มาตรการอสังหาริมทรัพย์: กระตุ้นแรงซื้อ…ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คือ มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปี 2552 ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นชุดที่สองเพิ่มเติมจากมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมและภาษีธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีการขยายระยะเวลาของมาตรการออกไปอีก 1 ปี ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ที่ในปัจจุบันมีจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จและที่กำลังก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเหลือขายอยู่ประมาณ 100,000 หน่วย ทั้งนี้มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์โดยให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ซื้อบ้านใหม่ เพื่อให้เกิดการระบายสต็อกคงค้างในระบบ และมีการก่อสร้างใหม่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงของธนาคาร และก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศได้ในวงกว้าง จากแนวคิดที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ผลของมาตรการต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจโดยรวม โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์
ในปัจจุบันสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์กำลังประสบภาวะชะลอตัว และมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงมากขึ้น เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอลง ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่เผชิญผลกระทบจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะยังทวีความรุนแรงขึ้นในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า ประกอบกับการชะลอตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ เนื่องจากผลกระทบของเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา การลดเงินเดือน โบนัสของพนักงาน หรือถึงขั้นเลิกจ้างในหลายธุรกิจ นอกจากเหตุผลในด้านอุปสงค์ของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวแล้ว ด้วยความสำคัญของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศได้ในวงกว้าง รัฐบาลจึงมีแนวทางผลักดันมาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ภายหลังจากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ได้มีแนวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552 รัฐบาลได้มีมติเห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 (งบกลางปี) วงเงิน 115,000 ล้านบาท และในวันที่ 20 มกราคม 2552 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติมาตรการทางภาษีช่วยเหลือภาคธุรกิจต่างๆ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมาตรการที่จะมีผลต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย

มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปี 2552 ซึ่งรายละเอียดเบื้องต้นของมาตรการดังกล่าว คือ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ที่จ่ายเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน โดยกรณีโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวภายในปี พ.ศ. 2552 ให้ได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมิน เป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท เพิ่มเติมจากที่ให้หักค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้านเป็นจำนวนไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามรายละเอียดเงื่อนไขของมาตรการที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งรายละเอียดบางประเด็นจะมีผลต่อระดับความเข้มข้นของผลการกระตุ้นการซื้อขายในตลาดด้วย อาทิ

– เงื่อนไขวิธีการคิดเงินต้นในส่วนที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษี ในกรณีเช่นหากผู้กู้ผ่อนชำระเงินเพิ่มจากส่วนของเงินงวดตามสัญญากู้ จะสามารถนำมาหักภาษีได้ด้วยหรือไม่

– เงื่อนไขกลุ่มเป้าหมายของมาตรการ เช่น มาตรการจะครอบคลุมเฉพาะผู้ซื้อบ้านใหม่โดยตรงจากผู้ประกอบการจัดสรรเท่านั้นหรือไม่

– เงื่อนไขการทำธุรกรรม ว่าจะให้สิทธิประโยชน์เฉพาะแก่ผู้ที่ซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2552 เท่านั้นหรือไม่ ทั้งนี้ ถ้าเงื่อนไขเป็นดังเช่นนั้น อาจมีกรณีที่ผู้ทำสัญญาซื้อขายในปี 2552 แต่หากการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จอาจจะไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ทันในปีเดียวกัน หรือประเด็นที่ผู้จองซื้อมาตั้งแต่ปีก่อนหน้า แต่เริ่มทำสัญญากู้ยืมกับสถาบันการเงินในปีนี้ จะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์หรือไม่ เป็นต้น

มาตรการสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยกระทรวงการคลังมีแนวทางให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย การดำเนินการทั้งการคิดดอกเบี้ยเงินกู้อสังหาริมทรัพย์ในอัตราพิเศษ และการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยในราคาถูก สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย โดยผ่านทางสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
นอกจากนี้รัฐบาลยังได้มีแนวคิดที่จะให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ดูแลเรื่องสินเชื่อที่อยู่อาศัย จัดตั้งบริษัทค้ำประกันสินเชื่อ (Mortgage Insurance Company) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยผู้กู้จะขอกู้จากสถาบันการเงินได้ในวงเงินเต็ม 100% โดยที่บริษัทค้ำประกันสินเชื่อจะช่วยค้ำประกันให้บางส่วน เช่น ในส่วนของเงินดาวน์ และยังเป็นการลดความเสี่ยงของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อด้วย อย่างไรก็ตามการจัดตั้งระบบบริษัทค้ำประกันสินเชื่อยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ

มาตรการอสังหาริมทรัพย์: ผลต่อผู้ประกอบการ…ผู้บริโภค
ตามที่รัฐบาลได้มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อตลาดที่อยู่อาศัยจากการที่ผู้ซื้อบ้านจะได้รับสิทธิในการนำค่าใช้จ่ายในการกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยไปหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น ซึ่งโดยรวมแล้วคาดว่าจะเป็นผลดีต่อทั้งผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และผู้บริโภคที่มีความพร้อมทางด้านการเงินและมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงผลของมาตรการอสังหาริมทรัพย์ที่จะมีต่อผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และผู้บริโภค ดังต่อไปนี้

มาตรการอสังหาริมทรัพย์ผลต่อผู้ประกอบการ
มาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์น่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ คือ มาตรการดังกล่าวนี้น่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่ยังคงมีจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จเหลือขายอยู่เป็นจำนวนหนึ่ง ซึ่งมาตรการดังกล่าวน่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถระบายสินค้าที่มีอยู่ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการมีกระแสเงินสดหมุนเวียนดีขึ้นและลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่น่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการจูงใจทางภาษีนี้ คือ ผู้ประกอบการที่มีโครงการสร้างเสร็จในปี 2552 เช่น กลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมที่มีแนวโน้มจะสร้างเสร็จพร้อมโอนภายในปี 2552 นี้ ซึ่งบางโครงการที่ยังมีจำนวนหน่วยเหลือขาย และตั้งอยู่ในทำเลที่ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด และกลุ่มผู้ประกอบการโครงการแนวราบ ซึ่งหากในช่วงครึ่งแรกของปี ผู้บริโภคมีการตอบรับที่ดีจากมาตรการดังกล่าว ผู้ประกอบการโครงการแนวราบสามารถที่จะขยายโครงการต่อไปได้ เนื่องจากระยะเวลาการก่อสร้างโครงการแนวราบจะใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่าโครงการอาคารสูง โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีสถานะการเงินที่ดี มีความชำนาญและมีโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปเป็นของตนเอง

มาตรการอสังหาริมทรัพย์ผลต่อผู้บริโภค
สำหรับผลของมาตรการดังกล่าวน่าจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในปีนี้ ซึ่งผู้บริโภคที่ซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2552 นี้ นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนจากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 ของราคาประเมินของทางราชการ และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 แล้ว ผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้ยังได้รับสิทธิลดหย่อนทางภาษี ซึ่งมาตรการดังกล่าวเหมือนกับการคืนเงินกลับเข้าสู่ประชาชน แม้ว่าจะเห็นผลในปี 2553 ก็ตาม แต่มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ชุดใหม่นี้น่าจะมีผลเร่งการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยจริง รวมทั้งมีรายได้และสถานะการเงินที่ค่อนข้างมั่นคง เช่น ผู้ที่มีเงินออม หรือมีความสามารถในการขอกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัย และผู้ซื้อที่อยู่อาศัยทุกกลุ่มน่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวนี้ เนื่องจากสามารถนำทั้งในส่วนของดอกเบี้ยและเงินต้นมาหักลดหย่อนภาษีได้

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้มีมาตรการอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมาตรการที่น่าจะสามารถนำมาใช้ได้ในปัจจุบัน คือ มาตรการอัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยการคิดดอกเบี้ยเงินกู้อสังหาริมทรัพย์ในอัตราพิเศษ และการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยในราคาถูก สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย โดยผ่านทางสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง สามารถเพิ่มอำนาจซื้อของผู้บริโภคได้ระดับหนึ่ง

ศูนย์วิจัยสิกรไทย มีความเห็นว่า มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลทั้งการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ซื้อบ้านผ่านการลดค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยและการสนับสนุนโครงการสินเชื่อต่างๆจะส่งผลดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2552 โดยน่าจะช่วยเร่งการตัดสินใจในกลุ่มผู้บริโภคที่มีความพร้อมทางด้านการเงิน และเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นในการซื้อที่อยู่อาศัยหรือเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ให้ตัดสินใจเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับกลุ่มที่รายได้ค่อนข้างมีความอ่อนไหวง่ายต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภายใต้สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ผู้บริโภคยังคงไม่มั่นใจต่อทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า อาจจะยังคงไม่รีบเร่งตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยและรอช่วงเวลาที่เหมาะสม ขณะที่ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจอยู่แล้ว อาจไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่จะมีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้

