ปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำตาลปี’52 : ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

ในปี 2552 มีแนวโน้มที่ปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกัน อาทิ มาเลเซีย ลาว กัมพูชา และพม่าจะทวีความรุนแรงมากกว่าปีก่อนๆ อันเป็นผลจากการที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวลดลงตามปัจจัยด้านภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ ราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาน้ำตาลของตลาดโลกเป็นอย่างมาก จึงทำให้มีการลักลอบนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศซึ่งมีราคาตามตลาดโลกประมาณ 11 บาทต่อกิโลกรัม ส่งเข้ามาจำหน่ายในไทยเพื่อจำหน่ายแข่งกับน้ำตาลที่ผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ(โควต้าก.)ซึ่งมีราคาจำหน่ายหน้าโรงงานประมาณ 19-20 บาทต่อกิโลกรัม และหากกระจายสู่ตลาดขายปลีกทั่วไป จะมีราคาถึงประมาณ 22-23 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาควบคุมและตรวจตราอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในปีนี้ ความต้องการบริโภคน้ำตาลของภาคประชาชนรวมทั้งภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มปรับลดลง ตามปัจจัยด้านภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ปริมาณน้ำตาลที่ลักลอบนำเข้าจึงยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาทำให้ปริมาณน้ำตาลที่ใช้ในประเทศ(โควต้าก.)จำหน่ายได้ลดลง ซึ่งท้ายที่สุด จะส่งผลกระทบไปถึงรายได้ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ในส่วนของการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศซึ่งมีมูลค่าถึงประมาณปีละ 39,000 ล้านบาท

สถานการณ์อ้อยและน้ำตาลของไทยในฤดูการผลิตปี 2551/52 เนื่องจากราคาอ้อยที่เกษตรกรได้รับในเบื้องต้นรวมกับเงินช่วยเหลือพิเศษในปีการผลิตที่ผ่านมา อยู่ในระดับเพียงประมาณ 807 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนักหากเทียบกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งต้นทุนพลังงาน ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ทำให้ชาวไร่อ้อยบางส่วนเปลี่ยนไปปลูกพืชประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า อาทิ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา ยูคาลิปตัส โดยคาดว่า พื้นที่เพาะปลูกอ้อยฤดูการผลิตปี 2551/52 จะมีเพียง 6.43 ล้านไร่ ลดลงประมาณ 0.45 แสนไร่เมื่อเทียบกับปีการผลิตก่อน(คาดการณ์โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้มีการคาดการณ์ในเบื้องต้นว่า ผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 2551/52 จะมีทั้งสิ้นประมาณ 71.81 ล้านตันลดลงร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับปีการผลิตก่อนหน้า สำหรับในส่วนของปริมาณผลผลิตน้ำตาลนั้นคาดว่าฤดูการผลิตนี้จะสามารถผลิตได้ประมาณ 7.57 ล้านตันลดลงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับฤดูการผลิตก่อนที่มีผลผลิตน้ำตาล 7.82 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจและประเมินล่าสุดพบว่า ปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2551/52 มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณ 75.0 ล้านตัน อันเป็นผลจากการที่ปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอในฤดูเพาะปลูก ส่งผลให้ค่าความหวาน รวมทั้งผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ปรับเพิ่มขึ้น

สำหรับภาวะตลาดน้ำตาลของไทย ในปีการผลิต 2551/52 มีรายละเอียดดังนี้
ตลาดน้ำตาลในประเทศ

