ตลาดเหล็กไทยซบเซาสวนทางตลาดโลกคึกคัก ท่ามกลางค่าเงินบาทที่ผันผวน

ตลาดเหล็กของไทยโดยปกติจะมีปริมาณความต้องการใช้ประมาณปีละ 12 ล้านเมตริกตัน ซึ่งมีขนาดที่เล็กมากเพียงร้อยละ 1 ของตลาดโลกที่มีปริมาณความต้องการและการผลิตอยู่ที่ประมาณ 1,200-1,300 ล้านเมตริกตันต่อปี โดยที่ 1 ใน 3 ของจำนวนนี้หรือประมาณ 420-470 ล้านเมตริกตันเป็นการบริโภคและการผลิตของประเทศจีน และจากภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ชะลอตัวลงรวมทั้งสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องมาในปี 2550 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กจากอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในประเทศ ทำให้ตลาดเหล็กในประเทศไทยปี 2550 ซบเซาต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ซึ่งสวนทางอย่างชัดเจนกับภาวะตลาดเหล็กของโลกที่ยังคงมีความคึกคัก โดยที่ระดับราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กในทุกภูมิภาคหลักของโลก มีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและธุรกิจเหล็กและเหล็กกล้าในประเทศไทย จำเป็นต้องปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศที่ผันผวนสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปและวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้

1. ตลาดเหล็กโลกปี 50 ยังคึกคักราคาสูงขึ้น..จีนยังคงเป็นปัจจัยหลัก

หลังจากที่ความต้องการใช้เหล็กในตลาดโลกในปี 2549 ขยายตัวสูงประมาณร้อยละ 9 พร้อมๆ กับการเติบโตของปริมาณผลิตเหล็กของโลกซึ่งสูงขึ้นกว่าร้อยละ 10 สู่ระดับ1,244 เมตริกตัน ครั้นมาในปี 2550 จากอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคเหล็กมากที่สุดในโลก ยังคงมีอัตราการขยายตัวของจีดีพีในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ถึงกว่าร้อยละ 11 ส่งผลให้ปริมาณความต้องการเหล็กในตลาดโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกช่วงครึ่งแรกปี 2550 ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าระหว่างประเทศ (International Iron and Steel Institute : IISI) ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2550นี้ ความต้องการบริโภคเหล็กของโลกจะขยายตัวในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.2 ภาวะตลาดเหล็กของโลกในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้จึงค่อนข้างตึงตัว โดยที่ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทต่างๆ อาทิ เหล็กแผ่นรีดร้อน-รีดเย็น และเหล็กกึ่งวัตถุดิบ อย่างเช่นเหล็กบิลเล็ตและเหล็กสแล็บมีราคาเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยกว่าร้อยละ 15-20 มาอยู่ที่ราว 520-550 เหรียญสหรัฐต่อตัน เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้เหล็กมีการขยายตัวค่อนข้างสูงในหลายภูมิภาคของโลก ไม่ว่าจะเป็นในจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง รัสเซีย ยูเครน ฯลฯ ในขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกคือจีน ได้พยายามควบคุมปริมาณการผลิตและปริมาณการส่งออก ความต้องการบริโภคเหล็กในตลาดโลกในปี 2550 ที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้วตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว ประกอบกับต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งสินแร่เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน จึงส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มขยับขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 โดยดัชนีราคาเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กรวมประเทต่างๆ (Global Composite Steel Price Index) ในเดือนมิถุนายนปีนี้ สูงขึ้นกว่าร้อยละ 12.3 มาอยู่ที่ระดับ 173.2 (ราคาเฉลี่ย 691 เหรียญสหรัฐต่อตัน) เทียบกับดัชนีเฉลี่ยทั้งปี 2549 ที่ระดับ 154.3 (ราคาเฉลี่ย 615.2 เหรียญสหรัฐต่อตัน) ทั้งนี้ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ ล้วนเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหล็กกึ่งวัตถุดิบอย่าง เหล็กบิลเล็ตและเหล็กสแล็บ รวมทั้งเศษเหล็ก หรือผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปอย่างเหล็กโครงสร้างและเหล็กแผ่นรีดร้อน-รีดเย็นชนิดต่างๆ

ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีการผลิตและการบริโภคเหล็กมากที่สุดในโลก คือประมาณ 1 ใน 3 ของอุปทานและอุปสงค์เหล็กทั้งโลก ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน เศรษฐกิจของประเทศจีนมีการเติบโตในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่องมาตลอด ความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนได้ทำให้ความต้องการบริโภคและการผลิตเหล็กของจีนเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กของจีนขยายตัวอย่างมาก คาดว่าปริมาณผลิตเหล็กของโลกปี 2550 จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5.6 สู่ระดับ 1,314 ล้านเมตริกตัน ในจำนวนนี้จะเป็นปริมาณการผลิตเหล็กของจีนถึง 475 ล้านเมตริกตัน ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้เหล็กของโลกในปี 2550 ก็เติบโตมากเช่นกัน โดยคาดว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 5.2 (ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการเพิ่มของอุปสงค์เหล็กในจีนประมาณร้อยละ 10) นอกจากนี้ จากการที่ปริมาณการผลิตในประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันจีนจึงกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกเหล็กสุทธิ (Net Steel Exporter) รายใหญ่ของโลก โดยในปี 2549 จีนมีการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กรวมประมาณ 43 ล้านเมตริกตัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 109.6 จากปีก่อนหน้า อีกทั้งในช่วงไตรมาสแรกปี 2550 จีนก็ยังส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กถึง 14.43 ล้านเมตริกตัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 118.4 จากช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม จากการเพิ่มกระโดดอย่างมากของปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กของจีนในช่วงปีที่ผ่านมา ได้ทำให้รัฐบาลจีนต้องดำเนินมาตรการเพื่อชะลอการส่งออก ด้วยการทยอยลดอัตราการคืนเงินภาษีวัตถุดิบ (Tax Rebate) ที่ใช้ในการผลิตเหล็กส่งออกหลายรายการลงหลายครั้งในช่วงปี 2548-49 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2550 จากร้อยละ13 จนเหลือประมาณร้อยละ 5 ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อกลางปี 2550 นี้เอง รัฐบาลจีนยังได้ประกาศยกเลิกการคืนเงินภาษีให้กับผลิตภัณฑ์เหล็กอีกหลายรายการ รวมทั้งการประกาศขึ้นภาษีส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กอีกกว่า 80 รายการ และการบังคับใช้มาตรการยื่นขอใบอนุญาตส่งออก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดแรงจูงใจในการผลิตเหล็กและควบคุมการส่งออกเหล็ก ทั้งนี้ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้มีนโยบายปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศให้มีประสิทธิภาพขึ้น ด้วยการพยายามจำกัดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของปริมาณการผลิตเหล็กในประเทศ รวมทั้งควบคุมปริมาณการส่งออกไม่ให้ขยายตัวมากเกินไป ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการควบคุมมลพิษและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดกระแสความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างประเทศ ที่จีนมักถูกกล่าวหาว่ามีการส่งออกสินค้าด้วยวิธีทุ่มตลาด กล่าวโดยสรุป เนื่องจากจีนเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคเหล็กรายใหญ่ที่สุดถึง 1 ใน 3 ของโลกดังได้กล่าวแล้วข้างต้น อีกทั้งปัจจุบันยังเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กรายใหญ่ ดังนั้น นโยบายใดๆ ของจีนที่เกี่ยวกับการผลิต การใช้ และการส่งออกเหล็กของจีน จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่กระทบทิศทางตลาดเหล็กโลกตลอดหลายปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน

2. ตลาดเหล็กในประเทศซบเซา…แต่ส่งออกพุ่งแม้ค่าบาทแข็ง

การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทย ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่มีความไม่แน่นอนต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการก่อสร้าง ตลอดจนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ปริมาณความต้องการใช้เหล็กในประเทศซบเซาลง และราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศทรงตัว ซึ่งตรงกันข้ามกับราคาเหล็กประเภทต่างๆในตลาดโลกที่กลับมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบที่สูงขึ้นเป็นลำดับ ภาวะตลาดเหล็กในประเทศที่ซบเซาสวนทางกับภาวะตลาดเหล็กโลกที่ยังคึกคัก และราคาเหล็กขยับตัวสูงขึ้นดังกล่าว จึงเท่ากับเป็นการสร้างความกดดันทั้ง 2 ด้านให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ซึ่งต้องนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบชนิดต่างๆ เช่น เหล็กบิลเล็ต เหล็กสแล็บ รวมทั้งเศษเหล็ก ที่ล้วนมีราคาสูงขึ้น เพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหล็กเส้น เหล็กลวด เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่นรีดร้อน-รีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบชนิดต่างๆ ในขณะที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กเหล่านี้ให้สอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าที่สูงขึ้นได้เพราะความต้องการในประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่พึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก ต้องได้รับผลกระทบจากการที่ราคาเหล็กกึ่งวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว แม้จะได้การชดเชยต้นทุนนำเข้าบ้างจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น แต่เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปจำหน่ายในประเทศกลับทรงตัว เพราะตลาดเหล็กในประเทศซบเซา ทำให้ส่วนต่างหรือมาร์จินระหว่างต้นทุนและราคาขายลดลง ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการธุรกิจ อย่างไรก็ตามในทางตรงข้าม ผู้ประกอบการหลายรายโดยเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่ๆ หรือรายที่มีศักยภาพในการส่งออก กลับได้ใช้ช่องโอกาสที่อุปสงค์เหล็กในตลาดโลกมีความคึกคัก ขยายการส่งออกไปต่างประเทศซึ่งราคาเหล็กสูงกว่า

ดังนั้น เนื่องจากตลาดเหล็กและความต้องการใช้เหล็กในประเทศในช่วงครึ่งแรกปี 2550 ได้ประสบกับภาวะซบเซาตามสภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งใช้เหล็กในกระบวนการผลิต ทำให้การผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กโดยรวมชะลอตัวลง ดังเห็นได้จากดัชนีรวมผลผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ระดับ 143.6 ซึ่งอ่อนตัวลงมาจากระดับเฉลี่ยทั้งปี 2549 ที่ 144.7 ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์เหล็กบางรายการที่ดัชนีผลผลิตยังเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาทิ เหล็กลวด และลวดเหล็กสำหรับงานคอนกรีตอัดแรง อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความซบเซาของตลาดเหล็กในประเทศช่วงครึ่งปีแรก แต่ปริมาณการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กของไทยกลับขยายตัวมาก อันเป็นผลจากตลาดเหล็กโลกที่คึกคัก โดยในช่วง 6 เดือนแรกปี 2550 นี้ มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าของไทยสูงถึง 81,259 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 44.6 จากช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกเหล็กประเภทผลิตภัณฑ์แผ่นรีด เหล็กมุม เหล็กรูปทรงและหน้าตัด ฯลฯ มูลค่าประมาณ 42,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 95.2 จากปีที่แล้ว โดยตลาดหลักๆ ได้แก่ สหรัฐอมริกา อินเดีย ประเทศในกลุ่มอาเซียน และญี่ปุ่น ทั้งนี้ การขยายตัวอย่างมากของการส่งออกดังกล่าว ได้เป็นการชดเชยสถานะผลประกอบการของอุตสาหกรรมเหล็กที่กำลังประสบกับภาวะซบเซาของตลาดเหล็กในประเทศได้ในระดับหนึ่ง ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทยในปีนี้ยังพอเดินหน้าได้

