โอลิมปิกเกมส์ 2551….โอกาสในการประชาสัมพันธ์สินค้าไทย

กระแสตื่นตัวกับมหกรรมกีฬาระดับโลกได้แพร่ขยายไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเจ้าภาพอย่างจีน ที่มุ่งหวังให้เวทีแห่งเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ 2551 เป็นการเปิดศักราชใหม่แห่งการพัฒนาของจีนเพื่อเปิดประเทศสู่สากลในทุกแง่มุมพร้อมยกระดับเมืองปักกิ่งให้เผยภาพลักษณ์ใหม่สู่สายตาโลกภายใต้แนวคิด “New Beijing, Great Olympic” เพื่อที่ต้องการจะลบภาพลักษณ์เดิมๆ “Made in China” สู่ “Designed in China” ขณะเดียวกันงานโอลิมปิกครั้งนี้ได้ส่งผลดีต่อประเทศไทยในด้านโอกาสที่จะประชาสัมพันธ์สินค้าไทยต่อสายตาชาวจีนและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาร่วมงานกีฬาระดับโลก โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

โอลิมปิก: เพิ่มมูลค่าการค้าของจีนกับไทย

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในระดับสูงด้วยตัวเลข 2 หลักติดต่อกันมาหลายปีและการเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ ทำให้อุปสงค์เหล็กในประเทศขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ปัจจุบันจีนบริโภคเหล็กสูงถึงหนึ่งในสามของอุปทานเหล็กทั่วโลก อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กของจีนเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน ในช่วงระหว่างปี 2542-2550 ยอดผลิตเหล็กของจีนเพิ่มขึ้นจาก 126.3 ล้านตันเป็น 487.6 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า ปัจจุบันปริมาณเหล็กที่จีนผลิตคิดเป็นร้อยละ 37 ของการผลิตทั่วโลก โดยในปี 2550 มูลค่าการผลิตของผู้ประกอบการขนาดใหญ่และขนาดกลางของจีนคิดเป็น 1.8 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 32.3 ขณะที่ผลกำไรรวมคิดเป็นมูลค่า 144.7 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.5 คาดว่าภายในปี 2552 จีนจะสามารถผลิตเหล็กได้ทั้งสิ้น 658 ล้านตันต่อปี

การค้าของจีนกับโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2546 การค้าของจีนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 จีนเกินดุลการค้า 99 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่าการค้ารวม 1,233 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 25) โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 666 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9) และนำเข้า 567 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.6)

สำหรับการค้ากับไทยจะเห็นได้ว่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนมีอัตราการขยายตัวที่สูงในปี2546 โดยขยายตัวถึงร้อยละ 17 และขยายตัวอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา การส่งออกเหล็กจากไทยไปยังจีนในช่วงปี 2546 ขยายตัวสูงกว่า 1 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกเหล็กจากไทยไปจีน 191.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.4 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดจากไทยไปจีน(หรือร้อยละ 5 ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม) เป็นเหล็กและเหล็กกล้าสัดส่วนร้อยละ 92.8 ของการส่งออกเหล็กจากไทยไปจีน และผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าร้อยละ 7.2 ของการส่งออกเหล็กจากไทยไปจีน ความต้องการเหล็กที่พุ่งขึ้นของจีนตั้งแต่ปี 2546 ส่วนหนึ่งเนื่องจากในช่วงปี 2546 เป็นปีที่จีนได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารต่างๆเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ ไปบ้างแล้วบางส่วน ทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าเหล็กจากทั่วโลกแม้ว่าจีนจะเป็นผู้ผลิตเหล็กที่สำคัญของโลกก็ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ความต้องการเหล็กพุ่งขึ้น

การค้าระหว่างไทยและจีนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับจีนมูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการค้ารวม 18.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2) จีนเป็นคู่ค้าลำดับที่ 2 ของไทย(รองจากญี่ปุ่น) คิดเป็นสัดส่วนทางการค้าร้อยละ 10.4 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 8.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.4) การส่งออกจากไทยไปจีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.6 ของการส่งออกจากไทยทั้งหมด และนำเข้า 9.98 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.7) และการนำเข้าจากจีนคิดเป็นร้อยละ 11.3 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย

