การขยายฐานบัตรเครดิต : จับตา Non-Bank มาแรง…ขยายส่วนแบ่งตลาด

การแข่งขันธุรกิจบัตรเครดิตยังคงมีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายฐานบัตรเครดิตในภาวะที่หลายฝ่ายมองว่า ตลาดบัตรเครดิตของไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว หรืออาจจะกล่าวได้ว่าการที่จะเห็นฐานบัตรใหม่เติบโตอย่างหวือหวาเหมือนเช่นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศไทยนั้นมีปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นตัวกำหนดการเติบโตของบัตรเครดิต เช่น โครงสร้างด้านตลาดแรงงาน กฎเณฑ์ข้อบังคับในการทำบัตรเครดิต พฤติกรรมของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าที่ส่วนใหญ่ยังคงนิยมใช้จ่ายเงินสด หรือแม้กระทั่งความทั่วถึงของเครือข่ายร้านค้ารับบัตรเครดิต เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการหลายรายก็ยังคงไม่หยุดและยังคงเดินหน้าขยายฐานบัตรเครดิตอย่างต่อเนื่อง โดยการเจาะกลุ่มลูกค้าที่ถือบัตรเครดิตอยู่แล้ว ให้มีการถือบัตรเครดิตมากขึ้น โดยการใช้กลยุทธ์แข่งขันแย่งชิงลูกค้า ผ่านการนำเสนอสิทธิประโยชน์ที่ดีกว่า และการพยายามเจาะกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่มีบัตรเครดิต หรือกลุ่มลูกค้าที่ไม่เห็นถึงความจำเป็นในการใช้บัตรเครดิต ให้มาใช้บัตรเครดิตมากขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปภาพรวมของฐานบัตรเครดิตในไตรมาส 2 ปี 2551 รวมถึงวิเคราะห์ถึงแนวโน้มการเติบโตและการแข่งขันการขยายฐานบัตรเครดิตระหว่างผู้ประกอบการ ในระยะข้างหน้า

ปริมาณบัตรเครดิตในไตรมาส 2 ปี 2551 กลุ่ม Non-Bank ขยายตัวโดดเด่น

ทั้งนี้ภาพรวมปริมาณบัตรเครดิตในไตรมาส 2 ปี 2551 มีจำนวน 12,358,383 บัตร และขยายตัวร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 ในไตรมาสแรก แต่ก็ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 ในปี 2550 ทั้งนี้เมื่อแยกพิจารณาตามกลุ่มผู้ประกอบการ พบว่า

กลุ่ม Non-Bank ฐานบัตรใหม่ขยายตัวค่อนข้างโดดเด่น

ทั้งนี้ปริมาณบัตรเครดิตของกลุ่มสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือ Non-Bank มีอัตราการขยายตัวของบัตรเครดิตใหม่ที่ค่อนข้างโดดเด่นกว่ากลุ่มอื่นในไตรมาส 2 ปี 2551 โดยมีจำนวนบัตรเครดิตทั้งสิ้น 6,304,006 บัตร โดยขยายตัวร้อยละ 14.3 (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 14.0 ในไตรมาสแรก และร้อยละ 12.2 ในปี 2550 และมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับเฉลี่ยของปริมาณบัตรเครดิตทั้งระบบ ทั้งนี้สาเหตุที่ปริมาณบัตรเครดิตของกลุ่ม Non-Bank ขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้นน่าจะมาจาก

 ผู้ประกอบการกลุ่ม Non-Bank มีการทำตลาดบัตรเครดิตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยมีการจัดแคมเปญการตลาดออกมาเป็นระยะเพื่อขยายฐานบัตรเครดิต เช่น ผู้ประกอบการบางรายได้ร่วมกับพันธมิตรออกบัตรเครดิต รวมถึงการออกบู๊ทตามแหล่งชุมชน และศูนย์การค้าต่างๆ เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

 การทำตลาดอย่างหนักของผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจดิสเค้านท์สโตร์และธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ที่ขายสินค้าประเภทอุปโภคและบริโภค ซึ่งเป็นสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้เน้นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิต ในการใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า โดยเฉพาะในภาวะที่ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคบางกลุ่มจึงหันมาทำบัตรเครดิตกับผู้ประกอบการกลุ่มนี้มากขึ้น เนื่องจากได้รับส่วนลดในการซื้อสินค้า

กลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ: ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย…ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องสาขา

กลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศมีจำนวนบัตรเครดิตทั้งสิ้น 1,338,196 บัตร ในไตรมาส 2 ปี 2551 โดยขยายตัวร้อยละ 7.3 (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 ในไตรมาสแรก และร้อยละ 7.2 ในปี 2551 จะเห็นได้ว่าการขยายฐานบัตรเครดิตของกลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศได้ลดความร้อนแรงลง หลังจากที่เคยขยายตัวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 14 ต่อปี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้สาเหตุที่ปริมาณบัตรเครดิตขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงน่าจะมาจาก ข้อจำกัดในด้านการทำธุรกิจการเงินในประเทศไทย ที่ไม่สามารถขยายสาขาได้ ทำให้ฐานบัตรเครดิตของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ถูกจำกัดอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นตลาดที่มีการแข่งขันที่สูง และฐานลูกค้าบัตรเครดิตของทั้งระบบส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล

กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย: ขยายตัวชะลอลง…ผลจากการยกเลิกบัตร
ทั้งนี้ปริมาณบัตรเครดิตธนาคารพาณิชย์ไทยมีการขยายฐานบัตรเครดิตที่ชะลอลง คือ ในไตรมาส 2 ปี 2551 มีจำนวนบัตรเครดิตทั้งสิ้น 4,716,181 บัตร และมีการเติบโตร้อยละ 5.0 (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.2 ในไตรมาสแรก แต่ก็ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 8.5 ในปี 2550 ทั้งนี้การขยายตัวของบัตรเครดิตที่ชะลอตัวลงในกลุ่มนี้สาเหตุน่าจะมาจากผู้ประกอบการบางรายได้ทำการยกเลิกบัตรเครดิตกับผู้ถือบัตรเครดิตที่เกิดปัญหาในการผ่อนชำระยอดคงค้างบัตรเครดิต และอีกสาเหตุหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ผู้ที่ถือบัตรเครดิตที่มีอยู่เป็นจำนวนมากทำการยกเลิกบัตรเครดิต จะเห็นได้ว่าปริมาณบัตรเครดิต ณ สิ้นปี 2550 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในประเทศมีปริมาณบัตรเครดิตประมาณ 4,735,984 บัตร ในขณะที่ในไตรมาส 2 ปี 2551 มีจำนวนบัตรเครดิตทั้งสิ้น 4,716,181 บัตร โดยจำนวนบัตรเครดิตได้เริ่มลดลงในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2551 (ลดลงกว่า 162,550 บัตร) นอกจากนี้ยังมาจากการที่ผู้ประกอบการได้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการออกบัตรใหม่ เพื่อควบคุมคุณภาพของสินเชื่อ

แนวโน้มการขยายฐานบัตรเครดิต: แข่งขันรุนแรง…เผชิญกับข้อจำกัด

ทั้งนี้การแข่งขันกันเป็นผู้นำในตลาดบัตรเครดิต องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่เป็นตัววัด คือ จำนวนบัตรเครดิต ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการบัตรเครดิตทุกกลุ่มต่างระดมแคมเปญการตลาด ขยายช่องทางการเพิ่มฐานลูกค้าบัตรเครดิตให้มากขึ้น แม้ว่าลูกค้าบางรายอาจจะมีการถือบัตรเครดิตมากกว่า 1 บัตรแล้วก็ตาม โดยผู้ประกอบการมองว่า เมื่อลูกค้ามีบัตรของตนแล้วการใช้จ่ายผ่านบัตรก็จะเกิดขึ้นตามในภายหลัง อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาการขยายตัวของบัตรเครดิตใหม่ไม่หวือหวาดังเช่นเคย ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าภาวะตลาดบัตรเครดิตได้เดินผ่านภาวะการขยายตัวในระดับสูงสุดไปแล้ว และเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวในบางกลุ่มลูกค้า และในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯที่มีการแข่งขันของธุรกิจบัตรเครดิตที่สูง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การขยายตัวของบัตรเครดิตในประเทศยังคงเผชิญข้อจำกัด ได้แก่

ข้อจำกัดในเรื่องของโครงสร้างรายได้ของประชากรในประเทศ ยังเป็นข้อจำกัดต่อการขยายฐานสินเชื่อบัตรเครดิต ทั้งนี้กลุ่มลูกค้าของบัตรเครดิตในกรณีของผู้ที่มีรายได้ประจำจะต้องเป็นผู้มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจากการประเมินโครงสร้างรายได้ของประชากรผู้มีงานทำนั้น พบว่า กลุ่มผู้มีรายได้มากกว่า 15,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป มีอยู่เพียงประมาณร้อยละ 10 ของผู้มีงานทำ หรืออยู่ที่ประมาณ 3-3.5 ล้านคน ซึ่งนับได้ว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างน้อย

