อาร์เอสดิจิตอล มั่นใจธุรกิจดิจิตอลคอนเทนต์โตสวนกระแส พร้อมขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ “โซเชี่ยล มีเดีย”

อาร์เอสดิจิตอล มั่นใจธุรกิจดิจิตอลคอนเทนต์โตสวนกระแสเศรษฐกิจ ตั้งเป้าธุรกิจโต 40% ชูจุดแข็งอยู่ที่การเป็นผู้นำตลาดดิจิตอลคอมมูนิตี้ เผยไตรมาสที่ 3 ของปีนี้มีแผนรุกตลาดเอ็ดดูเทนเมนต์ (Edutainment) ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมด้านการศึกษารูปแบบใหม่ในยุคดิจิตอลแห่งแรกของเมืองไทย พร้อมขับเคลื่อนอาร์เอสด้วยกลยุทธ์ “โซเชี่ยล มีเดีย” (Social Media) ที่สมบูรณ์แบบ โดยอาศัย 4 ปัจจัยสำคัญ อันได้แก่ นวัตกรรม (Innovation) , อุปกรณ์สื่อสารแบบพกพา (Gadget) , ความเร็วในการรับส่งข้อมูล (Speed) และ กลุ่มเป้าหมาย (Target) เพื่อเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน

นายยรรยง อัครจินดานนท์ รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจดิจิตอลคอนเทนต์ในปีนี้มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แม้ในภาวะเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลง แต่แนวโน้มเทรนด์สื่อดิจิตอลเป็นสื่อที่มาแรงมากในปีนี้และคาดว่าจะเป็นสื่อที่มีการเติบโตสูง เนื่องจากเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงกลุ่ม โดยเฉพาะสื่ออินเตอร์เน็ตและมือถือจะเป็นดาวเด่นของปีนี้อย่างแน่นอน สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจดิจิตอลคอนเทนต์ ของอาร์เอสในปีนี้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ “ธุรกิจโมบายบิสสิเนส”(Mobile Business) และ “ธุรกิจออนไลน์บิสสิเนส” (Online Business) โดยสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 80:20 ซึ่งคาดว่าในปี 2552 นี้ธุรกิจดิจิตอลคอนเทนต์ของอาร์เอสจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 40% และจะสามารถสร้างรายได้ถึง 480 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% จากรายได้รวมทั้งหมดของอาร์เอส โดยมี 4 ปัจจัยสำคัญ อันได้แก่ นวัตกรรม (Innovation) , อุปกรณ์สื่อสารแบบพกพา (Gadget) , ความเร็วในการรับส่งข้อมูล (Speed) และ กลุ่มเป้าหมาย (Target) ซึ่งเป็นหัวใจหลักสำคัญของการดำเนินธุรกิจในปีนี้ กล่าวคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมความบันเทิงรูปแบบใหม่ๆให้รองรับกับอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพา รวมถึงการนำเสนอคอนเทนต์ที่มีไฟล์ขนาดใหญ่และมีคุณภาพดีออกให้บริการ เพื่อรองรับกับเทคโนโลยี 3G ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งจะทำให้การรับส่งข้อมูลรวดเร็วขึ้น สามารถดาวน์โหลดคอนเทนต์ต่างๆได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยจะทำให้การนำเสนอคอนเทนต์ตรงกลุ่มเป้าหมาย และสามารถทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีส่วนในการช่วยผลักดันให้ธุรกิจดิจิตอลคอนเทนต์ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