ในอีกด้านหนึ่งนั้น แม้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะชะลอลงกว่าปีที่ผ่านมา แต่การนำเข้าเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กยังคงเติบโต เนื่องจากประเทศไทยต้องมีการนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบ อาทิ เหล็กบิลเล็ตและเหล็กสแล็บ ฯลฯ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเหล็กสำเร็จรูปประเภทต่างๆ ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาว เช่น เหล็กเส้น เหล็กลวด และผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนต่างๆ เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน-รีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบ หรือเหล็กแผ่นชุบชนิดต่างๆ ทั้งเพื่อใช้ภายในประเทศและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการส่งออกที่กำลังได้ราคาดีในตลาดโลก ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้การนำเข้าเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กมีมูลค่า 154,959 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14 เป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการนำเข้าดังกล่าวสูงขึ้นทั้งๆ ที่ความต้องการในประเทศค่อนข้างซบเซา เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบซึ่งใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูป เพื่อที่จะส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ ซึ่งราคาเหล็กมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จูงใจให้ผู้ประกอบการเร่งส่งออก นอกจากนี้ การที่ค่าเงินบาทสูงขึ้น ได้ช่วยบรรเทาภาระต้นทุนนำเข้า อันเป็นการช่วยชดเชยต้นทุนการนำเข้าเหล็กวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกได้ในระดับหนึ่ง ผู้ประกอบการจึงมีการนำเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กราคาต่ำจากจีน ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกปี 2550 เพิ่มขึ้นสูงถึงกว่าร้อยละ 80-90

นอกจากนั้น ภาวะซบเซาของตลาดเหล็กไทย ยังได้ทำให้ราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปภายในประเทศช่วงครึ่งแรกปีนี้ค่อนข้างทรงตัว แม้ต้นทุนราคาเหล็กกึ่งวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศจะมีแนวโน้มสูงขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการปรับราคาแนะนำผลิตภัณฑ์เหล็กชนิดต่างๆ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 0.70-1.00 บาทต่อ กก. เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบเหล็กนำเข้าในตลาดโลกได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยเหล็กเส้นปรับขึ้นเป็น 21.35 บาทต่อ กก. เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนปรับขึ้นเป็น 25.50 บาทต่อ กก. เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ราคาจำหน่ายเหล็กในตลาดในประเทศช่วงครึ่งปีแรก 2550 ยังค่อนข้างทรงตัว ทั้งนี้บางรายการมีราคาขายในตลาดต่ำกว่าราคาแนะนำของทางการด้วยซ้ำ ท่ามกลางภาวะตลาดในประเทศที่ค่อนข้างเงียบเหงา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า หากภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปี 2550 กระเตื้องขึ้น พร้อมกับสถานการณ์การเมืองในประเทศที่เริ่มคลี่คลายอันจะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ก็จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งการก่อสร้างกลับมาฟื้นตัวได้ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศกระเตื้องขึ้นตามไปด้วย และอาจทำให้ตลอดทั้งปีนี้ปริมาณความต้องการขยายตัวได้เล็กน้อยประมาณร้อยละ 2-3 แต่ถ้าสภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศยังคงไม่มีเสถียรภาพต่อเนื่อง ภาวะตลาดเหล็กของไทยปี 2550 ก็จะคงซบเซาต่อไป โดยที่อุปสงค์เหล็กในประเทศจะชะลอตัวลงอีกต่อจากปีที่แล้ว ด้วยปริมาณความต้องการที่จะอยู่ในระดับเพียง 11 ล้านตันกว่าๆ เทียบกับประมาณ 12 ล้านตันในปีที่แล้ว ในขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กของไทยในปี 2550 นี้ กลับเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่ผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กเกรดคุณภาพสูง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงปี 2550 นี้ โดยที่การส่งออกไม่ได้รับผลกระทบนักจากการที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้น แต่ในทางตรงข้ามการแข็งค่าของเงินบาท กลับช่วยลดภาระต้นทุนนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเหล็กสำเร็จรูปเพื่อส่งออก ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมีความเห็นว่าความสามารถในการปรับตัวของผู้ผลิตในยามที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีความผันผวน เช่นสถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กที่มีศักยภาพในการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์เหล็กเกรดคุณภาพสูงที่เป็นความต้องการของตลาดต่างประเทศ ย่อมจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเป็นการขยายฐานตลาดส่งออก อันจะเป็นพัฒนาความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเหล็กของไทยในอนาคต