ในขณะที่ผู้ที่เรียนจบในระดับปริญญาตรีขึ้นไปในแต่ละปีมีอยู่ประมาณ 4 แสนคน แต่ความต้องการแรงงานส่วนเพิ่มในแต่ละปีจะมีอยู่ประมาณ 1.6 แสนคนต่อปี และในจำนวนนี้เด็กที่จบใหม่ที่ได้รับเงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจบัตรเครดิตมีประมาณ 4.3 หมื่นคน ซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการขยายฐานบัตรเครดิตในระยะข้างหน้าเช่นกัน

ข้อจำกัดในเรื่องของโครงสร้างตลาดแรงงานในประเทศ ประเทศไทยมีจำนวนแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกว่าร้อยละ 49 ของผู้มีงานทำ ในขณะที่กลุ่มเป้าหมายของธุรกิจบัตรเครดิตส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ต้องมีรายได้ประจำไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แต่รายรับจากภาคเกษตรส่วนใหญ่เป็นรายรับที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับฤดูกาลเป็นส่วนใหญ่

พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศส่วนใหญ่ยังคงนิยมการใช้เงินสด ทั้งนี้ยังมีกลุ่มผู้บริโภคจำนวนหนึ่งที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจบัตรเครดิต (มีรายได้มากกว่า 15,000 บาทต่อเดือน) แต่ไม่มีความต้องการใช้บัตรเครดิต โดยจะนิยมใช้เงินสดในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ ทั้งนี้สาเหตุน่าจะมาจากลักษณะของธุรกิจร้านค้าในเมืองไทย ที่ประกอบไปด้วยร้านค้าเล็กๆมากมาย ตลาดนัดต่างๆ ซึ่งร้านค้าเหล่านี้ไม่นิยมรับบัตรเครดิต และพฤติกรรมคนไทยส่วนหนึ่งนิยมซื้อสินค้าจากร้านค้าเหล่านี้ เนื่องจากสามารถต่อรองราคาได้ และราคาสินค้าก็ไม่สูงมากนัก

อย่างไรก็ตามแม้ว่าตลาดบัตรเครดิตจะเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวก็ตาม แต่ผู้ประกอบการก็ยังคงเดินหน้าขยายฐานบัตรเครดิตของตนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขยายฐานบัตรเครดิตในช่วงที่เหลือของปีนี้ น่าจะเริ่มกลับมามีความเข้มข้นขึ้น โดยปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของบัตรเครดิตน่าจะมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะกลับมา ภายหลังราคาขายปลีกน้ำมันที่เริ่มมีการปรับลดลง เนื่องมากจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลงมา ทั้งนี้กลยุทธ์การขยายฐานบัตรเครดิตในแต่ละกลุ่มผู้ประกอบการจะมีความแตกต่างกัน ได้แก่

ธนาคารพาณิชย์ในประเทศ…ทำงานเป็นเครือ การขยายฐานบัตรเครดิตในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในประเทศ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ไทยรายใหญ่ได้เน้นการตลาดในรูปแบบของการจับมือร่วมกับบริษัทในเครือของตนเอง โดยเสนอผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตให้แก่ลูกค้าที่มาติดต่อทำธุรกรรม อาทิ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย ผลิตภัณฑ์กองทุนประเภทต่างๆ และผลิตภัณฑ์สินเชื่อเช่าซื้อประเภทต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการทำตลาดในรูปแบบนี้เป็นการช่วยลดต้นทุนในการทำตลาด ลดขั้นตอนและเวลาในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ และยังได้กลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพด้วย นอกจากนี้ยังเน้นการขยายฐานสินเชื่อไปยังพนักงานของบริษัทต่างๆที่ใช้บริการกับธนาคาร

ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง น่าจะกลับเข้ามารุกตลาดบัตรเครดิตมากขึ้น โดยคาดว่าน่าจะใช้กลยุทธ์ในเรื่องของราคา มาใช้ในการทำตลาดเป็นหลัก เช่น ฟรีค่าธรรมเนียม และ การรับเงินคืนเข้าสู่บัญชี (Cash Back) เป็นต้น

