จีเอ็ม เปิดตัวแผนกลยุทธ์ ดันไทยและภูมิภาคอาเซียน รับมือความท้าท้ายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

จากภาพ
มร. จี. ริชาร์ด แวกอเนอร์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่นส์ ให้การต้อนรับ ฯพณฯ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสเข้าเยี่ยมชม “งานเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกแห่งอนาคตของจีเอ็ม” หรือ “GM Auto Tech” ณ อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี โดยมี มร. แลร์รี่ เบิร์นส์ รองประธาน ฝ่ายวิจัย และพัฒนา และวางแผนกลยุทธ์ มร สตีฟ คาร์ไลน์ ประธานกรรมการบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส เซาท์อีสต์เอเชีย โอเปอเรชั่นส์ และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมให้การต้อนรับ

มร.ริค แวกอเนอร์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประกาศแผนความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในการแสวงหาพลังงานทางเลือก และระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีพื้นฐานหลักการที่จะแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และพลังงานที่ถือว่ามีความซับซ้อนอย่างยิ่ง และจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือกันหลากหลายด้าน

นอกจาก มร.แวกอเนอร์แล้ว การประกาศแผนการครั้งนี้ ยังมี ฯพณฯ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และคุณศุภรัตน์ ศิริสุวรรนาคกุล ประธานสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เข้าร่วมในงานด้วย

“จีเอ็มจะเป็นผู้เชี่อมโยง ผู้อำนวยความสะดวก และสนับสนุนการพัฒนา ร่วมมือกันในด้านเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับประเด็นด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน” มร.แวกอเนอร์ กล่าว

จีเอ็ม ประกาศแผนระยะยาวไว้ 3 ประการ

ศูนย์ความเชี่ยวชาญพลังงานหลากหลายเพื่อยานยนต์
มร.แวกอเนอร์ กล่าวว่า ความคิดริเริ่มประการแรก คือการสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพลังงานยานยนต์ที่มีความหลากหลาย จีเอ็มใช้ทรัพยากรด้านวิศวกรรมต่างๆ ของจีเอ็มทั่วโลก เพื่อนำประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไปสู่เป้าหมายการใช้พลังงานทางเลือกชนิดต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งซีเอ็นจี เอทานอลที่ทำจากเซลลูโลส ไบโอดีเซล และแอลพีจี โดยการทำการวิจัยต่างๆ จะมีการร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล พันธมิตรอุตสาหกรรม และสถาบันนักวิชาการ

แหล่งพลังงานทางเลือกล้ำสมัย

ความคิดริเริ่มประการถัดมา คือ การสร้างพันธมิตรกับ ปตท. เพื่อร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดตลาด และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และประโยชน์จากการเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือกในภาคคมนาคม และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย

จีเอ็มและปตท. จะพิจารณาถึงขอบเขตความร่วมมือ ทั้งการวิจัยเอทานอลที่ผลิตจากเซลลูโลส และจากพืชพรรณที่ไม่ใช่อาหาร เพิ่มแหล่งทรัพยากรที่สามารถผลิตไบโอ-ดีเซล การวิจัยพัฒนาสาหร่ายให้เป็นแหล่งผลิตไฮโดรเจน เอทานอล และไบโอ-ดีเซล การพัฒนาเชื้อเพลิงร่วมซีเอ็นจี ดูอัลฟิว และผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงการพัฒนาไฮบริดต้นทุนต่ำ ฟิวเซล และเทคโนโลยีเครื่องยนต์ดีเซลในประเทศไทยและอาเซียน

ทั้งจีเอ็ม และปตท. ยังจะร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยและพัฒนา พร้อมกับทำงานร่วมกันในการพัฒนาบริษัทผู้รับเหมาท้องถิ่นที่เกี่ยวพันกับเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก

ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กล่าวว่า “ปตท. เป็นหนึ่งในองค์กรที่หลายคนรู้จักกันดีในด้านความก้าวหน้า และความรับผิดชอบต่อสังคม ขณะที่จีเอ็มเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีนวัตกรรมล้ำหน้าที่สุดในโลก การนำทั้งสองหน่วยงานนี้มาทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการในกลยุทธด้านพลังงานเพื่อประเทศไทยนั้น จะให้ประโยชน์แก่ระบบขนส่งของประเทศไทยอย่างประเมินค่ามิได้ ขณะเดียวกัน ยังจะสร้างคุณค่าให้แก่ประชาชนคนไทย และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับทุกคนในครอบครัวได้ เราต่างรู้สึกตื่นเต้นกับความร่วมมือกันในครั้งนี้”

“ความร่วมมือในการวิจัยด้านพลังงาน สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเป็นพันธมิตร ทั้งองค์กร สถาบันวิชาการ และหลายประเทศ เพื่ออนาคตของประเทศของเรา อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เติบโตขึ้น ทำให้เราในฐานะที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรมจะต้องมั่นใจว่า เรามีความเข้าใจในโอกาส และความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้า ซึ่งโครงการนี้จะช่วยเราได้”

แผนพัฒนาพลังงานทางเลือก

ด้านมร. ริก แวกอเนอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประการสุดท้าย คือ การพัฒนาแผนพลังงานทางเลือกสำหรับประเทศไทย จีเอ็มจะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เพื่อพัฒนาบทสรุปและบูรณาการแผนลยุทธ์พลังงานทางเลือกเพื่อประเทศไทย แผนกลยุทธ์ดังกล่าวจะเน้นที่พลังงานทางเลือกที่ “รับผิดชอบต่อสังคม ประหยัด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นเทคโนโลยีที่เป็นไปได้”

จีเอ็มจะแบ่งปันทรัพยากรทุกด้านรวมทั้งบุคลากร เพื่อให้ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาแผนลดการพึ่งพาน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทย

“มีความท้าทายใหญ่รออยู่เบื้องหน้า รวมถึงช่องทางของประเทศไทยและของโลกในการรับมือกับประเด็นพลังงานและสิ่งแวดล้อม” มร.แวกอเนอร์ กล่าว “ด้วยการปรับปรุงแหล่งทรัพยากรและการทำงานร่วมกัน แผนการที่ครอบคลุมของจีเอ็มในการสนับสนุนพลังงานและสิ่งแวดล้อมเพื่อประเทศไทย จะช่วยยกระดับและแสวงหาช่องทางเพื่อประโยชน์สำหรับคนไทยทุกคน”

“แผนการพลังงานทางเลือกสำหรับยานยนต์อันล้ำหน้านี้ จะช่วยสนับสนุนประเทศไทย ให้มีเทคโนโลยีเติบโตเร็วที่สุดและเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์” มร.แวกอเนอร์ กล่าว “แผนนี้ ถูกริเริ่มขึ้นเพื่อนำทรัพยากรทั้งหมดทั้งปวงเข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงทรัพยากรของจีเอ็มทุกด้าน การเร่งพัฒนาประสิทธิภาพของพลังงาน และเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น สหรัฐอเมริกา (General Motors Corporations: GM) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นผู้นำด้านยอดจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลกถึง 77 ปี ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2451 ปัจจุบันมีพนักงานทั่วโลกกว่า 266,000 คน โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ เมืองดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา และมีศูนย์การผลิตรถยนต์และรถกระบะใน 35 ประเทศ ในปี 2550 จีเอ็มจำหน่ายรถยนต์และรถกระบะไปกว่า 9.37 ล้านคัน ภายใต้แบรนด์ บูอิค (Buick) คาดิแลค (Cadillac) เชฟโรเลต (Chevrolet) จีเอ็มซี (GMC) โฮลเด้น (Holden) ฮัมเมอร์ (Hummer) โอลส์โมบิล (Oldsmobile) โอเปิล (Opel) พอนทิแอค (Pontiac) ซาบ (Saab) แซเทิร์น (Saturn) ว็อกซ์ฮอล (Vauxhall) และวู่หลิง (Wuling) นอกจากนั้น ระบบนำทางและขอความช่วยเหลือด้วยสัญญาณดาวเทียม ออนสตาร์ (OnStar) ของจีเอ็ม ทำให้จีเอ็มกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ด้านความปลอดภัยและบริการด้านข้อมูลอีกด้วย (www.gm.com)