นอกจากนี้แล้วทางการยังจะต้องเร่งรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ขนาดเล็กหรือซิตี้คาร์ที่มีขนาด1,600ซีซีลงมา โดยการปรับลดอัตราภาษีป้ายทะเบียนลงในคราวเดียวกันกับที่ปรับเพิ่มอัตราภาษีป้ายวงกลมรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังอาจขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้ารถยนต์ให้ลดราคารถยนต์ขนาดเล็กลงมาจากราคาที่ปรับขึ้นไปสูงมากในขณะนี้ หากไม่ให้ความร่วมมือทางการอาจใช้วิธีการตรวจสอบต้นทุนที่แท้จริงของการประกอบรถยนต์ทั้งระบบว่ามีการคิดราคาที่สมเหตุสมผลหรือไม่

– มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงอย่างน้อยร้อยละ10ในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ

มาตรการนี้เป็นมาตรการที่ดีถ้าทางการทำได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นตัวอย่างที่ดีแล้ว จะมีส่วนอย่างมากต่อการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเอกชนและประชาชนทั่วไปให้ความร่วมมือกับทางการมากยิ่งๆขึ้นไป ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่ารัฐบาลควรจะจัดตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาดูแลหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจให้ปฏิบัติตามมาตรการนี้ให้เกิดผลเป็นจริงโดยรวดเร็ว มีการกำหนดกรอบเวลาของการรายงานผลสำเร็จของแต่ละหน่วยงานเป็นระยะๆ พร้อมกับการประเมินผลอย่างเข้มข้น โดยที่หากหน่วยงานใดปฏิบัติได้เกินกว่าข้อกำหนดก็ใช้วิธีการประกาศและให้รางวัลอย่างชัดเจน เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่หน่วยงานอื่นที่จะเร่งสร้างผลงานการประหยัดพลังงานให้ได้ผลมากยิ่งขึ้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว 5 มาตรการประหยัดพลังงานที่รัฐบาลประกาศใช้ล่าสุดนี้ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยของรัฐบาลที่มีต่อประชาชนภายใต้สถานการณ์น้ำมันโลกที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูง การริเริ่มโครงการประหยัดพลังงานของภาครัฐจึงเป็นจุดย้ำเตือนประชาชนให้ตระหนักและเตรียมความพร้อมไว้รับมือกับภาวะวิกฤติด้านพลังงานที่เเท้จริง ซึ่งกำลังสะท้อนผ่านราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นมากและไม่มีทีท่าว่าจะลดลงไปอยู่ในระดับต่ำเหมือนเช่นเมื่อ4-5ปีก่อน ดังนั้น การรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดการใช้น้ำมันและพลังงานไฟฟ้ารวมทั้งพลังงานประเภทอื่นๆจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาน้ำมันในระยะสั้นเท่านั้น รัฐจึงยังต้องกำหนดมาตรการในระยะยาวออกมารองรับภาวะวิกฤติด้านพลังงานให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำมันและพลังงานโลกที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งมาตรการที่น่าจะได้รับการพิจารณาควบคู่กันไปด้วยก็เห็นจะได้แก่ การเร่งรัดพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทน ทั้งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งใต้ท้องทะเลอ่าวไทยและอันดามันที่เป็นแหล่งสำรองเดิมและแหล่งสำรองใหม่ๆ การเร่งสำรวจขุดเจาะแหล่งน้ำมันปิโตรเลียมทั้งใต้ท้องทะเลและบนบก การพัฒนาแหล่งถ่านหินลิกไนท์ การใช้ประโยชน์จากพลังงานธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังงานชีวมวล เป็นต้น

ซึ่งมาตรการระยะยาวเหล่านี้ควรจะมีการบรรจุไว้ในนโยบายที่รัฐบาลกำลังจะกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่จะต้องมีการดำเนินการกันอย่างจริงจังและมีความต่อเนื่องกันไปไม่สิ้นสุด ไม่ว่าประเทศไทยจะตกอยู่ในภาวะวิกฤติด้านพลังงานหรือไม่ก็ตาม