สินค้าส่งออกของไทยไปจีน 6 เดือนแรกปี 2551 ที่สำคัญเป็นสินค้าอุตสาหกรรมสัดส่วนร้อยละ 69 ของมูลค่าการส่งออกจากไทยไปจีน สินค้าเกษตรสัดส่วนร้อยละ 1.59 ของมูลค่าการส่งออกจากไทยไปจีน สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรร้อยละ 1.4 ของมูลค่าการส่งออกจากไทยไปจีน และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงร้อยละ 1.36 ของมูลค่าการส่งออกจากไทยไปจีน การส่งออกเหล็กจากไทยไปจีนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 ยังคงขยายตัวร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.5 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีน(หรือร้อยละ 1 ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม) เป็นเหล็กและเหล็กกล้าสัดส่วนร้อยละ 61.8 ของการส่งออกเหล็กจากไทยไปจีน และผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าร้อยละ 38.2 ของการส่งออกเหล็กจากไทยไปจีน การส่งออกเหล็กจากไทยไปยังจีนในปัจจุบันยังคงขยายตัวตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมจีน ประกอบกับช่วงต้นปี 2551 จีนประสบภัยธรรมชาติทั้งพายุหิมะ น้ำท่วมและแผ่นดินไหวส่งผลให้เกิดความเสียหายในอาคารปลูกสร้างต่างๆ โดยเฉพาะเหตุการแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวนที่ทำให้ความต้องการใช้เหล็กของจีนเพิ่มขึ้นเพื่อฟื้นฟูอาคารบ้านเรือนที่เสียหายเป็นจำนวนมาก

โอกาสทางการค้าไทยจากโอลิมปิกเกมส์ 2551

การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่ปักกิ่ง แบ่งจัดการแข่งขันในเมืองต่างๆ 7 เมือง คือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ชิงเต่า เทียนจิน ฉินหวงเต่า เฉิ่นหยาง ฮ่องกง และเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ คือ ซีอาน และกวางโจว แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ แต่ก็เป็นช่องทางเปิดตลาดแก่สินค้าไทยไปยังตลาดโลกที่สำคัญ เนื่องจากคาดว่าจะมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวจีนด้วยกันเองจากเมืองต่างๆที่เดินทางมาชมการแข่งขันในครั้งนี้ในจีน อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์ยังจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการไทยไปตลาดจีน ทุ่มงบประมาณจำนวน 80 ล้านบาท ซึ่งจะนำสินค้าไทยไปโปรโมทในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาทั้งก่อนและหลังจากเสร็จสิ้นกีฬาโอลิมปิกเกมส์ เพื่อให้เกิดผลดีกับการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการของไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาว

กระทรวงพาณิชย์คาดว่าแผนการโปรโมทสินค้าไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนจะทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปตลาดจีนในช่วงที่เหลือของปีแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 จากอัตราขยายตัวปกติที่ร้อยละ 25 ต่อเดือน หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35 ต่อเดือน มูลค่ารวมเป็น 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯต่อเดือน จากเดิมที่มีมูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯต่อเดือน โดยเน้นที่สินค้าอาหาร อัญมณี และธุรกิจสปา เป็นต้น และเชื่อว่าหลังการจบการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์จะทำให้ตลาดจีนมีความสนใจสินค้าและบริการของไทยมากขึ้น หากแผนการขยายตลาดสินค้าของไทยเป็นไปตามเป้าหมายคาดว่าจะทำให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่ทางการกำหนดไว้ โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีนในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือปี 2553 ที่กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 6.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปัจจุบันมีมูลค่าการค้าร่วมกัน 3.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ตลาดจีนกลายเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยแทนที่ตลาดสหรัฐอเมริกา ที่กำลังประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ แต่สินค้าส่งออกไทยไปจีนต้องมีภาพลักษณ์ที่ดีและคุณภาพได้มาตรฐานด้วย ถึงจะสามารถแข่งขันในตลาดจีนและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น

