อุตฯ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยปี 52: ส่งออกลด เลิกจ้างเกือบ 1 แสนคน

ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งของไทย อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยอันสืบเนื่องจากปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ทำให้การบริโภคเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าไอทีในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรง ซึ่งจะส่งผลต่อมายังการส่งออกสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย โดยคาดว่าการส่งออกไปยังตลาดหลัก อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศยุโรป อาจจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2551 ทำให้โดยรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 มีแนวโน้มที่จะหดตัวลง

ภาวะการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ปี 51 .. ช่วงปลายปีขยายตัวติดลบ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยปี 2551 มีมูลค่าทั้งสิ้น 31,102 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของปี 2550 ที่ร้อยละ 14.9 โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 และ2 การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์สามารถขยายตัวได้ค่อนข้างดีร้อยละ 10.0 และร้อยละ 12.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 การเติบโตของการส่งออกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากผลพวงวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มปรากฎผล นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านการเมืองในประเทศโดยเฉพาะเหตุการณ์การปิดสนามบิน ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ทำให้การส่งออกในช่วงเดือนพ.ย. และธ.ค. หดตัวร้อยละ 23.4 และ 34.6 ตามลำดับ

แนวโน้มการส่งออกปี 52.. ช่วงครึ่งปีแรกหดตัวรุนแรง โดยมีการชะลอตัวของตลาดหลักเป็นสาเหตุสำคัญ ไทยส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังจีนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 21 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าในหมวดนี้ทั้งหมด รองลงมาคือ สหรัฐฯ (ร้อยละ 19) ฮ่องกง และญี่ปุ่น (ที่ร้อยละ12 และร้อยละ 10) โดยการเติบโตการส่งออกไปยังตลาดหลักบางประเทศได้ชะลอตัวค่อนข้างมาก เช่น สหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 2.1 ส่วนญี่ปุ่นนั้นลดลงร้อยละ 7.3 ซึ่งการชะลอตัวของตลาดหลักมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อต่อมาถึงปีนี้จากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทั้งนี้ในด้านของภาวะตลาดโลกในภาพรวมปี 2552 การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าไอทีลดลง ดังที่สะท้อนจากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการตัดงบใช้จ่ายด้านไอทีของหลายๆ บริษัท จะมีผลต่อการใช้สินค้าขั้นกลาง และทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยหดตัว

นอกจากนี้ เนื่องจากฐานการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 ค่อนข้างสูง ดังนั้นในปี 2552 ช่วงครึ่งปีแรก จึงคาดว่าอัตราการเติบโตของการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มที่จะติดลบค่อนข้างมาก โดยมูลค่าตลาดอาจลดลงอยู่ในช่วงร้อยละ 15 ถึงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยทั้งปีจะหดตัวประมาณร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 15 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 26,437-29,547 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกหลักกลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ คาดว่าการส่งออกอาจไม่เติบโตเลยถึงลดลงร้อยละ 5 แม้ว่าแนวโน้มตลาดโลกในแง่ของปริมาณการขายจะยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องจากปี 2551 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของเซ็กเตอร์เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลโดยเฉพาะเน็ตบุ๊ค รวมถึงการแพร่หลายของการใช้สื่อดิจิตอลในยุคปัจจุบัน แต่การเติบโตของมูลค่าการส่งออกจะเป็นไปในอัตราที่ชะลอตัวลงเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและการแข่งขันด้านราคา ขณะที่มูลค่าการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้า คาดว่าจะลดลงอยู่ในช่วงร้อยละ 10-20 เนื่องจากปัจจัยด้านความต้องการสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า (consumer electronics) ลดลง โดยยอดขายอาจกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 2553

ทั้งนี้ ความเสี่ยงของการส่งออกของไทยในปี 2552 นอกจากทางด้านอุปสงค์แล้ว แนวโน้มของการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงขึ้น จะเป็นปัจจัยกดดันทั้งปริมาณการขายและราคาต่อหน่วย เนื่องจากผู้ขายที่เป็นบริษัทรับช่วงผลิต (โออีเอ็ม) ในประเทศต่างๆ ต่างก็ต้องการระบายสินค้าเพื่อให้บริษัทมีสภาพคล่องในภาวะที่ตลาดสินค้าขั้นสุดท้ายซบเซา ปัจจัยอีกประการหนึ่งซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกในอนาคต คือ แนวโน้มของการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีในการกีดกันการค้ามากขึ้น เพื่อเป็นการรักษาตลาดภายในประเทศและคุ้มครองผู้บริโภค โดยเพิ่มความเข้มงวดในมาตรฐานสินค้าด้านความปลอดภัย การประหยัดพลังงาน เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้การส่งออกของไทยอาจต้องประสบความยากลำบากมากขึ้น