สาขาธนาคารต่างประเทศ จับมือร่วมกับพันธมิตร จากการที่การขยายฐานบัตรเครดิตในกลุ่มนี้ค่อนข้างมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในเรื่องของสาขา ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จึงต้องอาศัยการทำบัตรเครดิตร่วมกับพันธมิตรห้างสรรพสินค้าที่มีสาขากระจายตามพื้นที่ต่างๆ การเน้นให้ผู้บริโภคสมัครผ่านเว็บไซต์ของธนาคาร นอกจากนี้ยังได้ใช้กลยุทธ์เพื่อนแนะนำเพื่อนหรือการบอกต่อ พร้อมกับเน้นแคมเปญสิทธิประโยชน์ และของรางวัลสมมนาคุณที่จะได้รับจากการสมัครบัตรเครดิต

กลุ่ม Non-Bank จับตาธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ การเร่งขยายฐานบัตรในกลุ่มผู้ประกอบการ Non-Bank โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัตรเครดิตที่ออกโดยธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่เริ่มกลับมาทำแคมเปญบัตรเครดิตมากขึ้น ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะมีความได้เปรียบในเรื่องของกลุ่มลูกค้าเฉพาะที่เข้ามาซื้อสินค้าในร้านของตน ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่ทำบัตรเครดิตกับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่จะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ส่วนลดเมื่อใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าในร้านค้าหรือในเครือของธุรกิจค้าปลีกนั้นๆ

นอกจากนี้ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ยังได้เปรียบในเรื่องของสาขา โดยเฉพาะการที่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เริ่มขยายตัวออกสู่พื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น จึงทำให้การขยายตัวของบัตรเครดิตในกลุ่มนี้น่าจะมีเพิ่มมากขึ้นในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า แนวโน้มการเติบโตของฐานบัตรเครดิตในระยะข้างหน้า น่าจะเติบโตอยู่ในระดับที่ชะลอตัว เนื่องจากการเติบโตของฐานบัตรเครดิตได้ผ่านภาวะการขยายตัวในระดับสูงสุดไปแล้ว โดยในระยะข้างหน้าการขยายตัวของฐานบัตรยังคงเผชิญกับข้อจำกัด โดยเฉพาะโครงสร้างรายได้ของประชากรในประเทศที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้กลุ่มเป้าหมายของบัตรเครดิตมีจำนวนจำกัด โครงสร้างตลาดแรงงานที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าบัตรเครดิต นอกจากนี้พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค และลักษณะโครงสร้างของธุรกิจร้านค้า ที่ยังมีส่วนจำกัดการเติบโตของบัตรเครดิต

แม้ว่าการเติบโตของตลาดบัตรเครดิตต้องเผชิญกับข้อจำกัดดังที่กล่าวข้างต้น แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องเดินหน้าขยายฐานบัตรเครดิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการมุ่งขยายฐานบัตรไปยังกลุ่มลูกค้าตามต่างจังหวัด หรือหัวเมืองเศรษฐกิจทั้งหลาย ที่ผู้ประกอบการยังสามารถขยายฐานบัตรเครดิตได้ดี โดยเฉพาะการเข้าไปรุกตลาดของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ที่เริ่มมีการขยายสาขามากขึ้น และธุรกิจค้าปลีกเหล่านั้นได้เปิดให้บริการบัตรเครดิตเช่นกัน ทำให้การขยายฐานบัตรเครดิตในกลุ่ม Non-Bank น่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดีการที่ผู้ประกอบการขยายแต่เพียงฐานบัตรเครดิตมิได้หมายถึงว่าผู้ประกอบการรายนั้นจะเป็นผู้นำตลาดบัตรเครดิต แต่ยังมีองค์ประกอบที่สำคัญอื่นๆที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิต ได้แก่ การทำให้ผู้ถือบัตรเครดิตนั้นใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของตนมากขึ้น มูลค่าการเติบโตของยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิต และรวมถึงคุณภาพของสินเชื่อในระบบด้วย เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการนอกจากจะต้องทำแคมเปญการตลาดจูงใจให้ผู้บริโภคมาสมัครบัตรของตนแล้ว ผู้ประกอบการเองยังต้องทำการตลาดอย่างหนัก เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของตนมากขึ้นด้วย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณบัตรเครดิตในระบบ ณ สิ้นปี 2551 น่าจะมีปริมาณบัตรเครดิตอยู่ที่ประมาณ 12.9 ล้านบัตร ขยายตัวร้อยละ 7.8 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 10.1 ในปี 2550