ตลาดกระเบื้องไทย : ผู้ประกอบการในประเทศควรปรับตัว

ตลาดกระเบื้องปูพื้นและบุผนังเป็นอีกตลาดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ไม่ต่างจากภาพรวมของตลาดวัสดุก่อสร้างและตกแต่งประเภทอื่นๆ แต่ไม่ใช่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่ส่งผลให้ตลาดกระเบื้องปูพื้นและบุผนังที่ผลิตภายในประเทศชะลอตัวลง ยังมีปัจจัยด้านอื่นอีก คือ การนำเข้ากระเบื้องปูพื้นและบุผนังจากประเทศจีนในปริมาณมาก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กระเบื้องปูพื้นและบุผนังจากประเทศจีนมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากราคาขายที่ต่ำกว่าราคาขายของกระเบื้องปูพื้นและบุผนังที่ผลิตภายในประเทศ รวมทั้งมีลวดลาย และสีสันคล้ายกับกระเบื้องที่นำเข้าจากประเทศอิตาลีหรือสเปน ทำให้โครงการขนาดใหญ่ เช่น โรงแรม ศูนย์ประชุม ที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงสูง ที่ต้องการทั้งความสวยงาม และประหยัดต้นทุนในการก่อสร้าง เลือกใช้กระเบื้องปูพื้นและบุผนังที่นำเข้ามาจากจีนแทน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อส่วนแบ่งตลาดของกระเบื้องปูพื้นและบุผนังที่ผลิตภายในประเทศเป็นอย่างมาก

จีน : ผู้นำตลาด
ประเทศจีนมีปริมาณการส่งออกกระเบื้องปูพื้นและบุผนังมากที่สุดในโลก แต่หากพิจารณาด้านมูลค่าการส่งออกแล้ว ก็จะเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศอิตาลี ความแตกต่างของตลาดกระเบื้องปูพื้นและบุผนังจากจีนและอิตาลี คือ จีนเน้นการผลิตโดยอาศัยต้นทุนต่ำ ส่วนอิตาลีเน้นด้านการออกแบบพื้นผิว สี และลวดลาย โดยปริมาณการส่งออกกระเบื้องปูพื้นและบุผนังของจีนในปี 2550 มีปริมาณถึง 590 ล้านตารางเมตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ในทศวรรษที่ผ่านมา ผลผลิตกระเบื้องปูพื้นและบุผนังของจีนเจริญเติบโตขึ้นในแต่ละปีเฉลี่ยถึงร้อยละ 20

ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกระเบื้องปูพื้นและบุผนังของจีน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ผลิตกระเบื้องระดับกลางขึ้นไป ให้ความสนใจหรือใส่ใจต่อสิทธิครอบครอง และนวัตกรรมด้านการออกแบบ รวมทั้งติดตามนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้น และมีการแข่งขันด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์สูงขึ้นทุกๆปี มีการรวมกันเป็นกลุ่มของอุตสาหกรรมกระเบื้อง ทำให้เกิดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และคุณภาพในกระบวนการผลิตแก่โรงงาน ได้ผลผลิตกระเบื้องปูพื้นและบุผนังที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ซื้อต่างประเทศ แต่ก็มีผู้ประกอบการบางส่วนที่ยังเน้นการผลิตกระเบื้องในตลาดกระเบื้องระดับกลางลงมา โดยส่งออกไปยังประเทศในแถบเอเชียที่นิยมสินค้าราคาถูก แต่ไม่ได้คำนึงถึงด้านคุณภาพมากนัก

ส่วนแบ่งตลาดกระเบื้องจีนในไทย
ภาพรวมของตลาดกระเบื้องในประเทศของปี 2550 มีปริมาณความต้องการใช้กระเบื้องปูพื้นและบุผนังประมาณ 148 ล้านตารางเมตร เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งตลาดกระเบื้องของประเทศไทยในปี 2549 ถึง2550 พบว่าปริมาณความต้องการใช้กระเบื้องปูพื้นและบุผนังที่ผลิตภายในประเทศมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 89 ในปี 2549 เหลือร้อยละ 80 ในปี 2550 แต่สัดส่วนการนำเข้ากระเบื้องปูพื้นและบุผนังจากจีนที่มาขายในประเทศกลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 8 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 13 ในปี 2550

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สัดส่วนการนำเข้ากระเบื้องจากจีนในปี 2551มีอัตราลดลงร้อยละ 2 จากปีก่อน อาจเนื่องมาจากสภาวการณ์ด้านเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบัน ได้แก่ อัตราค่าแรงงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้จีนมีต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ปลายทางมากขึ้น รวมทั้งภาครัฐได้ลดการอุดหนุนการส่งออก อุตสาหกรรมของจีนจึงต้องพึ่งตลาดภายในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลจีนได้ออกกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดกับการควบคุมมลพิษที่เกิดจากการผลิตในอุตสาหกรรมกระเบื้องปูพื้นและบุผนัง ทำให้โรงงานต่างๆต้องพัฒนาระบบสิ่งแวดล้อมให้ได้ภายใน 3 ปี หรือหากปฏิบัติตามไม่ได้ก็ต้องปิดกิจการ คาดว่าจะมีจำนวนโรงงานมากกว่าร้อยละ 30 ของอุตสาหกรรมกระเบื้องปูพื้นและบุผนังที่จะต้องปิดกิจการ และทำให้ปริมาณการผลิตกระเบื้องปูพื้นและบุผนังมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงหรือลดลง จากอุปสรรคของจีนดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ย่อมส่งผลให้กระเบื้องปูพื้นและบุผนังที่ผลิตในประเทศมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 80 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 82 ในปี 2551