การส่งออกที่ไม่ดีจะส่งผลกระทบต่อไปถึงการจ้างงานและการลงทุนในอนาคต โดยเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมในไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่รับจ้างผลิตและประกอบชิ้นส่วน โดยแรงงานกลุ่มแรกที่ได้รับผลจากการลดลงของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ คือ กลุ่มแรงงานชั่วคราว โดยแรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างก่อนกลุ่มอื่นเมื่อมีการการปรับลดการผลิตสินค้า ต่อมาก็คือกลุ่มพนักงานประจำ ซึ่งหากสภาพเศรษฐกิจโลกและคำสั่งซื้อยังไม่กระเตื้องขึ้น ก็มีแนวโน้มที่อาจถูกเลิกจ้างเพิ่มในปีนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการประมาณการผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไว้ว่าอาจทำให้เกิดการว่างงานรวมกันประมาณ 87,000-116,000 คนหรือร้อยละ 15-20 ของกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมปัจจุบัน 6 แสนคน โดยคาดว่าการจ้างงานอาจกลับมาฟื้นตัวในปี 2553 หลังการฟื้นตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ

ด้านการลงทุน การส่งออกที่ไม่ดีจะมีผลต่อการลงทุนในระยะสั้นและระยะกลาง สภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและการลดลงของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ทำให้โรงงานต้องปรับลดการผลิตตามในอัตราที่ต่ำกว่าการใช้กำลังการผลิตปรกติ และทำให้บริษัทหรือโรงงานส่วนใหญ่ในช่วงนี้อาจะชะลอการลงทุนเพื่อขยายโรงงานเนื่องจากยังมีกำลังการผลิตส่วนเกิน ประกอบกับผู้ประกอบการอีกส่วนหนึ่งอาจต้องการรอให้ภาวะตลาดนิ่งหรือปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นก่อนตัดสินใจลงทุนเพิ่ม เมื่อมองแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัว บริษัทผู้ผลิตในระดับโลกคงต้องมีการปรับตัวอย่างมากเพื่อให้อยู่รอดภายใต้สภาวะการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาซึ่งคงจะยิ่งทำให้ผู้ผลิตต้องหาทางลดต้นทุนโดยการปรับโครงสร้างการผลิต ในอนาคตจึงน่าจะเห็นกระแสการควบรวมกิจการ (M&A) หรือการรวมหน่วยผลิต (consolidate) ในเชิงพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งหมายถึงความเป็นไปได้ที่จะเห็นการยุบหน่วยการผลิตที่ซ้ำซ้อนหรือมีประสิทธิภาพการแข่งขันด้อยกว่า ตลอดจนการโยกย้ายสายการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำ โดยปัจจัยค่าเงินเยนที่มีทิศทางแข็งค่าก็อาจเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ผู้ผลิตญี่ปุ่นมองหาที่ตั้งโรงงานในประเทศที่ต้นทุนต่ำกว่า ภาพแนวโน้มในอนาคตที่จะเกิดขึ้นนี้ เป็นสิ่งที่ทางการไทยควรมองถึงความจำเป็นในการวางนโยบายเชิงรุกที่จะรักษาบทบาทของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่สำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ดังนั้นสิ่งที่ทางการไทยควรตระหนัก คือ การพยายามสร้างความน่าดึงดูดให้แก่นักลงทุน โดยมุ่งสนับสนุนให้หน่วยผลิตของธุรกิจที่เข้ามาตั้งฐานอยู่ในไทยมีประสิทธิภาพและแข่งขันได้

