เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน : ปัจจัยลบรุมเร้า…ทั้งตลาดในประเทศ-ต่างประเทศ

จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่าในช่วง 9 เดือนแรกปี 2550 ผู้บริโภคภายในประเทศมีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านประมาณ 21,360 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปี 2549 กระเตื้องขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้าที่เติบโตติดลบร้อยละ 2.2 โดยการปรับตัวดังกล่าวส่วนหนึ่งน่าจะได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของอสังหาริมทรัพย์ประเภทธุรกิจคอนโดมิเนียม ที่เติบโตสวนกระแสตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมในปี 2550 โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมระดับราคาปานกลางที่มีราคาประมาณ 1-3 ล้านบาท ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลย่านธุรกิจใจกลางเมือง และตามเส้นทางรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน แต่ในส่วนของเฟอร์นิเจอร์บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์คาดว่าน่าจะยังอยู่ในภาวะทรงตัวตามทิศทางการชะลอตัวต่อเนื่องของโครงการบ้านจัดสรร ขณะที่ตลาดส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยในปี 2550 นั้น ซบเซาต่อเนื่องจากปี 2549 โดยปัจจัยหลักมาจากการชะลอการสั่งซื้อสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของประเทศคู่ค้าหลักของไทยอย่างสหรัฐฯภายหลังการเผชิญวิกฤตทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของการหดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงตลาดญี่ปุ่นเองก็ชะลอลงเช่นกัน ขณะที่ตลาดสหภาพยุโรปยังเติบโตได้ดี จึงคาดว่าการส่งออกสินค้าประเภทนี้โดยรวมในปี 2550 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 45,000 ล้านบาท(เติบโตติดลบร้อยละ 3-5 )

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนในปี 2551 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ปัจจัยบวกสำหรับตลาดในประเทศ การเติบโตของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนภายในประเทศในปี 2551 นั้นน่าจะทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2550 โดยคาดว่าปัจจัยบวกนั้นน่าจะมาจากนโยบายผลักดันเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง หากมีการทำตามนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2550 โดยเฉพาะการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ อาทิ การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การผลักดันภาคการผลิต และการจ้างงาน ที่น่าจะกระตุ้นให้การลงทุนของภาคเอกชนและเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อรายได้ในอนาคตฟื้นตัวขึ้นได้ นอกจากนี้ความชัดเจนของโครงการรถไฟฟ้า 2 สาย อย่างสายสีแดงช่วงบางซื่อถึงตลิ่งชัน และสายสีม่วงช่วงบางใหญ่ถึงบางซื่อ ก็น่าจะส่งผลดีต่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ตามแนวเส้นทางดังกล่าว และน่าจะเป็นช่องทางใหม่ของตลาดเฟอร์นิเจอร์ในประเทศด้วย

ปัจจัยเสี่ยงสำหรับตลาดในประเทศ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่พึงระวังสำหรับผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนในประเทศ ได้แก่ แนวโน้มการชะลอตัวลงของการเปิดโครงการใหม่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ จากการที่อุปทานในตลาดบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมที่ยังคงมีเหลืออยู่จากปีก่อน อันเนื่องมาจากอุปสงค์ในการซื้อบ้านจัดสรรชะลอตัวลง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2551 น่าจะลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 4 หรือมีประมาณ 23,900 – 24,800 หน่วย จากที่คาดว่าจะมีจำนวน 26,100 หน่วย ในปี 2550 ดังนั้นหากมีการชะลอการพัฒนาโครงการใหม่ๆก็อาจจะมีผลให้เม็ดเงินหมุนเวียนในตลาดเฟอร์นิเจอร์หายไปบางส่วนได้ ขณะเดียวกันการปรับตัวของค่าครองชีพตลอดจนแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็น่าจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยหรือปรับปรุงที่อยู่อาศัยเดิม และต่อเนื่องถึงการซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ด้วย นอกจากนี้แนวโน้มการปรับขึ้นราคาน้ำมันก็ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อต้นทุนการผลิต วัตถุดิบ และค่าขนส่งของผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ด้วย นอกเหนือจากภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์หลายรายจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการปรับราคาขายส่งและขายปลีกเฟอร์นิเจอร์เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5-10 หรืออาจจะมากกว่านั้นหากสถานการณ์ทางด้านราคาน้ำมันยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น

