ปิโตรเคมี ปี’52: วัฏจักรขาลง…ต้องเร่งปรับตัว

ในปี 2552 ที่กำลังจะมาถึง อาจเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย ด้วยปริมาณการจำหน่าย และการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2550 ขณะที่ในปี 2552 ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจะต้องเผชิญกับภาวะอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่จะชะลอตัวลงมาก จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ลุกลามขยายวงกว้างออกไปอย่างต่อเนื่อง และภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลงมาก ขณะที่แนวโน้มอุปทานในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั่วโลกกลับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกำลังการผลิตส่วนเพิ่มที่จะสามารถดำเนินการผลิตได้ในตะวันออกกลาง และจีน จึงสร้างแรงกดดันให้การแข่งขันในตลาดมีความรุนแรงมากขึ้น จนกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของไทยที่อาจทำได้ยากลำบากมากขึ้น ขณะเดียวกันราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีก็มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ตามราคาน้ำมันดิบที่จะยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำอยู่ต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งเตรียมพร้อมรับมือกับวัฏจักรขาลงของปิโตรเคมีในปี 2552 นี้

ปริมาณการจำหน่ายปิโตรเคมีปี’51 เริ่มหดตัว…สัญญาณเตือนปี’52
แม้ว่าปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภายในประเทศไทยในข่วง 10 เดือนแรกของปี 2551 จะขยายตัวได้เล็กน้อยประมาณ 1.54% จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2550 แต่หากพิจารณาปริมาณการจำหน่ายนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา จะพบว่าปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภายในประเทศลดต่ำลงอย่างชัดเจนมากถึง 13.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2550 โดยปัจจัยสำคัญเกิดจากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่เพิ่มสูงขึ้นตามการเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันดิบได้สร้างแรงกดดันให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ ลดต่ำลง ขณะที่นับตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา แม้ว่าราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะลดต่ำลงมามากตามราคาน้ำมันดิบ แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่มีความไม่แน่นอน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาได้ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก รวมไปถึงความต้องการใช้ในกิจกรรมหรือโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ของภาครัฐ (Mega Project) ที่ชะลอโครงการออกไปต้องลดต่ำลง

ขณะที่หากพิจารณาถึงการจำหน่ายไปยังต่างประเทศ พบว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2551 ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีโดยรวมลดต่ำลง 3.06 % จากช่วงเดียวกันของปี 2550 ซึ่งแม้ว่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นจะสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากถึง 11.8% แต่มีปริมาณที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลางและขั้นปลายที่มีปริมาณการส่งออกสูง โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลางส่งออกลดลงมากถึง 17.06% ขณะที่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายซึ่งมีมูลค่าสูง ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2551 ปริมาณการส่งออกขยายตัวเพียง 2.45 % ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกในปี 2550 ที่ขยายตัวจากปี 2549 ถึง 4.68 %

ปัจจัยสำคัญบ่งชี้ปิโตรเคมีปี’ 52…ก้าวสู่วัฏจักรขาลง
จากปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภายในประเทศ และปริมาณการส่งออกในปี 2550 – 2551 ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จนถึงหดตัวดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้เริ่มต้นถึงการก้าวสู่ วัฏจักรขาลงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย แต่ทว่าปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้ในปี 2552 อุตสาหกรรม ปิโตรเคมีไทยก้าวเข้าสู่วัฏจักรขาลงอย่างชัดเจน ได้แก่

อุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาที่ลุกลามสู่ประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป และประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งนับวันจะแสดงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ มากยิ่งขึ้น บรรดานักวิเคราะห์จากสถาบันต่างๆ ได้คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2552 ที่จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอาจอยู่ในระดับต่ำเพียง 0.9 % ส่งผลให้ปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีทั่วโลกเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์พลาสติกมีแนวโน้มความต้องการที่ลดต่ำลง ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของผู้ประกอบการไทยที่จะกระทำได้อย่างยากลำบากมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ภาวะอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภายในประเทศก็มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยบรรดานักวิเคราะห์จากหลากหลายสถาบันต่างคาดการณ์ในทิศทางเดียวกันว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2552 อาจอยู่ต่ำกว่า 3 % ขณะที่ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง อาจส่งผลให้การดำเนินการในโครงการลงทุนขนาดใหญ่(Mega Project) ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีในปริมาณมากต้องล่าช้าออกไป ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภายในประเทศลดน้อยลง
อุปทานผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพิ่มมากขึ้น โครงการขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีในตะวันออกกลาง และประเทศจีนที่เริ่มทยอยเดินเครื่องการผลิตได้มากขึ้นนับตั้งแต่ปลายปี 2551 หลังจากที่ชะลอแผนการดำเนินการมากว่าสองปี จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ปริมาณผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีจะออกสู่ตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นได้ทัน อันจะส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มลดต่ำลง อีกทั้งยังทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศ ซึ่งผลกระทบที่ผู้ประกอบการไทยจะได้รับชัดเจนมากยิ่งขึ้น คือ การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไปยังประเทศจีนซึ่งถือเป็นตลาดหลักที่ไทยทำการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลาง และขั้นปลายไปจำหน่าย ขณะเดียวกันการส่งออกไปยังประเทศอื่นก็จะทำได้ยากลำบากด้วยเช่นกัน เนื่องจากกำลังการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก จะส่งผลให้แต่ละประเทศมีกำลังการผลิตส่วนเกินจากความต้องการภายในประเทศมากยิ่งขึ้น จนต้องทำการส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งด้วยลักษณะผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่สามารถใช้ทดแทนระหว่างผู้ผลิตแต่ละรายได้ค่อนข้างสมบูรณ์ และต้องอาศัยการประหยัดจากขนาดในการผลิตในการแข่งขัน ผู้ประกอบการที่ผลิตได้ในปริมาณน้อย หรือไม่เกิดการประหยัดจากขนาดในการผลิตจึงเสียเปรียบในการแข่งขัน นอกจากนั้น อาจเกิดปัญหาการรุกเข้ามาทำตลาดภายในประเทศไทยจากผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตะวันออกกลางซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำอีกทางหนึ่งก็เป็นได้

ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ด้วยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเป็นผลผลิตที่ได้จากการแปรรูปน้ำมันดิบ ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจึงมีส่วนเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบ ดังพิจารณาได้จากในช่วงปี 2550 – 2551 ที่ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีแต่ละลำดับขั้นมีการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบ (รายละเอียดแสดงในภาพ) ซึ่งนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับตัวลดลงมาก ขณะที่ในปี 2552 ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องอยู่ต่อไป เนื่องด้วยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งแนวโน้มภาวะอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่จะชะลอตัวลงมากจากแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกที่หลายประเทศกำลังก้าวไปสู่ภาวะถดถอย ส่งผลให้ปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงตาม

บทสรุปและแนวทางการปรับตัว
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในปี 2552
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะก้าวสู่วัฏจักรขาลง อย่างเต็มตัวด้วยแนวโน้มของอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงมาก ขณะที่อุปทานผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลกก็เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะกำลังการผลิตจากตะวันออกกลาง และประเทศจีน ปัจจัยทั้งสองจะกดดันให้ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดต่ำลง ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของผู้ประกอบการไทยที่จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว แม้จะช่วยทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของผู้ประกอบการที่ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบในการผลิตลดต่ำลงได้บ้าง แต่ราคาน้ำมันก็ได้กดดันให้ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงอีกทางหนึ่งเช่นกัน จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการอาจขาดทุนกับสต๊อกสินค้าได้มาก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวโน้มการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งตลาดภายในประเทศ และการส่งออกไปยังต่างประเทศในปี 2552 อาจไม่สดใสเท่าไรนัก จากปัจจัยรุมเร้าต่างๆ ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยมีประเด็นสำคัญของการปรับตัวในด้านต่างๆ ดังนี้

รักษากลุ่มลูกค้าเก่า ผู้ประกอบการอาจเพิ่มความร่วมมือกับลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ไปใช้ผลิตสินค้า โดยร่วมมือกับลูกค้าในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าได้มากขึ้น เช่น การร่วมมือกับลูกค้าในการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อให้สามารถผลิตเม็ดพลาสติกที่มีลักษณะตรงตามความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด อันจะทำให้สามารถรักษากลุ่มลูกค้าเดิมไว้ได้ โดยที่กลุ่มลูกค้าของอุตสาหกรรมเองก็จะได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ที่ร่วมกันพัฒนาขึ้น โดยเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น