สำหรับภาพรวมของธุรกิจโมบายบิสสิเนสในปีนี้ คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดบริการเสริมของปีนี้จะขยายตัวมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว 10-15% โดยอาร์เอสจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ประมาณ 50% จากตลาดรวมดิจิตอลมิวสิกกว่า 1,500 ล้านบาทและตลาดรวมดิจิตอลดาวน์โหลดทั้งหมดกว่า 4,000-5,000 ล้านบาทในปีนี้ ดังจะเห็นได้จากผลประกอบการธุรกิจดิจิตอลคอนเทนต์ของอาร์เอสดิจิตอลในเดือนมกราคม ปี 2552 ที่มีอัตราการเติบโตกว่า 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วนรายได้ของธุรกิจโมบายบิสสิเนสในปีนี้มาจาก บริการเสียงรอสาย (Ring Back Tone) คิดเป็นสัดส่วน 80% , บริการโมบายดาวน์โหลด (Mobile Download) คิดเป็นสัดส่วน 20% ทั้งนี้ สัดส่วนของบริการโมบายดาวน์โหลด (Mobile Download) สามารถแบ่งออกได้เป็น บริการฟูลซองดาวน์โหลด(Full Song Download) คิดเป็นสัดส่วน 60% , บริการฟูลวีดีโอดาวน์โหลด(Full VDO Download) คิดเป็นสัดส่วน 20% , บริการเสียงเรียกเข้าแบบทรูโทน(True Tone) คิดเป็นสัดส่วน 15% และคอนเทนต์อื่นๆ อาทิ วอลเปเปอร์ , ธีม คิดเป็นสัดส่วน 5% เป็นต้น โดยในปีนี้ทางบริษัทฯมีแผนที่จะขยายฐานลูกค้าใหม่ๆเพื่อกระตุ้นยอดการใช้บริการให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ขับเคลื่อนอาร์เอสด้วยกลยุทธ์ “โซเชี่ยล มีเดีย” (Social Media)
นอกจากนี้ทางบริษัทฯมีแผนที่จะขับเคลื่อนธุรกิจด้วยกลยุทธ์ “โซเชี่ยล มีเดีย” (Social Media) มากยิ่งขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมียอดคนใช้อินเตอร์เน็ตสูงถึงประมาณ 15.4 ล้านราย และผลสำรวจระบุว่าผู้บริโภคที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี เป็นกลุ่มที่ใช้เวลาในแต่ละวันอยู่กับสื่อดิจิตอลมากสุดถึง 75% (ผลสำรวจของ Synovate) ซึ่งอาร์เอสมีจุดแข็งทางด้านการเป็นผู้นำตลาดวัยรุ่นและตลาดดิจิตอลคอมมูนิตี้ จึงเชื่อมั่นว่าธุรกิจออนไลน์บิสสิเนสของอาร์เอสจะเป็นเครื่องมือทางการตลาดชั้นดี อีกทั้งยังเป็นช่องทางให้กับสินค้าแบรนด์ต่างๆที่สนใจได้มีโอกาสเข้ามาทำการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ รวมถึงการจัดกิจกรรมตลาดออนไลน์ร่วมกัน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าต่างๆที่ต้องการเข้าถึงผู้บริโภคได้แบบตรงกลุ่มเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ โดยธุรกิจออนไลน์บิสสิเนสของอาร์เอสประกอบไปด้วย

-เว็บไซต์ชีซ่าดอทคอม (www.zheza.com) ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้บริษัทฯมีแผนที่จะเปิดตัว Zheza เวอร์ชั่น 2 พร้อมก้าวสู่การเป็น “ดิจิตอล เวิร์ล”(Digital World) ที่เน้นการตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นแบบ 360 องศา ด้วยการเชื่อมไลฟ์สไตล์+อินเตอร์เน็ต+มือถือเข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงการเป็น “ออนไลน์สโตร์” (Online Store) ที่สมบูรณ์แบบแห่งแรกในเมืองไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักยังคงเน้นที่กลุ่มเด็กวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี ปัจจุบันเว็บไซต์ชีซ่าดอทคอมมีสมาชิกกว่า 2,000,000 คน ภายในเวลา 2 ปี และมียอดคนเข้าเว็บไซต์กว่า 110,000 IP/วัน พร้อมตั้งเป้าสิ้นปีนี้จะมีสมาชิกในเว็บไซต์ 3,000,000 คน