ปัจจัยบวกสำหรับตลาดส่งออก สำหรับปัจจัยบวกที่ยังพอมีอยู่บ้างสำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยนั้น ได้แก่ อุปสงค์สินค้าเฟอร์นิเจอร์ในตลาดใหม่ของไทย อย่างจีน อินเดีย รัสเซีย หรือ แอฟริกาใต้ ที่ประชากรมีแนวโน้มกำลังซื้อสูงต่อเนื่อง อีกทั้งโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการบูรณะอาคารสถานที่ของประเทศดังกล่าวก็ยังมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ทำให้น่าจะส่งผลดีต่อความต้องการใช้เฟอร์นิเจอร์ไม่น้อย นอกจากนี้อินเดียและรัสเซียก็มีอัตราการขยายตัวด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่รวดเร็วมาก โดยเฉพาะตลาดโรงแรมและรีสอร์ต ซึ่งต้องการเฟอร์นิเจอร์ที่มีดีไซน์ หรือแม้แต่ตลาดตะวันออกกลาง เช่นซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เองก็เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในการรองรับเฟอร์นิเจอร์ส่งออกจากไทยเช่นกัน นอกจากนี้ตลาดยุโรปเองก็มีแนวโน้มจะหันมาสนใจสินค้ากลุ่มนี้ของไทยมากขึ้น ภายหลังจากที่สินค้าจากจีนที่เคยครองใจผู้บริโภคส่วนใหญ่ด้วยราคาจำหน่ายที่ถูกกว่าสินค้าจากไทยมีปัญหาความน่าเชื่อถือในส่วนของคุณภาพและความปลอดภัย เนื่องจากตลาดยุโรปเป็นตลาดที่ให้ความสำคัญต่อคุณภาพของสินค้าค่อนข้างสูง จึงมีความเป็นไปได้ว่าในปี 2551 บทบาทของตลาดรอง และตลาดใหม่ รวมถึงตลาดสหภาพยุโรปนั้นก็น่าจะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศรวมกันด้วยอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 (ในรูปเงินบาท) ในปี 2551

ปัจจัยเสี่ยงสำหรับตลาดส่งออก จากการที่ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะคู่ค้ารายใหญ่อย่างสหรัฐฯที่ครองสัดส่วนประมาณร้อยละ 25-35 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มของไทยนี้โดยรวมในแต่ละปีมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สหรัฐฯได้รับผลกระทบจากสินเชื่อซับไพร์ม(Subprime Mortgages หรือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยให้แก่ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง) นับตั้งแต่ปี 2550 ทำให้ยอดการซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่องมีโอกาส ได้รับผลกระทบโดยตรง รวมถึงแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของทั้งประเทศในแถบยุโรปและญี่ปุ่นที่ปัจจุบันครองสัดส่วนร้อยละ 40-50 ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนโดยรวมของไทย ก็อาจจะมีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและความต้องการสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยบ้างพอสมควร ประกอบกับแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ หรืออีกนัยหนึ่งค่าเงินบาทจะยังคงแข็งค่ากว่าโดยเปรียบเทียบกับค่าเงินของคู่แข่งต่อเนื่อง ส่งผลต่อให้ราคาเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยเสมือนแพงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะขายเฟอร์นิเจอร์ในตลาดต่างประเทศเป็นเงินสกุลดอลลาร์ ดังนั้น หากค่าของเงินดอลลาร์ฯอ่อนลงก็ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาคส่งออกในรูปเงินบาทต่อไป อีกทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่ายังคงทรงตัวในระดับสูงในปี 2551 ที่นอกจากจะมีส่วนกดดันให้ภาระต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้นจนต้องมีการปรับขึ้นราคาที่อาจจะมีผลให้ผู้ริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อเฟอร์นิเจอร์แล้ว ก็อาจจะมีผลทางจิตวิทยาและอารมณ์ในการซื้อเฟอร์นิเจอร์เพื่อตกแต่งบ้านด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ตลาดเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนยังคงต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันค่อนข้างสูงทั้งระหว่างผู้ประกอบการไทยด้วยกันเอง และระหว่างผู้ประกอบการไทยกับคู่แข่งในตลาดหลัก สำหรับสินค้าประเภทนี้ของเวียดนามซึ่งกลายเป็นคู่แข่งรายสำคัญของไทยนั้นนอกจากจะเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญอันดับ 1 ของอาเซียนแล้ว ยังมีอัตราการเติบโตเป็นเลขสองหลักที่มากที่สุดในบรรดาผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนรายสำคัญอันดับ 1-10 ของโลกด้วย

การนำเข้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยจากตลาดโลก มีความเป็นไปได้ว่าความต้องการเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนนำเข้าของไทยในปี 2551 น่าจะทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2550 ทั้งๆที่ค่าเงินบาทก็มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นในปีที่ผ่านมา ที่น่าจะกระตุ้นให้มีการนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะสินค้านำเข้าเสมือนมีราคาถูกลงโดยเปรียบเทียบในสายตาของผู้ซื้อคนไทย โดยส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความต้องการใช้เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนภายในประเทศที่มีแนวโน้มทรงตัว อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งในส่วนของธุรกิจที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงานที่คาดว่าจะทรงตัวในปี 2551