รุกหาตลาดใหม่ การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีถือว่ามีความสำคัญยิ่งโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศเริ่มชะลอตัวลง แต่ด้วยแนวโน้มความต้องการที่อาจจะชะลอตัวลงโดยเฉพาะในตลาดส่งออกหลักของไทย เช่น จีน และอาเซียน ผู้ประกอบการไทยจึงควรแสวงหาตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงจากยอดการส่งออกไปยังตลาดหลักเดิมที่อาจลดลง โดยตลาดในภูมิภาคเอเชีย และแอฟริกา เช่น อินเดีย ปากีสถาน แอฟริกาใต้ ถือเป็นตลาดที่ยังคงมีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอยู่มาก เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ในขั้นเริ่มพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จึงเป็นตลาดที่มีแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่สูง

ปรับเปลี่ยนสายการผลิตให้ครบวงจร ผู้ประกอบการควรที่จะเพิ่มความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในแนวดิ่ง คือ สามารถผลิตได้ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นจนถึงขั้นปลาย และความสามารถการผลิตในแนวราบ คือ สามารถสลับสับเปลี่ยนการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีแต่ละผลิตภัณฑ์ในลำดับขั้นเดียวกันเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในแต่ละช่วงเวลาจะมีราคา และความต้องการที่แตกต่างกัน เช่น ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2550 ผู้ประกอบการปิโตรเคมีในสายโอเลฟินส์ควรเน้นผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นในปริมาณมาก เนื่องจากมีส่วนต่างระหว่างราคาขายกับราคาวัตถุดิบการผลิต(แนฟทา) มากกว่าส่วนต่างในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย(LDPE, HDPE) ขณะที่นับตั้งแต่ต้นปี 2551 ควรผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย LDPE มากกว่า HDPE หรือผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีขั้นต้น เนื่องจากมีส่วนต่างระหว่างราคาจำหน่ายและต้นทุนผลิตที่มากกว่า(รายละเอียดแสดงในภาพ) หรือในกรณีของผู้ประกอบการปิโตรเคมีในสายอะโรเมติกส์ นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2550 เป็นต้นมา ก็ควรจะเน้นผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายมากกว่าผลิตภัณฑ์ขั้นต้น เนื่องจากแนวโน้มส่วนต่างราคาขายของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายและขั้นต้นสูงกว่าส่วนต่างระหว่างราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นและวัตถุดิบการผลิต(แนฟทา) ค่อนข้างสูง เป็นต้น

สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ เนื่องด้วยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีโดยทั่วไปเป็นสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนระหว่างกันได้ค่อนข้างสมบูรณ์ระหว่างผู้ผลิตแต่ละราย จึงทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถผลิตในปริมาณมากให้เกิดการประหยัดจากขนาดการผลิต (Economies of Scale) ในระดับที่สูงอาจมีความสามารถในการแข่งขันที่น้อย ผู้ประกอบการไทยจึงควรมุ่งเน้นที่การลงทุนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความแตกต่างในตัวผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีให้อยู่เหนือผลิตภัณฑ์ทั่วไปในท้องตลาด โดยปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสูงขึ้น เช่น การพัฒนาเม็ดพลาสติกระดับคุณภาพอาหารและยา (Health Care Grade) หรือผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Grade) เพื่อสร้างความแตกต่าง และลดการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีโดยทั่วไป อีกทั้งยังสอดคล้องกับกระแสรักษาสุขภาพ และห่วงใยสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ปรับลดกำลังการผลิต การพยายามผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในปริมาณมากในภาวะที่ความต้องการสินค้าลดต่ำลง อาจจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลังให้มากขึ้น ผู้ประกอบการจึงอาจปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมถึงอาจใช้ช่วงเวลาที่มีผลิตภัณฑ์ล้นตลาด หรือราคาตกต่ำทำการปรับแผนการผลิตด้วยการหยุดซ่อมบำรุงโรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรให้มีมากขึ้นในระยะต่อไปอันจะทำให้การผลิตในระยะต่อไปมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของผู้ประกอบการแต่เพียงฝ่ายเดียวอาจไม่เพียงพอ ภาครัฐจึงควรเข้ามามีส่วนร่วมให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญอีกอุตสาหกรรมหนึ่งสำหรับประเทศไทยด้วยมูลค่าสูงถึง 6 % ของ GDP ในแต่ละปี โดยภาครัฐอาจพยายามผลักดันให้การดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Project) สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยเร็ว เพื่อให้เกิดการลงทุน และความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพิ่มมากขึ้น