าหาร/ผลไม้:
? นอกจากอาหารที่อยู่ในแผนการส่งเสริมการส่งออกไปจีนของกระทรวงพาณิชย์ในช่วงโอลิมปิกเกมส์ที่คาดว่าจะทำให้อาหารหลายประเภทของไทยมีโอกาสขยายตัวในจีน เช่น มาม่า ปลากระป๋อง ขนม และเครื่องปรุงรส เป็นต้น ผลไม้ไทยยังได้รับคัดเลือกให้ไปใช้เพื่อสนับสนุนกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงปักกิ่ง โดยผลไม้ที่มีโอกาสสร้างชื่อเสียงมีทั้งผลไม้สด ผลไม้แปรรูป แบ่งเป็นผลไม้สด 8 ชนิด อาทิ ส้มโอ ลำไย มังคุด กล้วย ทุเรียน มะพร้าว มะม่วง และสับปะรด และผลไม้แปรรูปจาก 12 ผลิตภัณฑ์ เช่น ลำไยอบแห้งสีทอง สับปะรดอบกรอบ มะม่วงอบกรอบและทุเรียน ซึ่งผลไม้ไทยที่ได้รับคัดเลือกเป็นผลไม้เมืองร้อนซึ่งมีความโดดเด่นของผลไม้ไทยที่ครบพร้อมด้วยคุณภาพ รสชาติเป็นที่ชื่นชอบโปรดปรานของชาวต่างชาติอีกด้วย

? ภาวะการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยไปยังจีน ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2551 มีมูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.3 ของการส่งออกสินค้าไทยไปจีน(เพิ่มขึ้นร้อยละ18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) สินค้าเกษตรส่วนใหญ่เป็น ยางพาราร้อยละ 63 มันสำปะหลังร้อยละ 12 ผลไม้ร้อยละ 4.8 ปลาร้อยละ 3.4 และไขมันจากพืชและสัตว์ร้อยละ 3 เป็นต้น

? โอลิมปิกเกมส์จึงนับเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย ที่จะหาการส่งเสริม เผยแพร่และกระตุ้นการบริโภคสินค้าเกษตรไทยที่ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐานการผลิตระดับสากล แบบถึงตัวผู้บริโภค ซึ่งอาจเป็นการเปิดโอกาสในการขยายตลาดใหม่ทั้งในจีน และหาพันธมิตรทางการค้าใหม่จากประเทศอื่น ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิค ให้กว้างขวางขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วย นอกจากจะเพิ่มศักยภาพในการส่งออกแล้ว ยังถือเป็นการช่วยแก้ปัญหาราคาตกต่ำและผลผลิตล้นตลาดในประเทศ เนื่องจากมีแหล่งกระจายสินค้าเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิ์การส่งผลไม้ไทยเข้าร่วมงานในโอลิมปิกเกมส์ถือเป็นโอกาสในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของผลไม้ไทยสู่สายตานักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและชาวจีนในงานระดับโลก สำหรับผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ของไทยรายอื่นๆ ที่ทำการค้าในจีนควรเร่งใช้โอกาสที่ตลาดจีนได้รับรู้ถึงคุณภาพและรสชาติของผลไม้ไทยในงานโอลิมปิกเกมส์นี้เพื่อขยายตลาดส่งออกผลไม้ไทยในระยะต่อไป โดยสินค้าเกษตรจะต้องมีการรักษาคุณภาพของผลผลิตที่จะส่งออกให้มีมาตรฐาน ซึ่งหากทำได้อย่างเสมอต้นเสมอปลายก็จะทำให้ต่างชาติมั่นใจในคุณภาพสินค้าไทย

