จับตาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ … แรงกดดันต่อเงินเฟ้อและฐานะดุลการค้าไทย

การทะยานขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวมนับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงต้นเดือนมิถุนายน 2552 สร้างความกังขาให้กับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ว่า การปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านั้น เป็นไปในลักษณะที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งรองรับมากเพียงใด ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว น้ำมัน และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ก็ต้องเผชิญกับแรงเทขายในช่วงต่อมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แม้จะมีสัญญาณเชิงบวกเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังคงสะท้อนว่า เศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศทั่วโลก ไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาวะหดตัว และ/หรือการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพในปีนี้ไปได้ แต่อย่างไรตาม มีความเป็นไปได้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกที่อาจทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้จนถึงปีหน้า อาจกลายมาเป็นปัจจัยหนุนต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อีกครั้ง ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยดังนี้ :-

? สินค้าโภคภัณฑ์รับแรงหนุนจากปัจจัยรอบด้าน…ก่อนปรับฐานช่วงกลางเดือนมิถุนายน
การปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกนับตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2551 ได้เร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงเดือนมีนาคม-ต้นเดือนมิถุนายน 2552 ทั้งนี้ ดัชนีรอยเตอร์-เจฟเฟอรีส์ ซีอาร์บี (The Reuters/Jefferies CRB Index) ซึ่งอ้างอิงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 19 ชนิด ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยทะยานขึ้นกว่า 33.0% จากระดับปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเป็นช่วงต่ำสุดของวัฏจักรขาลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์รอบล่าสุด (เดือนก.ค.51-ก.พ.52) อย่างไรก็ตาม ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ต้องเผชิญกับแรงเทขายเพื่อปรับฐานในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายน 2552

? ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกได้เร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงเดือนมีนาคม-ต้นเดือนมิถุนายน 2552 อาทิ ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าระยะ 3 เดือนของทองแดงในตลาดโลหะลอนดอนแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน (5,388 ดอลลาร์ฯ/ตัน) และราคาน้ำมันดิบ NYMEX แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 เดือน (73.23 ดอลลาร์ฯ /บาร์เรล) ทั้งนี้ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวมได้รับแรงหนุนจากหลายปัจจัย ประกอบด้วย ความต้องการเสี่ยงของนักลงทุนที่ฟื้นตัวขึ้นพร้อมๆ กับความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงปลายปี การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ ตลอดจนการกระจายการลงทุนออกจากสินทรัพย์ในรูปเงินดอลลาร์ฯ

? อย่างไรก็ตาม ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ต้องเผชิญกับแรงเทขายในช่วงต่อมา หลังจากนักลงทุนประเมินว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของปัจจัยพื้นฐาน ขณะที่ ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่แพงขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ การดีดตัวขึ้นของดัชนีค่าเงินดอลลาร์ฯ จากระดับต่ำสุดของปีนี้ และข้อมูลเศรษฐกิจที่สะท้อนว่า นักลงทุนอาจมีความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อมากเกินไปในขณะนี้ ก็เป็นอีก 2 ปัจจัยที่กระตุ้นแรงเทขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ดัชนีรอยเตอร์-เจฟเฟอรีส์ ซีอาร์บี ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2552 ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 246.07 หรือปรับตัวลงมาแล้ว 7.6% จากระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ทำไว้ก่อนแรงเทขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จะเริ่มต้นขึ้น

? แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในครึ่งหลังของปี 2552
สำหรับแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แรงขายเพื่อปรับฐานของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาส 2/2552 อาจยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวมในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม หากประเมินภาพในระยะยาวจะพบว่า ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อาจกลับมาได้รับแรงหนุนอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า พื้นฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในช่วงจังหวะเวลาเดียวกันกับการก่อตัวขึ้นของแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจดังกล่าวอาจจูงใจให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุนในสัญญาล่วงหน้าของสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมักจะให้ผลตอบแทนที่ชนะเงินเฟ้อ แต่เนื่องจากแนวโน้มของเศรษฐกิจทั่วโลกที่จะยังคงขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ (แม้จะพลิกกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า ลักษณะของการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงเวลานั้นอาจไม่เป็นไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-ต้นมิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม 2 ปัจจัยหลักที่อาจต้องจับตาก็คือ ช่วงจังหวะเวลาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลักของโลก นำโดย สหรัฐฯ ที่ถูกประเมินว่า อาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2552 ซึ่งน่าที่จะทำให้ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจจะสดใสขึ้นในปี 2553 ตลอดจนการกลับมาเริ่มสะสมสต็อกสินค้าโภคภัณฑ์ของจีน (โดยเฉพาะสินแร่เหล็ก ทองแดง และถ่านหิน) หลังจากที่ตลาดได้ปรับฐานและทำให้ราคามีระดับลดต่ำลงแล้ว เพี่อรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนในระยะถัดไป นอกจากนี้ ประเด็นเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบ/ความผันผวนทางการเมืองของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ก็เป็นปัจจัยที่อาจกระทบความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันและตลาดโภคภัณฑ์โดยรวมได้เช่นกัน

? ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
แม้ว่าในขณะนี้ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน กำลังอยู่ในช่วงของการปรับฐาน หลังจากที่ได้ทะยานขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-ต้นมิถุนายน 2552 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความปั่นป่วนทางการเมืองและการก่อเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ก็อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยชะลอการปรับตัวลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ นอกจากนี้ หากประเมินภาพในระยะถัดไป จะเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงมากว่า ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอื่นๆ อาจกลับมาปรับตัวสูงขึ้นได้อีกครั้ง เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว พร้อมๆ กับแนวโน้มขาขึ้นของแรงกดดันเงินเฟ้อ และความความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งอาจจะมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้นของสหรัฐฯ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจถูกกดดันจากความกังวลต่อปัญหาการขาดดุลการคลังในระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ไปพร้อมๆ กัน

แม้ว่าอัตราการพึ่งพาน้ำมันของเศรษฐกิจไทยจะทยอยปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 3.7% ในปัจจุบัน จากระดับ 5.1% ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แต่เมื่อพิจารณาโดยเปรียบเทียบจะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีอัตราการพึ่งพาน้ำมันอยู่ในระดับที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย ซึ่งมากกว่าหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ดังนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า ความผันผวนของราคาน้ำมัน ที่มักจะนำไปสู่ความผันผวนของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวม อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันกับระดับราคาสินค้าผู้บริโภคและมูลค่าการนำเข้าโดยรวมของเศรษฐกิจประเทศแกนหลักของโลก และประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียในช่วงระหว่างปี 2538-2552 พบว่า ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างราคาน้ำมันกับระดับราคาสินค้าผู้บริโภคมีค่าเป็นบวกที่ค่อนข้างสูงในหลายๆ ประเทศ ซึ่งหมายความว่า ราคาน้ำมันและระดับราคาสินค้าผู้บริโภคมักจะปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน ยกเว้นประเทศ ญี่ปุ่น ซึ่งราคาน้ำมันกับระดับราคาสินค้าผู้บริโภคแทบจะไม่มีความสัมพันธ์กันเลย ในขณะที่ ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันกับมูลค่าการนำเข้าโดยรวม ก็ให้ผลการศึกษาในลักษณะที่สอดคล้องกันคือ ราคาน้ำมันและมูลค่าการนำเข้าโดยรวม มักจะแปรผันตามกันในทุกๆ ประเทศ ซึ่งนั่นก็อาจมีสาเหตุมาจากการที่ประเทศเหล่านั้นล้วนมีฐานะเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธินั่นเอง

และหากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันและระดับราคาสินค้าควบคู่กันกับความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันและมูลค่าการนำเข้าโดยรวมจะพบว่า ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของระดับราคาสินค้าและมูลค่าการนำเข้าเทียบกับราคาน้ำมันในกรณีของไทยนั้น มีระดับที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งนั่นก็เป็นนัยว่า ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระดับราคาและฐานะดุลการค้าอาจกลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้นหากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในระยะถัดไป และถ้าในช่วงเวลานั้น เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงแรกเริ่มของการฟื้นตัว การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดังกล่าว ก็อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้กระบวนการปรับตัวเข้าสู่ระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยต้องกินเวลายาวนานมากขึ้นไปอีก ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงมีแนวโน้มขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพอย่างต่อเนื่องในปี 2553 หลังจากที่อาจหดตัวในกรอบประมาณ 3.5-6.0% ในปีนี้ ตามประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังได้ทำการศึกษาผลกระทบจากความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวม (โดยใช้ดัชนีรอยเตอร์-เจฟเฟอรีส์ ซีอาร์บี) ที่มีต่อฐานะดุลการค้าของไทย ซึ่งผลการศึกษาพบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อทั้งทางด้านการส่งออกและการนำเข้าของไทย โดยผลต่อการส่งออก พบว่า หากดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์เปลี่ยนแปลงไป 1% จะส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.23% และสำหรับผลต่อการนำเข้า พบว่า หากดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์เปลี่ยนแปลงไป 1% จะส่งผลทำให้มูลค่าการนำเข้าปรับตัวขึ้นประมาณ 0.34% ดังนั้น การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวม จึงน่าที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ฐานะดุลการค้าของไทยมีแนวโน้มอ่อนแอลง