ปัจจุบันสถานการณ์การแข่งขันในตลาดเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศล้วนทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การผลิตสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ทั้งเพื่อการตกแต่งบ้านและสำนักงานในยุคปัจจุบัน นอกจากจะต้องให้ความสำคัญต่อการบริหารต้นทุนการผลิตเพื่อพยุงกำไรไว้ให้ได้ท่ามกลางต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นและสินค้าราคาถูกครองตลาดแล้ว ผู้ประกอบการไทยแต่ละรายจำเป็นต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในประเทศคู่ค้าแต่ละประเทศให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตเพื่อขายให้กับลูกค้าในประเทศหนึ่งประเทศใดอาจจะไม่เป็นที่ถูกใจสำหรับผู้บริโภคอีกประเทศหนึ่งก็ได้ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับปัจจัยต่างๆดังนี้ 1.การออกแบบที่สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของกลุ่มผู้บริโภคที่อาจจะแบ่งเป็นกลุ่มลูกค้าในลักษณะแบ่งแยกย่อย และเจาะลึกถึงผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม(Fragmentation Marketing)มากขึ้น 2.การตอบสนองการอยู่อาศัย มีความจำเป็นอย่างมากที่ผู้ประกอบการควรต้องรู้เกี่ยวกับลักษณะการอยู่อาศัยของกลุ่มผู้บริโภค เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า 3.คุณภาพของสินค้า ส่วนใหญ่ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่ประชากรมีรายได้สูงส่วนใหญ่มักจะนิยมสินค้าที่มีคุณภาพดี แม้จะต้องจ่ายแพงขึ้น แต่ก็นำมาซึ่งความพึงพอใจมากที่สุดเช่นกัน ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคากับสินค้าจากจีนหรือเวียดนาม ผู้ประกอบเฟอร์นิเจอร์ไทยจำเป็นต้องพยายามเน้นคุณภาพของสินค้าเป็นสำคัญในทุกขั้นตอนการผลิต นอกจากนี้การผลิตและการออกแบบควรเน้นเรื่องความประณีต และสวยงามด้วย และ 4.วัสดุและสีสันที่นำมาใช้ผลิตสินค้าเพื่อประเทศใดประเทศหนึ่งก็ควรเป็นวัสดุ/สีสันที่ได้รับความนิยมหรือเหมาะกับสภาพภูมิอากาศของประเทศนั้นๆ และจำเป็นต้องออกแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน และมีความปลอดภัยสูงด้วยตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การอบไม้ และการใช้สีที่ไม่ก่อให้เกิดสารตะกั่วตกค้าง เป็นต้น

บทสรุป
จากปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ชิ้นส่วนของไทยชัดเจนกว่าปัจจัยสนับสนุน ทำให้สถานการณ์ของสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยในปี 2551 จึงตกอยู่ในภาวะพึงระวัง โดยตัวแปรด้านอัตราดอกเบี้ย ราคาเชื้อเพลิง และเสถียรภาพทางการเมืองจะยังคงเป็นตัวแปรหลักที่จะมีผลต่อปริมาณความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ภายในประเทศ ในยุคที่ผู้บริโภคมักจะคำนึงถึงเรื่องการใช้งานในระยะยาว ความคงทน และความคุ้มค่า ดังนั้นกลยุทธ์ที่โดดเด่นที่อาจจะเป็นกลยุทธ์ด้านราคา หรือการให้บริการที่เสริมเพิ่มมูลค่าของสินค้าที่แตกต่างจากคู่แข่งน่าจะมีการนำมาใช้มากขึ้นและก่อให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้นจากปีก่อนหน้า ส่วนตลาดต่างประเทศนั้นก็อาจจะฟื้นตัวลำบาก โดยคาดว่าอัตราการเติบโตใน ปี 2551 น่าจะหดตัวต่อเนื่องจากปี 2550 ในระดับร้อยละ 0 ถึงติดลบร้อยละ 5 หรือมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 43,000-45,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งในตลาดโลกไม่เกินร้อยละ 2 หรือติดอันดับผู้ส่งออกรายสำคัญประมาณลำดับที่ 21-25 ของโลก เพราะคู่ค้าหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มียังคงมีแนวโน้มชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และแม้ว่าตลาดยุโรปจะให้ความสนใจในสินค้าของไทยเพิ่มขึ้นเนื่องจากมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัย แต่ด้วยอำนาจซื้อที่มีแนวโน้มทรงตัวก็อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อเฟอร์นิเจอร์บ้างพอสมควร ขณะที่ตลาดใหม่ๆที่แม้ว่าจะยังมีโอกาสเติบโตได้อีก แต่ก็มีปริมาณคำสั่งซื้อด้วยเม็ดเงินที่ไม่สูงพอที่จะผลักดันให้สถานการณ์การส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยพลิกฟื้นได้ทันทีในปี 2551 แต่ก็เป็นโอกาสในการขยายตลาดในวงกว้างมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการจึงไม่ควรหยุดนิ่งในการเสาะแสวงหาตลาดใหม่ๆเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการที่ต้องพึ่งพาตลาดหลักเพียงไม่กี่ตลาด ควบคู่กับกับให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อตอบสนองการใช้งาน รวมทั้งให้ความสำคัญเรื่องวัสดุและคุณภาพของสินค้าของกลุ่มเป้าหมายในประเทศคู่ค้าแต่ละประเทศอย่างถ่องแท้