ตลาดกระเบื้องไทยปี’51: ขยายตัวร้อยละ 4.1
ตลาดกระเบื้องที่ผลิตภายในประเทศของปี 2550 มีอัตราการขยายตัวของปริมาณความต้องการใช้กระเบื้องปูพื้นและบุผนังลดลงร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับปี 2549 สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 มีปริมาณความต้องการกระเบื้องปูพื้นและบุผนังประมาณ 82 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2550 ที่มีปริมาณความต้องการกระเบื้องปูพื้นและบุผนังประมาณ 78 ล้านตารางเมตร

จากปัญหาภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2551 ปริมาณความต้องการใช้กระเบื้องปูพื้นและบุผนังภายในประเทศจะขยายตัวร้อยละ 4.1 ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณความต้องการภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรก จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากที่เริ่มก่อสร้างในช่วงปี 2549-2550 ซึ่งต้องการวัสดุตกแต่งภายในช่วงต้นปี 2551 แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ปริมาณความต้องการใช้กระเบื้องภายในประเทศน่าจะชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งปีแรก นอกจากนี้ ปัญหาสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น รวมทั้งต้นทุนด้านการผลิตของผู้ประกอบการที่สูงขึ้นประมาณร้อยละ 10 ส่งผลให้สินค้ามีราคาเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 5 ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ผู้บริโภคมีการชะลอหรือลดการปรับปรุง ซ่อมแซม และต่อเติมบ้าน ส่งผลต่อปริมาณความต้องการกระเบื้องปูพื้นและบุผนังภายในประเทศให้ชะลอตัวตามไปด้วย

กระเบื้องไทย : โอกาสและแนวทางในการแข่งขันกับกระเบื้องจีน
ถึงแม้ว่าในปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมกระเบื้องปูพื้นและบุผนังมีส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากจีนประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตและการส่งออก หากจีนสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้แล้ว ประเทศไทยอาจจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้แก่จีนเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

การที่ผู้ประกอบการไทยใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อสู้กับกระเบื้องที่นำเข้าจากจีน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่หากต้องการแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมกระเบื้องปูพื้นและบุผนังของไทยอย่างยั่งยืนแล้ว ก็ควรจะต้องมีการวิจัยและพัฒนาด้านการออกแบบ สีสัน และลวดลายให้มากขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้ากระเบื้องระดับสูงจากอิตาลี หรือสเปน เน้นการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเพื่อสร้างความหลากหลายและมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตได้มากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนในการผลิตที่ลดลง เพื่อให้สามารถแข่งขันกับสินค้าคู่แข่งที่นำเข้ามาจากจีนและประเทศอื่นๆได้ในระยะยาว

นอกจากผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมกระเบื้องปูพื้นและบุผนังต้องปรับตัวแล้ว ทางภาครัฐควรเข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของกระเบื้องที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด ไม่ให้มีการนำเข้ากระเบื้องมายังประเทศไทยได้อย่างเสรีเหมือนในอดีต เพื่อให้สินค้ามีมาตรฐานเดียวกัน และป้องกันไม่ให้มีสินค้าด้อยคุณภาพที่มีราคาถูก เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศ ซึ่งถือเป็นการสร้างมาตรฐานให้แก่สินค้าภายในประเทศ และคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศให้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานอีกด้วย

บทสรุป
ปัจจัยที่ทำให้ตลาดกระเบื้องปูพื้นและบุผนังในประเทศไทยลดลง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการนำเข้ากระเบื้องปูพื้นและบุผนังจากประเทศจีนในปริมาณมาก เนื่องจากราคาขายที่ต่ำกว่าราคาขายของกระเบื้องปูพื้นและบุผนังที่ผลิตภายในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อส่วนแบ่งตลาดระดับกลางถึงล่างของกระเบื้องปูพื้นและบุผนังที่ผลิตภายในประเทศเป็นอย่างมาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2551 ปริมาณความต้องการใช้กระเบื้องปูพื้นและบุผนังภายในประเทศจะขยายตัวร้อยละ 4.1 ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างมากในช่วงครึ่งปีแรก แต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ปริมาณความต้องการใช้กระเบื้องภายในประเทศน่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย

ในด้านส่วนแบ่งตลาดกระเบื้องปูพื้นและบุผนังภายในประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กระเบื้องปูพื้นและบุผนังที่ผลิตในประเทศจะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 80 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 82 ในปี 2551 เนื่องจากจีนมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น การอุดหนุนด้านการส่งออกลดลง และกฎหมายหรือข้อระเบียบบังคับที่เข้มงวด รวมทั้งแนวโน้มของราคาน้ำมันโลกที่อ่อนตัวลง เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เสริมให้ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมนี้สามารถลดต้นทุนการผลิตลง จนแข่งขันกับกระเบื้องปูพื้นและบุผนังราคาถูกที่นำเข้ามาจากประเทศจีนได้ในระดับหนึ่ง

แนวทางการแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมกระเบื้องปูพื้นและบุผนังของประเทศไทยอย่างยั่งยืนก็คือ จะต้องมีการวิจัยและพัฒนาด้านการออกแบบ สีสัน และลวดลายให้มากขึ้น เน้นการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเพื่อสร้างความหลากหลายและมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตได้มากขึ้น นอกจากนี้ ทางภาครัฐควรเข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของกระเบื้องที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานให้แก่สินค้าภายในประเทศ และคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศให้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานอีกด้วย