อัญมณี/เครื่องประดับ:
? ในปี 2550 จีนมีผู้ผลิตอัญมณีกว่า 5 หมื่นราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย การค้าอัญมณีและเครื่องประดับของจีนมีอัตราเติบโตร้อยละ 15 ต่อปี ในปี 2550 มีมูลค่าการตลาดสูงถึง 170 พันล้านหยวน เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น จีนเป็นผู้ผลิตอัญมณีและผู้บริโภครายใหญ่ อุปสงค์อัญมณีของจีนในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 20 พันล้านหยวน

? จีนเป็นผู้ผลิตไข่มุกรายใหญ่ที่สุดของโลกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 95 ของการผลิตไข่มุกจากทั่วโลก นอกจากนี้ยังเป็นผู้บริโภคทองคำขาวเป็นอันดับ 1 ของโลกอีกด้วย สำหรับเพชร จีนก็เป็นผู้บริโภคที่สำคัญเช่นกัน ซึ่งมีการบริโภคกว่า 25 พันล้านหยวน และเงิน 600 ตัน ในขณะที่พลอย ทับทิมและคริสตัลจะบริโภคจากภายในประเทศ ส่วนทอง 363 ตัน เป็นอันดับสองรองจากอินเดีย การแข่งขันทางการตลาดมีมากขึ้นเนื่องจากแบรนด์จากต่างประเทศเริ่มเป็นที่นิยม เพราะคนจีนเริ่มมีกำลังซื้อตามเศรษฐกิจเติบโตในระดับสูง งานโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้จะทำให้ตลาดอัญมณี/เครื่องประดับของจีนคึกคักมากขึ้นเนื่องจากเป็นโอกาสที่จะเผยแพร่สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีคุณภาพสู่สายตาชาวจีนและชาวต่างชาติที่มาเข้าร่วมในงานโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ประกอบการอัญมณี/เครื่องประดับของจีนปรับปรุงคุณภาพสินค้าและเน้นการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของจีน เพื่อให้สามารถแข่งขันในด้านการตลาดกับแบรนด์ของต่างประเทศที่มีชื่อเสียงและผู้บริโภคต่างให้การยอมรับ

? การค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนนั้น แม้ว่าไทยจะมีส่วนแบ่งการส่งออกเพียงเล็กน้อยตามสถิติการส่งออก 6 เดือนปี 2551 เพียง 8.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนแต่ก็มีอัตราขยายตัวสูงถึงร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นทองและเพชรคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43 และร้อยละ 36 ของการส่งออกอัญมณีจากไทยไปจีนตามลำดับ

? ตลาดจีนก็ยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะเศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและผู้บริโภคมีรายได้ที่สูงขึ้น ทำให้มีกำลังซื้ออัญมณีและเครื่องประดับมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตสูงคือ พลอยสี อันได้แก่ทับทิมและแซฟไฟต์ เครื่องประดับแท้โดยเฉพาะเครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับทองที่มีพลอยสีเป็นองค์ประกอบ การส่งออกพลอยสีของไทยไปจีนส่วนใหญ่เป็นทับทิมและแซฟไฟต์ โดยประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นที่หนึ่งในตลาดโลกสำหรับการปรับปรุงคุณภาพ การเพิ่มมูลค่า และการเจียระไนพลอย โดยรวมไปตลาดโลก แต่สำหรับจีนไม่เป็นที่นิยมมากนักเพราะคนจีนนิยมเพชรมากกว่า พลอยสีส่วนใหญ่ที่ส่งออกไปตลาดจีนจึงเป็นพลอยสีคุณภาพต่ำ เพื่อเจาะเฉพาะตลาดล่างเท่านั้น