โดยสรุป จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ รวมถึงมาตรการอสังหาริมทรัพย์ คือ มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปี 2552 โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ที่จ่ายเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน โดยกรณีโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวภายในปี พ.ศ. 2552 ให้ได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมิน เป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท เพิ่มเติมจากที่ให้หักค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้านเป็นจำนวนไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามรายละเอียดเงื่อนไขของมาตรการที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งรายละเอียดบางประเด็นจะมีผลต่อระดับความเข้มข้นของผลการกระตุ้นการซื้อขายในตลาดด้วย

มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว น่าจะส่งผลดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงมากขึ้นในปีนี้ เนื่องมาจากกำลังซื้อผู้บริโภคที่อ่อนแอลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ผู้ประกอบการที่น่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้น่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จและพร้อมขายอยู่ในปัจจุบัน หรือในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวน่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถที่จะระบายสินค้าที่มีอยู่ได้ระดับหนึ่ง ควบคู่ไปกับการกำเนินกลยุทธ์การตลาดที่คาดว่าน่าจะแข่งขันกันอย่างรุนแรงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่การใช้มาตรการภาครัฐอาจช่วยกระตุ้นกลุ่มลูกค้าที่กำลังต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่มีความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย หรือเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ให้ตัดสินใจเร็วขึ้น เนื่องจากผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้จะได้รับประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปี 2552 และยังได้รับประโยชน์จากการขยายระยะเวลามาตรการการลดค่าธรรมเนียมและค่าจดจำนอง เดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 28 มีนาคม 2552 ให้ขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 28 มีนาคม 2553

นอกจากมาตรการอสังหาริมทรัพย์ที่ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ นโยบายการเงินก็มีแนวโน้มที่เอื้ออำนวยต่อการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.75 ต่อปี จากเดิมร้อยละ 2.75 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 ที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงมา โดยได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงร้อยละ 0.25 ทำให้ในขณะนี้ (วันที่ 20 มกราคม 2552) อัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารพาณิชย์รายใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 6.50 ต่อปี จากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 6.75 ต่อปี ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการเพิ่มความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ตามแม้ว่ามาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปี 2552 คาดว่าน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่การใช้มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น จะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐที่ลดลง ด้วยข้อจำกัดทางการคลัง จึงอาจทำให้รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญของมาตรการ โดยเลือกกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ซื้อบ้านใหม่ เพื่อให้เกิดการระบายสต็อกคงค้างในระบบ และมีการก่อสร้างใหม่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อย่างไรก็ตามอสังหาริมทรัพย์กลุ่มที่ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการก็อาจจะมีจุดขายในการทำตลาดที่ด้อยกว่าในช่วงปี 2552 นี้

แม้ว่าผู้บริโภคน่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ล่าสุดของรัฐบาล รวมทั้งจากความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยในระบบอาจจะปรับลดลง แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ความต้องการที่อยู่อาศัยในปี 2552 คาดว่า กำลังซื้อต่อที่อยู่อาศัยอาจยังคงไม่ปรับตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็วนัก การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในขณะนี้ อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรการทางภาษีหรือทิศทางอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่ต่างจากอดีต คือ แนวโน้มที่เศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก และกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งภาวะดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทย รวมถึงภาคการท่องเที่ยว และเริ่มมีผลมาสู่การจ้างงานในภาคธุรกิจเหล่านั้น และโรงงานบางแห่งได้ปิดกิจการลง ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มเริ่มมีความกังวลต่อความมั่นคงในหน้าที่การงาน และระดับรายได้ของตนในอนาคต โดยความต้องการที่อยู่อาศัยน่าจะมีแรงซื้อมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยพื้นฐานเพื่อการที่อยู่อาศัยจริง ที่เป็นตลาดกลุ่มที่มีกำลังซื้อ มีความจำเป็นในการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงนี้ ในภาวะเช่นนี้ผู้บริโภคควรมีการวางแผนทางการเงินที่ดี โดยพิจารณาถึงความสามารถในการผ่อนชำระของตนในอนาคตเป็นหลัก อีกทั้งภาวะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการแข่งขันสูงและมีสินค้าออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคมีข้อเปรียบเทียบในแต่ละสินค้ามากขึ้น รวมถึงสามารถที่จะเลือกซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาที่ถูกลง ผู้บริโภคยังคงมีเวลาในการเลือกที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับความต้องการของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องเร่งตัดสินใจ