สรุปและข้อเสนอแนะ
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอัตราการเติบโตของการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มที่จะติดลบค่อนข้างมาก โดยมูลค่าตลาดอาจลดลงประมาณร้อยละ 15-20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากการลดลงของอุปสงค์ต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าไอทีซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการที่ฐานการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยทั้งปีจะหดตัวประมาณร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 15 คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 26,437-29,547ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์ (ส่วนใหญ่เป็นฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ) คาดว่าจะไม่เติบโตเลยถึงหดตัวลงร้อยละ 5 ส่วนกลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะลดลงอยู่ในช่วงร้อยละ 10-20 โดยผลพวงของการลดลงของการส่งออกจะมีผลต่อไปถึงการจ้างงานและการลงทุนของอุตสาหกรรมในอนาคต การปรับลดของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศทำให้โรงงานซึ่งส่วนใหญ่รับจ้างผลิต หลายแห่งต้องปิดตัวลงและแรงงานถูกเลิกจ้าง ขณะที่การลงทุนในระยะสั้นถึงระยะกลางเพื่อขยายการผลิตมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวจากสภาพเศรษฐกิจและการมีกำลังการผลิตส่วนเกิน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดโดยรวมจะชะลอตัวสาเหตุจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก หากผู้ประกอบการก็ยังมีโอกาสในตลาดส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ไม่รุนแรงนัก และประเทศที่เศรษฐกิจยังสามารถเติบโตได้ดี ซึ่งผู้ประกอบการควรมีการกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ อาทิ จีน อินเดีย เวียดนาม ประเทศในแถบตะวันออกกลาง และประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออกบางประเทศ ที่เป็นฐานการผลิตและการบริโภคสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและไอทียังขยายตัวต่อเนื่อง ในด้านของผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิตไม่ควรละเลยการลงทุนเพื่อการปรับปรุงนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและโอกาสในการขาย เนื่องจากเทรนด์ของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในอนาคต คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยี สินค้าที่มีความแตกต่างในด้านของการประหยัดพลังงาน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ เป็นต้น

ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับคำสั่งซื้อที่อาจปรับลดลงค่อนข้างรุนแรงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ซึ่งเมื่อประกอบกับภาวะสินเชื่อตึงตัว อาจทำให้ผู้ประกอบการขาดเงินทุนหมุนเวียนและประสบกับปัญหาสภาพคล่องได้ ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรต้องหมั่นตรวจสอบคือเรื่องกระแสเงินสด และสินค้าคงคลังซึ่งหากมีอยู่เป็นจำนวนมากเกินไปก็จะเป็นภาระต้นทุนของธุรกิจ ทั้งนี้ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจควรปรับการผลิตให้มีความยืดหยุ่นและลดต้นทุนในด้านต่างๆ อาทิ การลดการสูญเสียและให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงงานและทรัพยากรบุคคล และควรมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ทั้งในด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกีดกันการค้าจากมาตรการที่มิใช่ภาษีที่ประเทศต่างๆ อาจนำออกมาใช้มากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว สิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการ คือ การแสวงหาตลาดและผลิตภัณฑ์ในเซคเมนต์ที่ยังเติบโตได้ดี และปรับการผลิตให้เป็นไปตามนั้น

ในภาวะที่ธุรกิจในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกมีการแข่งขันสูง สำหรับบริษัทที่มีสภาพคล่องและมีเงินทุนในการขยายธุรกิจหรือมีการปรับโครงสร้างธุรกิจโดยการควบรวม ภาวะที่เศรษฐกิจซบเซาประกอบกับการที่เงินเยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสในการลงทุนในระยะยาวเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกิจการ โดยการย้ายหน่วยผลิตมายังประเทศที่มีแรงงานและต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ เนื่องจากนโยบายในการลงทุนของบริษัทข้ามชาติขึ้นอยู่กับบริษัทแม่ ประเด็นสำคัญในเชิงนโยบายที่จะมีผลต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย คือ การพยายามดึงดูดและรักษาการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ให้เข้ามาตั้งโรงงานในไทย ดังนั้น สำหรับภาครัฐ นอกจากจากสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีให้ เพื่อเป็นการกระตุ้นการลงทุนในระยะยาวและส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภาครัฐควรที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการเพิ่มเติมโดยการปรับปรุงการบริหารจัดการการขนส่งระหว่างประเทศ การจัดการด้านกฎระเบียบเกี่ยวกับภาษี เช่น การลดความซ้ำซ้อน การเร่งรัดการคืนภาษีและการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากการทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อย่างเต็มที่ รวมไปถึงอาจพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์หรือยกเว้นการจัดเก็บภาษีเป็นการชั่วคราวโดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการจ้างงานหรือการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการสนับสนุนการสร้างตลาดภายในประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทย นอกเหนือไปจากการให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เช่น การดูแลอัตราแลกเปลี่ยน การช่วยเหลือด้านสภาพคล่องสำหรับเอสเอ็มอี และการช่วยแสวงหาลู่ทางในตลาดส่งออกใหม่ๆ