โดยสรุป การปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกนับตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2551 ได้เร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงเดือนมีนาคม-ต้นเดือนมิถุนายน 2552 โดยดัชนีรอยเตอร์-เจฟเฟอรีส์ ซีอาร์บี ซึ่งอ้างอิงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 19 ชนิด ได้ทะยานขึ้นกว่า 33.0% จากระดับปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเป็นช่วงต่ำสุดของวัฏจักรขาลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์รอบล่าสุด ทั้งนี้ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวมได้รับแรงหนุนจากหลายปัจจัย ประกอบด้วย ความต้องการเสี่ยงของนักลงทุนที่ฟื้นตัวขึ้นพร้อมๆ กับความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงปลายปี การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ ตลอดจนการกระจายการลงทุนออกจากสินทรัพย์ในรูปเงินดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ตาม ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ต้องเผชิญกับแรงเทขายในช่วงต่อมา หลังจากนักลงทุนประเมินว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของปัจจัยพื้นฐาน ขณะที่ ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่แพงขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แรงขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาส 2/2552 อาจยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวมในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม หากประเมินภาพในระยะยาวจะพบว่า ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อาจกลับมาได้รับแรงหนุนอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า พื้นฐานที่แข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอาจเกิดขึ้นในช่วงจังหวะเวลาเดียวกันกับการก่อตัวขึ้นของแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจดังกล่าวอาจจูงใจให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุนในสัญญาล่วงหน้าของสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมักจะให้ผลตอบแทนที่ชนะเงินเฟ้อ แต่เนื่องจากแนวโน้มของเศรษฐกิจทั่วโลกที่จะยังคงขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ลักษณะของการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงเวลานั้น อาจไม่เป็นไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-ต้นมิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีอัตราการพึ่งพาน้ำมันสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย (อัตราการพึ่งพาน้ำมันของไทยอยู่ที่ระดับ 3.7% ในปัจจุบัน) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ความผันผวนของราคาน้ำมัน (ซึ่งมักจะนำไปสู่ความผันผวนของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวม) ที่อาจเกิดขึ้นในระยะถัดไปตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนั้น อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยหากพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันและระดับราคาสินค้าควบคู่กันกับความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันและมูลค่าการนำเข้าโดยรวมจะพบว่า ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของระดับราคาสินค้าและมูลค่าการนำเข้าเทียบกับราคาน้ำมันในกรณีของไทยนั้น มีระดับที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ (ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันและระดับราคาสินค้ามีค่าประมาณ 0.84 ขณะที่ ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันและมูลค่าการนำเข้าโดยรวมมีค่าสูงถึง 0.95) ซึ่งนั่นก็เป็นนัยว่า ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระดับราคาและฐานะดุลการค้า อาจกลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้นหากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในระยะถัดไป นอกจากนี้ ผลการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังพบว่า ความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวมนั้น มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อทั้งทางด้านการส่งออกและการนำเข้าของไทย โดยหากดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์เปลี่ยนแปลงไป 1% จะส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.23% พร้อมๆ กับทำให้มูลค่าการนำเข้าปรับตัวขึ้นประมาณ 0.34% ดังนั้น ฐานะดุลการค้าของไทยอาจมีแนวโน้มอ่อนแอลงหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น

และสำหรับทางการไทยในช่วงเวลานั้น ก็คงจะต้องเตรียมมาตรการประคับประคองเศรษฐกิจที่อาจได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มในช่วงขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อซึ่งน่าที่จะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 และต่อเนื่องไปตลอดปี 2553 ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็อาจต้องเตรียมเผชิญกับโจทย์ที่ซับซ้อนในการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงเวลานั้น ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่อาจเริ่มฟื้นตัวขึ้น พร้อมๆ ไปกับการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อซึ่งอาจทำให้ต้นทุนของการระดมทุนเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ โจทย์ในการดูแลค่าเงินบาท ก็อาจจะเผชิญกับความผันผวนได้ หากฐานะดุลการค้าของไทยกลับมาอ่อนแอลงตามการฟื้นตัวของการนำเข้าและราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2552 ต่อเนื่องไปยังปี 2553