กระทรวงไอซีที เร่งคลอดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนไอซีที

กระทรวงไอซีที เดินหน้าจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 เร่งจัดประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดมาตรการขับเคลื่อนไอซีทีของประเทศไทยในแต่ละยุทธศาสตร์ หลังการยกร่างวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ตลอดจนประเด็นยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว หวังเป็นกรอบและแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

นายวรพัฒน์ ทิวถนอม รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เผยว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ในฐานะคณะทำงานการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2552 – 2556 ได้จัดการประชุมกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการขับเคลื่อนการพัฒนาไอซีทีของประเทศไทยในแต่ละยุทธศาสตร์ตามโครงการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ.2552 – 2556 ระหว่างวันที่ 17 – 24 มิถุนายน 2551 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ภายหลังจากคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทฯ ได้ยกร่างวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ตลอดจนประเด็นยุทธศาสตร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมาจากการวิจัยเชิงลึกถึงสถานภาพปัจจุบันและแนวโน้มการพัฒนาไอซีทีในอนาคต การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและภัยคุกคามของการพัฒนาไอซีทีในประเทศไทยกับผู้เกี่ยวข้องในกลุ่มย่อย รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากภาคเอกชน

นายวรพัฒน์ฯ กล่าวต่อไปว่า การยกร่างมาตรการ แผนงาน และโครงการเร่งด่วนที่เหมาะสมกับยุทธศาสตร์แต่ละกลุ่ม จะมาจากการรับฟังและสังเคราะห์ความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงกระทรวงไอซีที ผู้แทนสมาคมภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไอซีที หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนสถาบันการศึกษา และคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 2 เกี่ยวกับ 6 ยุทธศาสตร์อันเป็นมาตรการในการขับเคลื่อนไอซีทีของประเทศไทย ดังต่อไปนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนากำลังคนด้านไอซีทีและบุคลากรในทุกวิชาชีพที่มีความสามารถในการใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน (Information Literacy)

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างธรรมาภิบาลในระบบบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (National ICT Management Framework)

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารและการบริการของภาครัฐ (e-Governance)

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไอซีที (ICT Industry Competitiveness) เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้เข้าประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การใช้ไอซีทีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (ICT for Competitiveness)”

“กระทรวงไอซีที หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กลุ่มเป้าหมายที่มาร่วมการประชุมระดมความคิดเห็นครั้งนี้จะมีความเข้าใจถึงทิศทางการพัฒนาไอซีที ในด้านวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ เป้าหมายและประเด็นยุทธศาสตร์ในร่างฉบับที่ 1 ของแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2552 – 2556) ตลอดจนร่วมเสนอแนะความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการ แผนงาน โครงการเร่งด่วน ที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภายในกรอบระยะเวลา 5 ปี (2552 – 2556) ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนะต่อบทวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ บริการและคอนเทนต์ ซึ่งหลังจากมีการจัดทำแผนแม่บทฉบับนี้เสร็จสิ้นและนำไปใช้งานจริงแล้ว จะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนทุกระดับมีความรู้ความเข้าใจและสามารถเข้าถึงสารสนเทศอย่างเท่าทัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ การทำงานและการดำรงชีวิตประจำวัน พร้อมยกระดับความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ โดยประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของรัฐและภาคธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว และสามารถทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แบบปลอดภัยได้หลากหลายรูปแบบ”