-เว็บไซต์เพลงดอทคอม (www.pleng.com) จะทำให้เป็นช่องทางของคนรักเสียงเพลง และติดตามข้อมูลคอนเทนต์ความบันเทิง ภายใต้คอนเซ็ปต์ “มิวสิก อินสไปเรชั่น” (Music Inspiration) โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ค่อนข้างกว้างโดยมีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งจะประกอบด้วยคอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เพลง , มิวสิกวีดีโอ , เบื้องหลังต่างๆ , รายการทีวี , คอนเสิร์ต รวมถึงกิจกรรมโรดโชว์ต่างๆ อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งสื่อออนไลน์ที่เห็นความสำคัญในการนำคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมในอดีตของอาร์เอสมาให้บริการในคอนเซ็ปท์ “Rewind” ซึ่งประกอบด้วยคอนเทนต์ประเภท เพลง และ มิวสิกวีดีโอ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ศิลปินในสังกัดได้มีส่วนร่วมในการสร้างบล็อก(Blog)ส่วนตัว เพื่อใช้สื่อสารออนไลน์แบบอินเตอร์แอคทีฟกับแฟนเพลงผ่านเว็บไซต์เพลงดอทคอม ทั้งนี้ผู้ใช้งานยังสามารถนำคอนเทนต์ต่างๆจากเว็บไซด์เพลงดอทคอมไป Embed และสร้างเป็น Playlist ลงบล็อค(Blog)ส่วนตัวได้อีกด้วยได้ด้วย ปัจจุบันเว็บไซต์เพลงดอทคอมมีฐานสมาชิกกว่า 25,000 คน และมียอดคนเข้าเว็บไซต์กว่า 30,000 Visitor/วัน นอกจากนี้ยังมียอดการ Embed คอนเทนต์อยู่ที่กว่า 500,000 ครั้ง/วัน โดยตั้งเป้าสิ้นปีนี้จะมีสมาชิกในเว็บไซต์ 75,000 คน เตรียมรุกตลาด Edutainment ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

นอกจากนี้ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ทางบริษัทมีแผนที่จะรุกตลาดคอนเทนต์ประเภทข้อมูลสาระ และวิชาการในรูปแบบเอ็ดดูเทนเมนต์(Edutainment) อีกด้วย โดยจะเน้นคอนเซ็ปต์ความเป็น “ออนไลน์เอ็ดดูเทนเมนต์คอมมูนิตี้” (Online Edutainment Community) ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมช่องทางออนไลน์ด้านการศึกษารูปแบบใหม่แห่งแรกของเมืองไทย และถือเป็นการพัฒนาการศึกษาของไทยให้ควบคู่ไปกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยจะมุ่งสร้างเครือข่ายที่ครบวงจรและเป็นศูนย์กลางข้อมูลทั้งด้านวิชาการ และข้อมูลอื่นๆที่มีประโยชน์ต่อเยาวชนไทยในรูปแบบของการประยุกต์ใช้คอนเซ็ปต์ “วีดีโอแชริ่ง” (Video Sharing) ในการนำเสนอข้อมูลคอนเทนต์ต่างๆร่วมกันระหว่างกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และอาจารย์ผู้สอน หรือแม้แต่ในโรงเรียนกวดวิชาต่างๆ ซึ่งคอมมูนิตี้ดังกล่าวจะสามารถใช้เป็นสื่อกลางออนไลน์ที่ทรงประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องให้กับอาจารย์ผู้สอนและนักเรียนนักศึกษา ทั้งในช่วงเปิดและปิดภาคเรียน นอกจากนี้คอมมูนิตึ้ออนไลน์รูปแบบใหม่ดังกล่าวยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับบุคคลในกลุ่มอื่นๆที่สนใจศึกษาหาความรู้ หรือแม้กระทั่งการสืบค้นข้อมูลต่างๆเพิ่มเติมได้อีกด้วย

ข้อมูลเสริมเกี่ยวกับ Social Media
คือ เทคโนโลยีบนอินเทอร์เน็ตที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตใช้เพื่อแบ่งปันเรื่องราว, ความคิดเห็น, ข้อมูล และประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งกันและกัน ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้สามารถสื่อผ่านได้ในหลายๆรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ข้อความ, รูปภาพ หรือไฟล์วิดีโอ โดยผ่านทาง บล็อก, เว็บบอร์ดสนทนา, วิกิพีเดีย, RSS และเว็บไซต์ Social networking ต่างๆ เป็นต้น

หัวใจสำคัญของเว็บไซต์ Social Media นั้นก็คือการให้ความสามารถในการโต้ตอบกับผู้อื่นได้ เพื่อที่ก่อให้เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนออนไลน์ และผลลัพท์ที่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือจะทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆอยู่ตลอดเวลา เช่น การค้นหา, การแบ่งปัน หรือการแนะนำสินค้าและบริการ หรือแม้แต่ทำความรู้จักกับผู้คนใหม่ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เป็นต้น