? เครื่องประดับเงินที่ไทยส่งออกไปจีนมีมูลค่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก ทั้งนี้สินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนเกือบทั้งสิ้นเป็นเครื่องประดับเงิน ซึ่งหากพิจารณาในตลาดระดับโลกแล้วไทยมีศักยภาพสูงมากในการผลิตและส่งออกเครื่องประดับเงิน เพราะเครื่องประดับเงินของไทยที่ส่งออกเป็นลักษณะของ Gems Set ที่มีพลอยสีเป็นองค์ประกอบ ประกอบกับเครื่องประดับเงินมีมูลค่าไม่สูงมากนัก จึงได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางหรือรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม เครื่องประดับเงินก็ยังได้รับความนิยมจากผู้มีรายได้สูงด้วย เพราะสามารถซื้อเครื่องประดับเงินมาใช้และเปลี่ยนเครื่องประดับตามแฟชั่นในแต่ละฤดูกาล โดยมีต้นทุนของการทำตามแฟชั่นไม่สูงมากนัก

? กระทรวงพาณิชย์จัดกิจกรรมส่งเสริมผู้ส่งออกและผู้ประกอบการไทยให้รุกเข้าไปตลาดจีนมากขึ้นโดยใช้โอกาสการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค จัดทำคอลเลคชั่นพิเศษเป็นเครื่องประดับหรูราคาสูงไปเปิดตลาดผู้ซื้อระดับบน จัดโปรโมชั่นสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ จัดกิจกรรมแฟชั่นโชว์และจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการเปิดตลาดสินค้าไพลินและพลอยเพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนไทย และยังจัดตั้งศูนย์แสดงสินค้าอัญมณีขึ้นในบริเวณโอเรียนเต็ล พลาซ่า ซึ่งเป็นย่านธุรกิจสำคัญของปักกิ่ง มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในเดือนกันยายน และโรงแรมปักกิ่ง (Beijing Hotel) ซึ่งมีกำหนดจะเปิดแสดงช่วงโอลิมปิกเกมส์อีกด้วย

? อัญมณีสี พลอยและทับทิม เป็นอัญมณีไทยที่มีศักยภาพสามารถผลักดันไปสู่ตลาดจีนได้แม้ว่าวัตถุดิบอาจจะหายาก แต่คนไทยมีความสามารถในการเผา การเจียระไนที่โดดเด่นและมีชื่อเสียง เพราะอัญมณีเป็นสินค้าเกี่ยวกับรสนิยมและความรู้สึก การจัดกิจกรรมโปรโมทสินค้าอัญมณีไทยของกระทรวงพาณิชย์ในช่วงกรกฎาคม-กันยายนนี้นับว่าเป็นช่องทางอันดีที่จะเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอัญมณีไทยให้ถึงมือผู้บริโภคโดยใช้โอกาสจากโอลิมปิกเกมส์ น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่สามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับอัญมณีไทยในจีนได้ในอนาคต

ผลิตภัณฑ์ความงาม/ธุรกิจสปา:
? ตลาดผลิตภัณฑ์ความสวยความงามในจีนจัดว่าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยในปี 2549 กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 คิดเป็นมูลค่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดรวมทั่วโลก 270 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ประชากรในจีนเริ่มใส่ใจกับสุขภาพและการดูแลตัวเองมากขึ้นเพราะอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้ที่สูงขึ้น จึงมีเงินมาใช้จับจ่ายเพื่อดูแลสุขภาพมากขึ้น ความต้องการผลิตภัณฑ์เสริมความงาม/เครื่องสำอางจึงขยายตัวโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ของจีน นอกจากนี้ธุรกิจสปาก็น่าจะมีโอกาสขยายตัวได้ดีเนื่องจากกระแสรักษาสุขภาพในเมืองจีน ทำให้คนจีนมีความต้องการบริการสำหรับการบำบัด และผ่อนคลายหลังจากเหนื่อยล้าจากการทำงานมากขึ้น

? ธุรกิจสปาไทยยังมีศักยภาพพอสมควร พิจารณาได้จากความแข็งแกร่งของตลาดสปาไทยที่เติบโตมาตลอด ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี โดยมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 9,000 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดย 5 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตรวมถึงร้อยละ 157 ทำให้สปาไทยมีความเชี่ยวชาญ พร้อมจะออกไปโตยังต่างประเทศ โดยนำสปาสไตล์ไทยๆ โดดเด่นด้านการนวด และการบริการมาเป็นจุดขาย โอกาสธุรกิจสปาไทยในตลาดจีนจึงยังเปิดกว้างจากระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้นของจีน สำหรับธุรกิจสปาไทยในจีน เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2543 เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการด้านธุรกิจสปาไทยในจีน 90 ราย ขณะที่ในไทยมีผู้ประกอบการมากถึง 590 ราย

? นอกจากโอกาสขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์เสริมความงาม/เครื่องสำอางไทยในจีนแล้วโอกาสธุรกิจสปาในเมืองจีนยังคงมีสูง แต่ต้องมองถึงความร่วมมือหรือการเข้าไปร่วมทุนกับจีนด้วยเนื่องจากจีนมีกฎระเบียบในแต่ละมณฑลที่แตกต่างกัน อีกทั้งความแตกต่างด้านภาษาและลักษณะการบริโภคในแต่ละท้องถิ่นที่ต่างกันไป ซึ่งการไปลงทุนสามารถทำได้หลายทาง เช่น การเข้าไปลงทุนเองทั้งหมด(Whole investment)ซึ่งจะมีความเสี่ยงจากความไม่ชำนาญในพื้นที่ หรือเข้าไปเป็นบริษัทร่วมทุน(Joint venture)เป็นการกระจายความเสี่ยงกับผู้ร่วมทุน หรือ เข้าไปขายบริการบริหารจัดการ(Management) หรืออีกช่องทางคือการเข้าไปเป็นซัพพลายเออร์(Supplier) เช่น แบรนด์อาจจะเป็นของจีน แต่ตัวสินค้าเป็นของไทย เป็นต้น

สรุป
งานโอลิมปิกเกมส์ ณ กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 8-24 สิงหาคม 2551 นี้ ที่คาดว่าจะมีนักกีฬาและนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและคนจีนเดินทางเข้ามาร่วมงานจำนวนมาก และจากแผนงานของทางการไทยที่เน้นการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการไทยที่สำคัญ ได้แก่ อาหาร/ผลไม้ อัญมณี/เครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ความงาม/ธุรกิจสปา ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2551 น่าจะเป็นโอกาสให้สินค้าไทยได้เป็นที่รับรู้แก่สายตาของผู้เข้าชมกีฬาระดับโลกในครั้งนี้ที่สำคัญ ได้แก่ ผลไม้ไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมสนับสนุนกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2551 และอัญมณี/เครื่องประดับทีมีคุณภาพและเป็นสินค้าไทยที่มีศักยภาพสามารถเข้าไปสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในจีน ส่วนธุรกิจและบริการที่มีโอกาสขยายตัว ได้แก่ สปาไทยที่ยังมีโอกาสขยายตัวได้ดีในจีนในภาวะที่ผู้บริโภคชาวจีนมีอำนาจซื้อสูงขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน จากแผนการกระตุ้นการส่งออกสินค้าไทยไปจีนของกระทรวงพาณิชย์ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนมีเป้าหมายให้การส่งออกสินค้าไทยในช่วงที่เหลือของปีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อเดือน เป็น 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯต่อเดือน จากเดิมที่มีมูลค่าการส่งออกเดือนละ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน โดยหากกระทรวงพาณิชย์ยังคงมีแผนการประชาสัมพันธ์สินค้าส่งออกของไทยในจีนอย่างต่อเนื่องก็คาดว่าน่าจะช่วยกระตุ้นมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีนให้เป็นไปตามเป้าหมาย 6.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2553 จากปี 2550 ที่มีมูลค่าการค้า 3.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม สินค้าและบริการของไทยนอกจากมีโอกาสขยายตลาดจากงานโอลิมปิกเกมส์แล้ว ควรมุ่งรักษาภาพลักษณ์ความเป็นไทยที่โดดเด่น รวมทั้งรักษาคุณภาพให้มีมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถเป็นที่ยอมรับของชาวจีนรวมทั้งชาวต่างชาติอื่นๆด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าแก่สินค้าและบริการของไทยในระยะยาวต่อไป