ในปี 2552 นี้คาดว่า ตลาดน้ำตาลในประเทศคงจะไม่สดใสนัก เนื่องจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่งผลให้ ความต้องการบริโภคน้ำตาลของภาคประชาชนรวมทั้งภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง โดยในส่วนของการบริโภคน้ำตาลโดยตรงได้แก่ การใช้ประกอบอาหารประจำวัน การเติมน้ำตาลในเครื่องดื่ม และในอาหารต่างๆ เพื่อปรุงรสอาหาร รวมทั้งผู้ประกอบการอาหารและขนมรายย่อย คาดว่าจะปรับลดลงในสัดส่วนที่น้อยกว่าการบริโภคน้ำตาลในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบผลิตเพื่อบริโภคและส่งออก เช่น อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์นม อาหาร ยา ลูกกวาด เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นผลจากกำลังซื้อของประชาชนที่ปรับลดลง ส่งผลให้ประชาชนชะลอหรือปรับลดการบริโภคสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบทั้งอาหารและเครื่องดื่มลง ส่วนการบริโภคน้ำตาลโดยตรงในภาคครัวเรือนที่ลดลงได้ไม่มากนัก เป็นเพราะส่วนใหญ่จะใช้น้ำตาลในระดับที่จำเป็นในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว โดยปริมาณการใช้น้ำตาลในประเทศปี 2552 ภาครัฐมีการคาดการณ์ว่า จะมีทั้งสิ้นประมาณ 19.0 ล้านกระสอบลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีการใช้น้ำตาล 19.29 ล้านกระสอบ สำหรับมูลค่าการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศ คาดว่าจะมีทั้งสิ้นประมาณ 39,200 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ทั้งนี้ เป็นผลจากการปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2551 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศมีแนวโน้มลดต่ำลงจากที่คาดการณ์ไว้ หากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความล่าช้า

ตลาดส่งออก
สำหรับการส่งออกน้ำตาลของไทยในปี 2552 นั้น คาดว่าจะไม่ค่อยสดใสเช่นเดียวกับตลาดในประเทศ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา กระทบต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลของประเทศต่างๆที่ปรับลดต่ำลง ซึ่งสวนทางกับปริมาณน้ำตาลที่ไทยมีเหลือเพื่อการส่งออกภายหลังจากการบริโภคในประเทศที่มีค่อนข้างสูงถึงประมาณ 5.66-5.99 ล้านตัน จึงถือเป็นภาระที่ค่อนข้างหนักในการผลักดันการส่งออกน้ำตาลจำนวนนี้ไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในภาวะที่การแข่งขันด้านการส่งออกน้ำตาลมีความรุนแรง เนื่องจากปัจจุบันอัตราค่าขนส่งสินค้าทางเรือปรับตัวลดลงตามต้นทุนน้ำมัน ประกอบกับค่าเงินของบราซิลที่อ่อนค่าลงมาก ส่งผลให้ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 1 ของโลกมีศักยภาพเพียงพอในการที่จะส่งน้ำตาลเข้ามาแข่งขันในตลาดเอเชียเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำตาลของไทยมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากคู่แข่งหลักอย่างออสเตรเลีย ทั้งนี้ คาดว่า ในปี 2552 ไทยจะส่งออกน้ำตาลได้ทั้งสิ้นประมาณ 5 ล้านตันใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา สำหรับมูลค่าการส่งออกนั้น เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ตกต่ำ ดังนั้น มูลค่าการส่งออกน้ำตาลจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าส่งออกประมาณ 1,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ประเทศผู้นำเข้าน้ำตาลรายสำคัญของไทยได้แก่ กลุ่มประเทศในเอเชีย(อาทิ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน กัมพูชา เกาหลีใต้ จีน รัสเซีย) ที่มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 95 ของปริมาณการส่งออกน้ำตาลทั้งหมด ซึ่งประเทศเหล่านี้ปริมาณการผลิตน้ำตาลภายในประเทศยังคงมีไม่เพียงพอกับการใช้ ส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าน้ำตาลจากไทยอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัญหาของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยในปีการผลิต 2551/52 ที่สำคัญมีดังนี้

ปัญหาราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวลดลง แม้ว่าผลผลิตน้ำตาลของโลกฤดูการผลิตปี 2551/2552 จากการประมาณการขององค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ จะมีจำนวน 162.26 ล้านตัน ลดลง 6.39 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปี 2550/2551 อันเป็นผลจากผลผลิตน้ำตาลของหลายประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายสำคัญปรับลดลงตามภาวะภัยธรรมชาติ รวมทั้งการลดพื้นที่เพาะปลูกอ้อยและหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีราคาดีกว่า อาทิ สหรัฐฯ จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งไทย และออสเตรเลีย โดยเฉพาะอินเดียนั้นในปี 2552 คาดว่าต้องนำเข้าน้ำตาลมากกว่า 1 ล้านตัน ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำตาลบางแห่งคาดว่าอินเดียอาจต้องนำเข้าน้ำตาลถึง 2-3 ล้านตัน ส่วนปริมาณการบริโภคน้ำตาลของโลกนั้น คาดว่าจะมีจำนวน 165.88 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.81 ล้านตัน ทำให้มีน้ำตาลส่วนขาดประมาณ 3.62 ล้านตัน แต่อย่างไรก็ตาม ผลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้แนวโน้มความต้องการบริโภคน้ำตาลชะลอตัวลง ประกอบกับการที่กลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรต่างลดการเข้ามาเก็งกำไรสินค้าน้ำตาลในตลาดซื้อขายล่วงหน้า และบางส่วนทยอยขายน้ำตาลที่ได้ทำสัญญาก่อนหน้านี้ ดังนั้น ราคาน้ำตาลในปี 2552 จึงเคลื่อนไหวผันผวนตามแรงซื้อและแรงขายของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรต่าง ๆ โดยคาดว่าราคาน้ำตาลตลาดโลกจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 12-13 เซนต์ต่อปอนด์ ต่ำกว่าปี 2551 ซึ่งราคาน้ำตาลเคลื่อนไหวในระดับสูง โดยในบางช่วงขึ้นสูงถึงระดับประมาณ 16-17 เซนต์ต่อปอนด์ (เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ระดับประมาณ 13.8 เซนต์ต่อปอนด์) ซึ่งปัจจัยจากราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจาก ไทยมีการส่งออกน้ำตาลถึงประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ดังนั้น ราคาน้ำตาลในตลาดโลก จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดรายได้ที่จะนำมาแบ่งปันกันระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาล ซึ่งเมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำ ก็จะส่งผลต่อรายได้จากการส่งออกน้ำตาลที่ลดลง
ปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำตาล โดยปกติการลักลอบนำเข้าน้ำตาลมีมาอย่างต่อเนื่องแทบทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย พม่า ลาว และกัมพูชา ทั้งนี้ เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาน้ำตาลในประเทศ ที่ภาครัฐกำหนดไว้ในระดับที่สูงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งมีเพียงบางปีที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศ ซึ่งกรณีนี้ก็จะมีการลักลอบส่งออกน้ำตาลที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศส่งออกไปตามประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับในปี 2552 นี้ คาดว่าปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศจะทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าทุกปี โดยมีปัจจัยจากการที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามปัจจัยด้านภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาน้ำตาลของตลาดโลกเป็นอย่างมาก เนื่องจากเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศเพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 5 บาท เพื่อนำเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายทยอยนำไปใช้ชำระหนี้เงินกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทยไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย พม่า ลาว กัมพูชา ส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่ผลิตน้ำตาลได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการและต้องนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศตลอดมา โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำตาลจากไทย ดังนั้น น้ำตาลที่มีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายในไทย บางส่วนจึงเป็นน้ำตาลที่ประเทศเพื่อนบ้านนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์หรือบราซิล แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นน้ำตาลที่ส่งออกจากไทยเองเนื่องจากมีความสะดวกในด้านการขนส่ง รวมทั้งมีผลตอบแทนจากการลักลอบนำเข้าค่อนข้างสูง กล่าวคือปัจจุบันราคาส่งออกน้ำตาลไปตลาดโลกของไทยอยู่ที่ระดับประมาณ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันหรือประมาณ 11 บาทต่อกิโลกรัมซึ่งหากรวมค่าขนส่งน้ำตาลไปกลับประเทศเพื่อนบ้านของไทยอีกประมาณ 2 บาทต่อกิโลกรัมก็เท่ากับจะมีต้นทุนน้ำตาลประมาณ 13 บาท(ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านอื่น) ซึ่งหากสามารถลักลอบนำน้ำตาลส่วนนี้เข้ามาจำหน่ายในประเทศซึ่งมีราคาจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 22-23 บาทต่อกิโลกรัม ก็จะทำให้ผู้ดำเนินการมีกำไรที่ค่อนข้างงดงามทีเดียว ทั้งนี้ปกติที่ผ่านมาไทยจะมีการส่งออกน้ำตาลตามชายแดนประเทศเพื่อนบ้านประมาณปีละ 250,000-300,000 ตัน ดังนั้น หากปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำตาลจากประเทศเพื่อนบ้านทวีความรุนแรง ก็จะส่งผลกระทบถึงปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ(โควต้าก.) ซึ่งอาจไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ประมาณ 1.9 ล้านตันได้ และท้ายสุดจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศซึ่งมีประมาณปีละ 39,000 ล้านบาทได้

