อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน แนวโน้มเข้าหาร้อยละศูนย์ช่วงกลางปีหน้า

ในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนพฤศจิกายน 2551 โดยมีประเด็นสำคัญ ต่อไปนี้
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2551 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 (Year-on-Year) ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 14 เดือน และยังคงชะลอลงต่อเนื่องจากร้อยละ 3.9 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวใกล้เคียงกับประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่คาดไว้ที่ร้อยละ 2.0 แต่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ร้อยละ 2.6

ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ชะลอลงจากร้อยละ 2.4 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าเพดานกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ที่ร้อยละ 0.0-3.5) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากราคาอาหารสดและพลังงานลดต่ำลงอย่างมาก

 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของเดือนพฤศจิกายนเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม (Month-on-Month) ลดลงถึงร้อยละ 1.2 โดยเป็นผลมาจากการปรับตัวลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ และราคาหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เป็นสำคัญ สำหรับในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2551 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.9 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.5

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วง 6 เดือนถัดไป อาจยังคงอยู่ในแนวโน้มขาลงอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจาก

1. ผลจากการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (Base Effect) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลกระทบจาก Base Effect อาจส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะถัดไปแกว่งตัวอยู่ในแนวโน้มขาลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2552 โดยมีความเป็นไปได้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจปรับตัวเข้าใกล้ร้อยละ 0 หรือติดลบในช่วงกลางปีหน้า แม้ว่าการยกเลิก 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล อาจส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นได้เล็กน้อยในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 แต่ผลของฐานที่สูง (Base Effect) จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาลดลงในเดือนถัดๆ ไป จนอาจเข้าสู่ระดับร้อยละ 0 หรือติดลบในช่วงดังกล่าว

2. การปรับตัวลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ >หากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลงหรือทรงตัวอยู่ใกล้ระดับปัจจุบัน ก็อาจส่งผลทำให้ราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าว อาทิ หมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามไปด้วย โดยราคาสินค้าในหมวดดังกล่าวอาจมีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ติดลบเกือบจะตลอดทั้งปี 2552 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 (Year-on-Year)

3. แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า แรงกดดันเงินเฟ้อในระยะถัดไปจะผ่อนคลายลงตามแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่เริ่มส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/2551 และอาจต่อเนื่องไปจนถึงปี 2552

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราเงินเฟ้อที่ลดต่ำลงจะเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักมากขึ้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ในรอบถัดๆ ไป โดยความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่คลายตัวลงอย่างมากดังกล่าว อาจเป็นปัจจัยที่เอื้อให้ กนง.สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2551 อาจมีค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5.6 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.3 สำหรับแนวโน้มในปี 2552 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำลงมาอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 1.8-2.3 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.4-2.0 เนื่องจากคาดว่าราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจะคงอยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก

ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในขณะนี้อยู่ในจุดที่เปราะบาง โดยผลกระทบจากวิกฤติการเงินและปัญหาเศรษฐกิจโลกเริ่มปรากฏให้เห็นแล้วผ่านภาวะการผลิตและการจ้างงานที่ลดลงในภาคธุรกิจ ขณะที่ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศที่เลวร้ายมากขึ้นนั้นกำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยในสายตาของชาวต่างชาติ และจะยิ่งส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2552 อ่อนแอลงมากยิ่งขึ้น ซึ่งสภาวะเช่นนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืดให้แก่เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยอัตราเงินเฟ้อในบางเดือนของปี 2552 อาจจะเป็นตัวเลขติดลบ แม้ว่าจะเป็นตัวเลขติดลบเชิงเทคนิคที่มีสาเหตุสำคัญจากฐานเปรียบเทียบในปีนี้ที่ราคาสินค้าพุ่งสูงอย่างมากในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ตาม หากสภาวการณ์เศรษฐกิจในประเทศตกอยู่ในภาวะซบเซา ขาดแคลนกำลังซื้อภายในประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคเผชิญภาวะการว่างงาน รายได้ลดลง เข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น สภาวะดังกล่าวอาจส่งผลหมุนวนต่อเนื่องในรอบต่อๆ ไป (Spiral Effect) ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมาขายไม่ออก เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด การแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้นอาจทำให้ผู้ผลิตต้องตัดราคา ธุรกิจลดกำลังการผลิตและการว่างงานที่รุนแรงขึ้น อันจะฉุดเศรษฐกิจให้เดินเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งแม้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สถานการณ์เงินเฟ้อและเศรษฐกิจของไทยยังไม่น่าที่จะถลำลงรุนแรงถึงจุดนั้น แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่ต้องให้ความระมัดระวัง และจำเป็นต้องมีการดำเนินการด้านนโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจก้าวลงไปสู่สภาวะดังกล่าว มิฉะนั้นจะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น