ปัญหาเกษตรกรไม่พอใจราคาอ้อยขั้นต้น ในปี 2552 แม้ว่าจะเป็นช่วงที่ราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารามีแนวโน้มปรับลดลงเมื่อเทียบกับปี 2551 อันมีปัจจัยสำคัญจากภาวะความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง จากผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจทั้งของสหรัฐฯและเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลก ในขณะที่คาดการณ์ว่าในปี 2552 ทุกประเทศต่างเร่งขยายผลผลิตสินค้าเกษตร ทั้งจากแรงจูงใจด้านราคาและความต้องการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ ทำให้การแข่งขันของสินค้าเกษตรกลับมารุนแรงเช่นเดิม ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มที่อ่อนตัวลง แต่สำหรับในส่วนของอ้อยแล้ว ราคาที่เกษตรกรได้รับมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยภาครัฐได้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2551/52 ไว้ที่ระดับ 830 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวาน 10 ซีซีเอส เทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ระดับ 600 บาท/ตันอ้อย(ภายหลังภาครัฐเข้ามาช่วยจนสุดท้ายชาวไร่อ้อยได้รับเงินเพิ่มพิเศษรวมเป็น 807 บาทต่อตัน) ทั้งนี้ราคาอ้อยขั้นต้นที่กำหนดในปัจจุบัน ถือว่าเป็นระดับราคาที่สูงสุดในรอบกว่า 20 ปีนับตั้งแต่มีการออกพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ในส่วนของชาวไร่อ้อยแล้ว ยังคงมีความเห็นว่าราคาดังกล่าวยังไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงถึงประมาณ 950 บาท/ตัน อันเป็นผลจากปัจจัยการผลิตทั้งปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งต้นทุนด้านพลังงานที่ใช้ในช่วงต้นฤดูการเพาะปลูกช่วงปี 2551 ราคายังคงอยู่ในระดับสูง ดังนั้น เกษตรกรชาวไร่อ้อยจึงต้องการให้ภาครัฐปรับราคาอ้อยขั้นต้นเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต และช่วยลดปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย จากการจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า สถานการณ์ของอ้อยและน้ำตาลในปี 2552 ค่อนข้างมีปัญหาน้อยกว่าหากเทียบกับสินค้าพืชเกษตรประเภทอื่นๆ ซึ่งระดับราคามีการปรับตัวลดลงมากหากเทียบกับปี 2551 ที่ผ่านมา อาทิ ราคาข้าวนาปี 5% จากเดิมในปี 2551 ที่เคยขึ้นสูงสุดถึง 13,259 บาทต่อตันในเดือนเมษายนก่อนที่จะลดลงมาเหลือเฉลี่ยเพียง 9,841 บาทต่อตันในช่วงเดือนมกราคม 2552(ลดลงร้อยละ 25.8) มันสำปะหลังจากราคาสูงสุด 2.23 บาทต่อกิโลกรัมในช่วงเดือนเมษายน 2551 ลดลงมาเหลือเฉลี่ย 1.20 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน(ลดลงร้อยละ 46.2) และยางแผ่นดิบชั้น3 จากราคาที่เคยขึ้นสูงสุดเฉลี่ย 99.68 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนกรกฎาคม 2551 ลดลงมาเหลือเฉลี่ยเพียง 40.21 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน(ลดลงร้อยละ 59.7) ในขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้นในปี 2552 นั้นภาครัฐกำหนดไว้ในระดับ 830 บาทต่อตันเทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นปีก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 600 บาทต่อตัน(บวกเงินช่วยเหลือจากภาครัฐรวมเป็น 807 บาทต่อตันอ้อย) ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่ค่อนข้างสูง หากพิจารณาจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกขณะนี้ที่ตกต่ำจากปี 2551 มาก หรืออาจกล่าวได้ว่าอ้อยเป็นพืชเกษตรเพียงตัวเดียวที่ยังคงมีราคาจำหน่ายสูงกว่าปีที่ผ่านมา

เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัญหาของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในปี 2552 ในส่วนของราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำ เป็นปัจจัยจากภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่สำหรับปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศ รวมทั้งปัญหาเกษตรกรชาวไร่อ้อยไม่เห็นด้วยกับราคาอ้อยขั้นต้นที่ภาครัฐกำหนดออกมา เป็นปัญหาภายในที่ภาครัฐไม่อาจละเลยได้ และคงต้องเตรียมรับมือและเร่งจัดการปัญหานี้อย่างเหมาะสม โดยในส่วนของปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศนั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากต่อการป้องกันและปราบปรามเนื่องจากพื้นที่ชายแดนของไทยที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านมีระยะทางยาวและกินพื้นที่กว้าง แต่ภาครัฐก็จำเป็นต้องพยายามหามาตรการตรวจสอบ และควบคุมเส้นทางการลักลอบนำเข้าน้ำตาลจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง โดยเฉพาะด่านตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นเส้นทางส่งออกน้ำตาลที่มีประมาณ 12 ด่าน รวมทั้งพื้นที่ชายแดนอื่นๆที่เป็นจุดล่อแหลมที่ต้องเผ้าระวังอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกัน

สำหรับการแก้ปัญหาเกษตรกรชาวไร่อ้อยยังไม่พอใจกับราคาอ้อยขั้นต้นที่กำหนดออกมานั้น นับเป็นปัญหาที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนมาก เพราะแม้ว่าราคาอ้อยขั้นต้นในปัจจุบันจะอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับพืชเกษตรตัวอื่นๆ แต่หากภาครัฐยืนยันราคาเดิมโดยไม่พิจารณาข้อเรียกร้องของชาวไร่อ้อยในประเด็นเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง ก็อาจต้องเผชิญกับการรวมตัวของเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อกดดันรัฐบาลเหมือนเช่นปีการผลิตก่อนๆที่ผ่านมา ซึ่งภาครัฐเคยช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นจนสุดท้ายชาวไร่อ้อยได้รับเงินเพิ่มพิเศษรวมเป็น 807 บาทต่อตัน อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นให้สูงขึ้นจากที่กำหนดเดิม ก็อาจจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้กับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย หากว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปีนี้ที่คำนวณออกมาต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น เนื่องจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีภาระในการหาเงินมาชำระค่าอ้อยส่วนที่เกินคืนโรงงานน้ำตาลตามที่ระบุในพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนอ้อยและน้ำตาลมีภาระหนี้เดิมรวมกับหนี้ใหม่ที่จะกู้เพิ่มเพื่อนำมาชดเชยส่วนต่างราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2549/50 จะมีภาระหนี้รวมกันอยู่ที่ประมาณ 22,000 ล้านบาท แต่หากภาครัฐตัดสินใจช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อยให้เกษตรกรในฤดูการผลิตนี้อีก ภาระหนี้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายก็จะเพิ่มขึ้น และทำให้ระยะเวลาการชำระหนี้ต้องขยายออกไป ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามว่าภาครัฐจะมีหนทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเช่นไร ที่จะได้ประโยชน์ทั้งในส่วนเกษตรกรชาวไร่อ้อยและไม่เป็นการสร้างภาระหนี้ให้กับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมากเกินไป

กล่าวโดยสรุปแล้ว ฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี 2550/51 นี้ ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ในระดับที่สูงกว่าปีการผลิตก่อนหน้า ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีหากพิจารณาจากราคาน้ำตาลตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับลดลง ในขณะที่พืชผลการเกษตรอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่ปรับลดลงทั้งสิ้น ดังนั้น ปัญหาจากการที่ชาวไร่อ้อยยังคงไม่พอใจกับราคาอ้อยขั้นต้นที่ได้รับ เนื่องจากต้นทุนการผลิตอ้อยซึ่งอยู่ในระดับที่สูงนั้น ภาครัฐน่าจะสามารถชี้แจงทำความเข้าใจเหตุผลให้ชาวไร่อ้อยเข้าใจถึงการคิดคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นในครั้งนี้ที่สมเหตุสมผล หากพิจารณาปัจจัยด้านราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ลดลง แต่ปัญหาที่สำคัญของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในปี 2552 ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากทุกฝ่าย อันได้แก่ ปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำตาลจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศที่ลดลง และท้ายที่สุดก็จะส่งผลกระทบถึงรายได้ของชาวไร่อ้อยขั้นสุดท้ายที่อาจได้รับน้อยลงไปด้วย